แพทย์ชี้ฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรกแล้วก็เสี่ยงได้ แนะรับเข็ม 2 กระตุ้นภูมิ ถ้าป่วยอาการไม่รุนแรง

แพทย์ชี้ฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรกแล้วก็เสี่ยงได้ แนะรับเข็ม 2 กระตุ้นภูมิ ถ้าป่วยอาการไม่รุนแรง

เมื่อวันที่ 6 เมษายน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงมาตรการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ให้กับประชากรในพื้นที่ระบาด ว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นเพียงมาตรการเสริมที่ช่วยสร้างเกราะป้องกันให้กับคนในพื้นที่ระบาด

“แต่เพื่อการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพสูงสุด จะต้องใช้มาตรการป้องกันโรคอื่นๆ อย่างที่เราเคยปฏิบัติมาควบคู่ไปด้วย เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล การล้างมือ การจัดสถานที่นั้นๆเพื่อลดความแออัด” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า การนำวัคซีนโควิด-19 ไปฉีดให้กับผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง หรือพื้นที่ที่มีการระบาด จะได้ผลดีที่สุดกับผู้ที่ไม่เคยมีประวัติการติดเชื้อเลย โดยหลังจากที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว จะใช้เวลาในการสร้างภูมิคุ้มกันในระดับที่สามารถป้องกันการรับเชื้อได้ ประมาณ 14 วัน แต่ยังไม่ใช่ระดับภูมิคุ้มกันที่สูงที่สุด เนื่องจากจะต้องมีการฉีดวัคซีนในเข็มที่ 2 ต่อไป

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยอยู่ในระหว่างการเก็บข้อมูลผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส แล้ว 14 วัน เป็นการสุ่มตรวจเพื่อหาระดับภูมิคุ้มกันของบุคคล อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่า เมื่อได้รับวัคซีนแล้วแต่ละคนจะมีระดับภูมิคุ้มกันป้องกันโรคได้มากน้อยแค่ไหน แต่ในทางทฤษฎีการรับวัคซีนครบ 2 เข็ม จะมีการสร้างภูมิคุ้มกันใน 3 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ 1 ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แล้วภูมิคุ้มกันขึ้นระดับหนึ่ง เมื่อได้รับเข็มที่ 2 ก็จะทำให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ถึงในระดับที่สามารถป้องกันโรคได้ดีที่สุด ซึ่งเราเน้นย้ำเสมอว่ายังไม่มีวัคซีนใดที่สามารถป้องกันโรคได้ 100%

Advertisement

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า รูปแบบที่ 2 ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม และมีภูมิคุ้มกันขึ้นในระดับที่สามารถป้องกันโรคได้ และภูมิคุ้มกันนั้นอยู่ต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง อาจจะ 3 หรือ 5 เดือน หรืออาจต้องฉีดวัคซีนซ้ำในทุกๆ ปี และรูปแบบที่ 3 ที่เราอยากให้เกิดขึ้นมากที่สุดคือ เมื่อได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว สามารถมีระดับภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุด และภูมิคุ้มกันนั้นอยู่ได้เป็นระยะเวลานานอาจจะตลอดชีวิตหรือหลายปี

จึงต้องขอเน้นย้ำว่า การที่มีผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว ไม่ได้แปลว่าโรคจะหายไปในทันที ทุกคนในประเทศยังต้องป้องกันตัวเองจากการได้รับเชื้ออยู่ ซึ่งจะเห็นได้จากหลายประเทศในยุโรป ที่ได้รับวัคซีนจำนวนมากแล้ว แต่ก็ยังมีการติดเชื้อสูงขึ้น เนื่องจากคนในประเทศมีการป้องกันที่น้อยลง จนทำให้ต้องมีการล็อกดาวน์อีกครั้ง เราจึงต้องเน้นย้ำเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย การลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อไม่ให้มีการติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอีก” นพ.ศุภกิจ กล่าว

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image