รมว.สุชาติชงยืดเวลาตรวจโควิด-19 เก็บอัตลักษณ์แรงงานต่างด้าวถึง 16 มิ.ย.64

รมว.สุชาติชงยืดเวลาตรวจโควิด-19 เก็บอัตลักษณ์แรงงานต่างด้าวถึง 16 มิ.ย.64

เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่ 3/2564 มีมติเห็นชอบขยายเวลาตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 และจัดเก็บอัตลักษณ์ข้อมูลบุคคล (Biometrics) ของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) จากวันที่ 16 เมษายน 2564 ออกไปเป็น วันที่ 16 มิถุนายน 2564

ทั้งนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ คบต. ได้รับทราบข้อห่วงกังวลของนายจ้าง ผู้ประกอบการ ว่าแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ประกอบกับ มติ ครม.เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 บางส่วนอาจไม่สามารถดำเนินการตรวจหาโรคโควิด-19 และจัดเก็บอัตลักษณ์ข้อมูลบุคคล ได้ทันกำหนดภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 แม้ว่าสถานพยาบาลของรัฐและสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จะมีความพร้อมในการให้บริการได้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลา ซึ่งจะส่งผลให้แรงงานต่างด้าวดังกล่าวไม่สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

“กระทรวงแรงงาน ได้กำหนดจัดประชุม คบต. เพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขข้อขัดข้องการตรวจหาโรคโควิด-19 และการจัดเก็บอัตลักษณ์ข้อมูลบุคคลของแรงงานต่างด้าวกลุ่มดังกล่าว ร่วมกับคณะกรรมการ ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยที่ประชุมได้ประเมินสถานการณ์แรงงานต่างด้าว และมีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และการจัดเก็บอัตลักษณ์ข้อมูลบุคคลของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) ไปจนถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2564 ซึ่งกระทรวงแรงงานจะนำเสนอแนวทางการแก้ไขข้อขัดข้องต่อ ครม.ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 7 เมษายนนี้ เพื่อหน่วยงานต่างๆจะได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป” นายสุชาติ กล่าว

นายสุชาติ กล่าวว่า เบื้องต้นจะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานผู้รับผิดชอบในพื้นที่ มีจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศทำหน้าที่เป็นคนกลางประสานโรงพยาบาลเอกชนในการตรวจโควิด-19 เชิงรุก ณ สถานที่ทำงานของคนต่างด้าว และสาธารณสุขจังหวัดรับรองผลการตรวจโควิด-19 และทำประกันสุขภาพ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มนำร่องวิธีดังกล่าวใน จ.ชลบุรี ที่ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ

Advertisement

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน    (กกจ.) กล่าวว่า กกจ.ได้เปิดให้นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าวแจ้งบัญชีรายชื่อ หรือข้อมูลบุคคลผ่านระบบออนไลน์ สำหรับคนต่างด้าว 3 สัญชาติ ตามมติข้างต้น ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2564 ถึง วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 ผลการดำเนินการล่าสุด มีการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลแล้ว 422,305 คน ผ่านการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แล้ว 68,575 คน ได้รับอนุญาตทำงาน (อนุมัติ บต.48) แล้ว 68,548 คน และทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรชมพู/ใบอนุญาตทำงาน) 24,610 คน จากการแจ้งข้อมูลบุคคลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของคนต่างด้าว ทั้งที่มีนายจ้าง และไม่มีนายจ้าง 654,864 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 1 เมษายน 2564) ซึ่งหาก ครม.มีมติเห็นชอบ ให้ขยายเวลาออกไปอีก 2 เดือน ตามที่ที่ประชุม คบต.ได้เสนอไป คาดว่านายจ้าง/สถานประกอบการจะสามารถดำเนินการตามขั้นตอนได้ทัน โดยไม่ติดปัญหา

“อย่างไรก็ดี ขอย้ำให้คนต่างด้าวทั้งที่มีนายจ้าง และยังไม่มีนายจ้าง เร่งนัดหมายเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด–19 และซื้อประกันสุขภาพกับสถานพยาบาลของรัฐ พร้อมทั้งดำเนินการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล กับ ตม.ให้เสร็จสิ้นตามกำหนด อย่ารอดำเนินการช่วงใกล้สิ้นสุดระยะเวลา โดยสามารถสอบถามขั้นตอนขอรับใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694 ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ” นายไพโรจน์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image