เปิดวัดโพธิ์จัดสงกรานต์ รับนักท่องเที่ยวชมมรดกโลกž

เปิดวัดโพธิ์žจัดสงกรานต์ รับนักท่องเที่ยวชมมรดกโลกž

 

วัดโพธิ์ หรือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ท่าเตียน  ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกจนติดอันดับโลก มีนักท่องเที่ยวมาเยือนในแต่ปี นับสิบล้านคน ได้ฤกษ์เปิดวัดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง

โดยถือเอา วันปีใหม่ไทย หรือ วันสงกรานต์ ปี 2564 เป็นวันปฐมฤกษ์ในการเปิดวัดอีกครั้ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2564 เป็นต้นไป

Advertisement

หลังจากที่ ก่อนหน้านี้ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ ได้จัดงานฉลองนวดไทย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติไปเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว

มาวันนี้ วัดโพธิ์ พร้อมเปิดวัดต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง หลังจากที่ต้องปิดวัดและใช้มาตรการคุมเข้มในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

Advertisement

พระเทพวชิรโมลี (ทองใบ) รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ เปิดเผยว่า สถานการณ์ณ ตอนนี้ ประเทศไทยถือว่าสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดีและมีประสิทธิภาพยิ่ง วัดโพธิ์ จึงประกาศให้มีการเปิดวัดอย่างเป็นทางการ โดยถือเอาประเพณีสงกรานต์ หรือ วันปีใหม่ไทย เป็นวันปฐมฤกษ์ในการเปิดวัดโพธิ์ เพื่อรับท่องเที่ยวให้กลับมาชมความงามของวัดโพธิ์อีกครั้ง

ด้าน พระราชรัตนสุนทร (วินัย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการต้อนรับนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือ ปีใหม่ไทย ทางวัดจึงได้กำหนดจัดงาน นักขัตฤกษ์นมัสการพระพุทธไสยาสน์ หรือเรียกกันว่า พระนอนวัดโพธิ์ พระพุทธรูปปางโปรดอสุรินทราหู ที่มีขนาดยาวเป็นอันดับสามของประเทศไทย หรือ งานสงกรานต์วัดพระเชตุพนฯ ประจำปี 2564 โดยทางวัดกำหนดจัดงานเป็นระยะเวลา 5 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน ไปจนถึงวันที่ 15 เมษายน โดยครั้งนี้ทางวัดได้รับเกียรติจากนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเดินทางมาเป็นประธานเปิดงานในวันที่ 10 เมษายน 2564

พระราชปริยัติมุนี (เทียบ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ กล่าวว่า งานสงกรานต์วัดโพธิ์ครั้งนี้ นับว่ามีความพิเศษมากจริงๆ เพราะทางวัดจะจัดงานต่างจากทุกปีที่ผ่านมา มีการปรับรูปแบบของงาน เป็นการจำลองบรรยากาศแบบไทยๆ ดั่งเดิมเน้นความสวยงามที่แสดงให้เห็นเอกลักษณ์ความเป็นไทย เพื่อร่วมรำลึกประเพณีสงกรานต์แบบโบราณ มีกิจกรรมไหว้พระทำบุญ เสริมสิริมงคลแก่ชีวิตเป็นหลัก จัดและตกแต่งสถานที่อย่างประณีตบรรจง เปิดโอกาสให้ประชาชนที่มาเที่ยวชมได้สรงน้ำพระ ไหว้พระประจำวันเกิด ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ทำบุญประจำราศีเกิด มีการจำลองประเพณีก่อพระเจดีย์ทราย ซึ่งตรงนี้จะมีความน่าสนใจมาก คนที่มาชมงานก็สามารถร่วมก่อพระเจดีย์ทรายในบริเวณที่ว่างหน้าองค์พระเจดีย์ของรัชกาลต่างๆ ที่อยู่กลางวัดโพธิ์ โดยจะมีการแยกทรายใส่ถังเป็นร้อยๆ ถังรอเอาไว้เลย แล้วก็ให้พี่น้องประชาชนทำบุญตามแต่ศรัทธา หิ้วถังทรายและธงกระดาษเล็กๆ ไปก่อบนพื้นหน้าองค์พระเจดีย์โดยจะมีกรวยสังกะสีแถมให้หิ้วคู่ไปด้วย วิธีการ คือ เททรายจากถังมาอัดให้แน่นในกรวย พอคว่ำกรวยก็เป็นองค์พระเจดีย์น้อยๆ หนึ่งองค์ และเมื่อปักธง ปักธูปเทียนเสร็จก็เป็นเจดีย์ทรายที่สมบูรณ์แบบถือเป็นการรักษาประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายเอาไว้

