ดักลิงแสมมาทำหมัน สุดตื่นเต้น ติดลิงวอกภูเขา 2 ตัว งง มาได้ไง ใกล้สูญพันธุ์เต็มที

ดักลิงแสมมาทำหมัน สุดตื่นเต้น ติดลิงวอกภูเขา 2 ตัว งง มาได้ไง ใกล้สูญพันธุ์เต็มที

เมื่อวันที่ 3 เมษายน นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก นายจรัส คำแพง หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน ว่า เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 1 เมษายน 2564 เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน และเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด สังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในขณะที่ออกปฏิบัติการจับลิงที่บริเวณเขาปลาร้า ในพื้นที่ของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน ท้องที่อำเภอลานสัก และอำเภอหนองฉางจังหวัดอุทัยธานี เพื่อนำมาทำหมัน ตามแผนงานที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กำหนดให้มาดำเนินการในปีงบประมาณ 2564 จำนวน 100 ตัว เพื่อควบคุมประชากรลิงให้มีอัตราเพิ่มของประชากรลดน้อยลงนั้น

จากการวางกรงดักจับลิงพบว่ามีลิงชนิดอื่น คือ ลิงไอ้เงียะ ติดอยู่ในกรงด้วย จำนวน 2 ตัว ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ทราบกันทั่วไปว่า ในถิ่นนี้มีเพียงลิงแสมอาศัยอยู่ประมาณ 1,000 ตัว ไม่มีลิงอื่นอยู่ปนในพื้นที่

ลิงไอ้เงียะ, ลิงอัสสัม หรือลิงวอกภูเขา (Assamese macaque) มีชื่อวิทยาศาสตร์: Macaca assamensis) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่อยู่ในอันดับวานร (ไพรเมต)

Advertisement

ทั้งนี้โดยปกติจะพบลิงไอ้เงียะได้เฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ จนถึงด้านตะวันตกของประเทศไทย โดยพบมากสุดที่จังหวัดลำปาง

การพบลิงไอ้เงียะ ในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน จังหวัดอุทัยธานี ในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่สำรวจพบ ทั้งที่จังหวัดอุทัยธานีอยู่ห่างจากจังหวัดลำปางมากถึงกว่า 400 กิโลเมตร โดยพบว่ามีลิงไอ้เงียะ
อาศัยอยู่ในถิ่นนี้ประมาณ 10-15 ตัว

ลิงไอ้เงียะมีสถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง รวมทั้งเป็นสัตว์คุ้มครองตามบัญชีหมายเลข 2 ของไซเตส ด้วยทั้งนี้ นายสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 ได้เก็บตัวอย่างเลือดของลิงไอ้เงียะที่จับได้ทั้ง 2 ตัวนี้ เพื่อนนำไปตรวจพิสูจน์โรคและพิสูจน์ดีเอ็นเอ

การพบลิงไอ้เงียะในครั้งนี้ สื่อให้เห็นสภาพป่า สภาพพื้นที่ของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน จังหวัดอุทัยธานี เป็นพื้นที่มีเอกลักษณ์พิเศษ เฉพาะ เหมาะสมที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหายาก ใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด สมควรยิ่งที่จะต้องปกป้องคุ้มครองพื้นที่ไว้ ให้คงความเป็นเอกลักษณ์พิเศษ อยู่คู่กับประเทศชาติของเราอย่างถาวรสืบไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image