ชง ศบค.คุมกรุงเทพฯ ปทุมฯ นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม นั่งร้านถึง 3 ทุ่ม-งดดื่ม

สธ.จ่อชง ศบค.คุมกรุงเทพฯ ปทุมฯ นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม นั่งร้านถึง 3 ทุ่ม-งดดื่ม

เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (EOC) กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า วันนี้ประเทศไทยมีการระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มที่เหมือนจะสูงขึ้นกว่าที่ผ่านมาพอสมควร ใน 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1.กลุ่มผู้ต้องขังเรือนจำจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีประสบการณ์ควบคุมโรคผู้ต้องการในสถานกักกันคนเข้าเมืองบางเขน และมีการทดสอบระบบบับเบิ้ลแอนด์ซีลอยู่หลายครั้ง จึงเชื่อว่าเราจะควบคุมสถานการณ์ตรงนั้นได้เป็นอย่างดี 2.การระบาดในสถานบันเทิง ที่ผู้ติดเชื้อเดินทางไปหลายจังหวัด ฉะนั้นมาตรการในเรื่องนี้จะต้องมีความเข้มข้นมากขึ้น

นพ.โอภาส กล่าวว่า ประกอบกับ ช่วงนี้ใกล้เทศกาลสงกรานต์ ที่ประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เมื่อช่วงเช้าได้ออกมติ ดังนี้

1.มอบกรมควบคุมโรคปรับปรุงการกำหนดพื้นที่พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด และพื้นที่เฝ้าระวัง ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

2.ในช่วงเทศกาลที่จะมีประชาชนจากกรุงเทพมหานคร และรอบๆ เดินทางกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัดจำนวนมาก ขอให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในจังหวัดปลายทาง ติดตามพื้นผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง สอบถามประวัติการไปเที่ยวในสถานบันเทิง เพื่อแนะนำการตรวจหาเชื้อ รวมถึงมาตรการอื่นที่จำเป็น

Advertisement

“เน้นย้ำว่า ไม่มีการห้ามการเดินทาง แต่ให้เน้นย้ำการทำความเข้าใจ และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ขอให้ฟังประกาศจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ที่อาจจะออกประกาศเพิ่มเติมในแต่ละจังหวัด” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า 3.ให้กรมควบคุมโรค ดำเนินการแผนเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงเน้นในสถานบันเทิง ผับบาร์ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล คัดกรองหาผู้ติดเชื้อในสถานบันเทิงให้ครบถ้วน จากการประสานเบื้องต้น พบว่าใน กทม.มีสถานบันเทิงมากกว่า 1 พันแห่ง ซึ่งต้องจัดระบบเฝ้าระวังให้สม่ำเสมอ

Advertisement

4.ให้ทุกจังหวัดตั้งรับเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางจากพื้นที่เสี่ยง ให้ อสม.เคาะประตูบ้าน ซึ่งเป็นมาตรการที่เราใช้ได้ผลในการควบคุมการระบาดจากครั้งที่แล้ว

5.ให้โรงพยาบาลทุกแห่ง ตรวจหาเชื้อผู้ที่ต้องสงสัยทันที โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเสี่ยงไปสถานบันเทิง

6.สั่งการให้สถาบันบําราศนราดูร และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) เปิดบริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้ประชาชนทุกวันไม่เว้นวันหยุด

และ 7.ให้ทุกจังหวัดพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อการควบคุมโรคตามคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร

“ในที่ประชุม EOC เมื่อช่วงบ่ายของวันนี้ ได้นำมติของคณะกรรมการด้านวิชาการที่ประชุมในช่วงเช้าของวันนี้ มาพิจารณาและมีมติของ สธ. ซึ่งจะนำเสนอต่อ ศบค.ชุดเล็ก ในวันที่ 7 เมษายนนี้ ดังนี้ 1.การกำหนดเขตพื้นที่ ปรับสีพื้นที่ต่างๆ อิงจากสถานการณ์ของแต่ละจังหวัด และปรับมาตรการในแต่ละสีพื้นที่สี ดังนี้