พระราชปริยัติมุนี (เทียบ)

ประเพณีการก่อเจดีย์ทรายในเทศกาลสงกรานต์นั้น เป็นสิ่งที่ชาวไทยพุทธปฏิบัติสืบเนื่องกันมาเป็นเวลาช้านานตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยการก่อพระเจดีย์ทรายถือเป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนาโดยตรง ด้วยเหตุที่ว่าเมื่อเราเข้าวัดทำบุญหรือประกอบกิจกรรมต่างๆ ภายในวัด เมื่อเดินออกมาจากวัดเศษดินเศษหินต่างๆ จะติดรองเท้าเราออกมาด้วย ซึ่งตามความเชื่อของชาวพุทธจะถือว่าสิ่งก่อสร้างทุกอย่างภายในวัดไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ ศาลาการเปรียญ อาคารต่างๆ แม้กระทั่งก้อนหิน ดิน ทราย ต้นไม้ ทุกอย่างญาติโยมได้ถวายไว้เป็นสมบัติของพระศาสนาแล้ว

ดังนั้น เมื่อเราเอาสิ่งใดออกไปจากวัดโดยพลการคือไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าอาวาสแล้ว ถือเป็นการละเมิดศีลข้อที่ 2 (ห้ามลักทรัพย์) ทั้งสิ้น คนโบราณจึงหาวิธีการแก้ปัญหานี้ด้วยการให้มีประเพณีการขนทรายเข้าวัดเพื่อเป็นการใช้หนี้คืนสงฆ์ และก่อพระเจดีย์ทรายเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในการก่อพระเจดีย์ทรายจะถูกประดับตกแต่งด้วยดอกไม้และธงสีต่างๆ เพื่อความสวยงามตามแต่ละคนจะสร้างสรรค์Ž




“ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถาตอนอรรถกถาเถรคาถา ได้กล่าวถึงอานิสงส์ของการก่อเจดีย์ทรายไว้ว่าในกาลสมัยของโลกที่ว่างจากพระพุทธเจ้า พระวสภเถระได้เกิดในตระกูลพราหมณ์เมื่อเจริญวัยขึ้นเป็นผู้มีอัธยาศัยไปในเนกขัมมะ ละการครองเรือนออกบวชเป็นดาบสแล้วไปสร้างอาศรมอยู่บนภูเขาชื่อว่าสมัคคะไม่ไกลป่าหิมพานต์ วันหนึ่งคิดว่าตนเป็นผู้หาคนบูชาไม่ได้ เป็นผู้มีความทุกข์ในโลก คิดได้อย่างนี้แล้วก็เนรมิตพระสถูปทราย กระทำการบูชาทุกวันตลอดอายุตายแล้วไปเกิดในพรหมโลก ต่อมาจุติจากพรหมโลกไปบังเกิดในดาวดึงส์ ท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายภพ สุดท้ายได้ไปเกิดในตระกูลลิจฉวี กรุงเวสาลีในพุทธุปบาทกาลนี้ นามว่า วสภะเป็นผู้มีจิตศรัทธาบวชแล้ว ไม่นานนักก็ได้บรรลุอรหัตผลŽ” พระราชปริยัติมุนี (เทียบ) ระบุ

นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตและสอนการจัดดอกไม้ถวายพระ สาธิตการทำขนมไทยตำรับชาววัง การออกร้าน และในช่วง 5 โมงเย็นของทุกวัน พระภิกษุในวัดจะลงมาเพื่อให้ญาติโยมได้สรงน้ำอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image