วัคซีนโควิดแอสตร้าฯ คืบ หมอนคร ยัน 63 ล้านโดส ปรับแผนรับเชื้อกลายพันธุ์ได้

วัคซีนโควิดแอสตร้าฯ คืบ หมอนคร ยัน 63 ล้านโดส ปรับแผนรับเชื้อกลายพันธุ์ได้

เมื่อวันที่ 8 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงถึงความคืบหน้าการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของประเทศไทย ว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในประเทศไทย โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ในแต่ละรอบการผลิตได้ผลเป็นอย่างดี การผลิตครั้งละ 2,000 ลิตร ทำได้ดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งวัคซีนไปตรวจสอบคุณภาพยังห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ของแอสตร้าเซนเนก้า ในประเทศสก็อตแลนด์ และสหรัฐอเมริกา คาดว่าผลจะทยอยส่งกลับมาราวกลางเดือนเมษายนนี้ จะสามารถส่งมอบวัคซีนให้ประเทศไทยล็อตแรกได้ตามแผนในต้นเดือนมิถุนายน 2564 ราว 5-10 ล้านโดสต่อเดือน ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนการกระจายวัคซีนของ สธ.

“กรณีมีรายงานจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของสหราชอาณาจักร (MHRA) และหน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของยุโรป (EMA) เกี่ยวกับกรณีภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดของผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าฯ โดย 2 หน่วยงานสรุปว่า เป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก อัตรา 2-4 ต่อล้านการฉีด ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าสัมพันธ์กับการได้วัคซีน โดยมีข้อสังเกตว่าเกิดขึ้นหลังการฉีดเข็มที่ 1” นพ.นคร กล่าว

ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนฯ กล่าวว่า อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 หน่วยงาน จะเก็บข้อมูลต่อว่ามีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ โดยในการตัดสินความเกี่ยวข้องจะมีทั้งเป็นไปไม่ได้ หรือเป็นไปได้ และยืนยันว่าเกี่ยวข้องแน่ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นข้อสังเกตว่าเป็นไปได้ ในอัตราเกิดต่ำมาก 2-4 ต่อล้านการฉีด แต่ยังไม่ยืนยันชัดเจน

“อัตราการเกิดลิ่มเลือด ยังสัมพันธ์กับเชื้อชาติและวิถีชีวิตของประชาชนด้วย โดยประเทศไทยและประเทศเอเชีย มีอัตราการเกิดลิ่มเลือดอุดตันต่ำกว่าประเทศในยุโรป” นพ.นคร กล่าวและว่า สถาบันวัคซีนฯ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด รวมถึงขอข้อมูลการใช้วัคซีนแอสตร้าฯ ในประเทศอื่นๆ ประกอบด้วย ซึ่งข้อมูลจะเพิ่มเติมมากขึ้นในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า เพื่อนำข้อมูลมาประกอบ ให้ผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทย ได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมในการใช้แต่ละกลุ่มต่อไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้องค์การอนามัยโลก ยังไม่ได้มีคำแนะนำให้หยุดฉีด และ อังกฤษและประเทศในยุโรปมีการใช้วัคซีนแอสตร้าฯไปแล้วถึง 40 ล้านโดส” นพ.นคร กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ นพ.นคร กล่าวว่า ทุกวัคซีนที่ปรากฎอยู่มีโอกาสเกิดผลข้างเคียง ไม่มากก็น้อย เพราะฉะนั้น การรับวัคซีนจึงต้องการการสังเกตอาการหลังการฉีด แต่ประโยชน์โดยรวมยังมีมากกว่าผลข้างเคียงโดยรวมทั้งสิ้น ขอให้ประชาชนมั่นใจในวัคซีนที่รัฐจัดสรรและนำมาบริการประชาชน ว่าจะมีการติดตามความปลอดภัยอย่างใกล้ชิดปลอดภัย

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีผู้ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้พบเชื้อกลายพันธุ์จากอังกฤษที่ระบาดในกลุ่มก้อนสถานบันเทิง แต่เหตุใดรัฐถึงไม่จัดหาวัคซีนสำหรับเชื้อกลายพันธุ์เลย เหตุใดจึงรอแค่วัคซีนตัวเดียว นพ.นคร กล่าวว่า เรื่องนี้จะพูดโดยมองข้อมูลเพียงขณะนี้อย่างเดียวไม่ได้ ถ้าเราไปเจรจาวันนี้ กว่าจะได้รับวัคซีนก็ประมาณเดือนตุลาคม หรือไตรมาส 4 ซึ่งธรรมชาติของวัคซีนมีการกลายพันธุ์ตลอด

“ดังนั้นเมื่อได้วัคซีนมาเดือนตุลาคม เชื้ออาจจะมีการกลายพันธุ์อีก ก็จะเกิดคำถามแบบเดียวกันนี้มาอีกหรือไม่ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือตอนนี้มีหน่วยงานต่างๆ ของไทย ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาวัคซีนรุ่น 2 สำหรับเชื้อกลายพันธุ์อยู่แล้ว รวมถึงบริษัทต่างๆ ทั้ง วัคซีนไฟเซอร์ วัคซีนโมเดิร์นนา รวมถึงวัคซีนแอสตร้าฯ ก็อยู่ระหว่างการพัฒนาวัคซีนสำหรับเชื้อกลายพันธุ์ ซึ่งเราเองมีโควตาวัคซีนของแอสตร้าฯ อยู่แล้ว 65 ล้านโดส เป็นแบบที่ผลิตไปด้วยใช้ไปด้วย นั่นหมายความว่าหากแอสตร้าฯ พัฒนาวัคซีนรุ่น 2 สำหรับเชื้อกลายพันธุ์ได้แล้ว เราก็สามารถนำเอาโควต้า 63 ล้านโดสนี้ มาปรับการผลิตเป็นวัคซีนรุ่นสำหรับเชื้อกลายพันธุ์ได้เลย นี่คือข้อดีของการที่เรามีโรงงานผลิตเองในไทย” นพ.นคร กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image