1.พื้นที่สีแดง จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 5 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และ นครปฐม ให้ร้านอาหารเปิดได้ถึงเวลา 21.00 น. งดดื่ม-จำหน่ายสุรา สถานบันเทิงผับบาร์ เปิดไม่เกินเวลา 21.00 น. เช่นกัน แต่อนุญาตเพียงการรับประทานอาหาร ห้ามดื่มสุรา เนื่องจากพบว่า ความเสี่ยงอยู่ที่สถานบันเทิงและการดื่มสุรา จึงต้องมีมาตรการเข้มงวดสูงสุด ศูนย์การค้าห้างสรรพสินค้า เปิดบริการได้ตามปกติแต่ต้องจำกัดจำนวนคนเข้า สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง การสแกนวัดอุณหภูมิ สถานศึกษาให้เปิดได้แบบปกติหรือผสมผสาน และ สถานที่ออกกำลังกาย สามารถเปิดได้แข่งขันได้แต่ต้องจำกัดผู้เข้าชม

2.พื้นที่สีส้ม จังหวัดควบคุม 9 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ชุมพร ตาก ราชบุรี ชลบุรี สุพรรณบุรี นราธิวาส และ กาญจนบุรี ให้ร้านอาหารเปิดได้ถึงเวลา 23.00 น. รับประทานอาหาร ดื่มสุราในร้านได้ สถานบันเทิงผับบาร์ เปิดไม่เกินเวลา 23.00 น. ดื่มสุรา แสดงดนตรีสดในร้านได้ แต่งดเต้นรำ งดกิจกรรมที่มีการเบียดเสียด

3.พื้นที่สีเหลือง จังหวัดเฝ้าระวังสูงสุด 10 จังหวัด ประกอบด้วย พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี ระนอง ระยอง สงขลา ยะลา และ ขอนแก่น ให้ร้านอาหารเปิดได้ไม่เกินเวลา 24.00 น. ทานอาหารในร้าน ดื่มสุราในร้านได้ สถานบันเทิงเปิดได้ไม่เกินเวลา 24.00 น. ดื่มสุรา แสดงดนตรีสดในร้านได้ แต่งดการเต้นรำ ส่วนกิจกรรมอื่นดำเนินการได้

4.พื้นที่สีเขียว จังหวัดเฝ้าระวัง ในอีก 53 จังหวัด ที่เหลือ ให้ร้านอาหารเปิดได้ตามปกติ และสถานบันเทิงก็สามารถเปิดได้ตามกฎหมายควบคุม ส่วนกิจกรรมอื่นดำเนินการได้ตามปกติ

นพ.โอภาส กล่าวว่า จะเห็นว่ามาตรการที่กำหนดขึ้นจะเน้นตามสถานการณ์โรคตามพื้นที่ คือ พื้นที่สีแดง ที่มีการควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเบื้องต้นจะให้มาตรการนี้คงอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ จากนั้นจะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้ง และว่า หากผ่านมติของ ศบค.ชุดเล็ก ก็สามารถสั่งการมาตรการได้ทันที ไม่ต้องรอเข้าที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่

“แม้จะมีการบังคับอย่างไร แต่ความร่วมมือของประชาชนจะสำคัญมาก บางท่านบอกว่าห้ามดื่มในร้านแต่อาจจะมีการปาร์ตี้ในบ้าน ก็จะส่งผลให้การควบคุมโรคยากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นความร่วมมือของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพราะการระบาดของโรคจะมีปัจจัยสำคัญคือ พื้นที่เสี่ยงและพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งการมีปฏิสัมพันธ์พบปะพูดคุยกับคนอื่นโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย เช่น การดื่มสุรา การรับประทานอาหาร ก็จะเป็นพฤติกรรมเสี่ยง จึงขอความร่วมมือประชาชนอย่าพาตัวเองไปในจุดเสี่ยง ให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยง โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์เช่นนี้ อาจจะไม่สนุกเหมือนที่ผ่านๆ มา แต่อย่างน้อยปีนี้เรายังมีเทศกาลสงกรานต์รดน้ำพระ ขอพรผู้ใหญ่ได้แต่ขอให้เว้นระยะห่าง ส่วนกิจกรรมที่สนุกสนาน เช่น การสาดน้ำ ในปีนี้ขออนุญาตงดไว้ก่อน ถ้าหากสถานการณ์ดีขึ้นเราจะได้ดำเนินการใช้ชีวิตปกติต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image