สธ.ชี้โควิดไทยแนวโน้มระบาดก้าวกระโดด ชงห้ามปาร์ตี้ หลังสงกรานต์ เวิร์กฟรอมโฮม

สธ.ชี้โควิดไทยแนวโน้มระบาดก้าวกระโดด ชงห้ามปาร์ตี้ หลังสงกรานต์ เวิร์กฟรอมโฮม

เมื่อวันที่ 14 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด–19 ว่า สำหรับการระบาดขณะนี้ ทั่วโลกอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น รวมถึงไทยวันนี้มีรายงานผู้ติดเชื้อ 1,335 ราย เป็นครั้งแรกของประเทศ ซึ่งการระบาดรอบนี้เป็นสายพันธุ์อังกฤษ b.1.1.7 ระบาดได้ค่อนข้างเร็ว แต่ไม่ได้รุนแรงมากกว่าปกติ ข้อมูลค่อนข้างตรงกันว่าส่วนใหญ่มีอาการน้อยกับไม่มีอาการเกือบร้อยละ 90 ส่วนที่เหลือเป็นคนที่มีอาการมาก

นพ.โอภาส กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าอาการของโรคเปลี่ยนแปลงเร็วเช่นกัน ดังนั้นผู้ติดเชื้อทุกรายต้องเข้ารับการดูแลในสถานพยาบาลที่รัฐจัดให้ เพราะถือเป็นโรคอันตราย โดยหากอยู่ระหว่างรอผลการตรวจ ขอให้อยู่แต่กับบ้าน ห้ามเดินทางไปที่อื่น เมื่อทราบผลแล้ว เจ้าหน้าที่จะประสานหาสถานที่รับไปดูแล หากยังฝ่าฝืนออกเดินทางไปตามที่ต่างๆ ทั้งๆ ที่ทราบผลแล้ว จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มีโทษทั้งจำ ทั้งปรับ

“ส่วนคนที่ฝ่าฝืน รู้ตัวติดเชื้อแล้วยังเดินทางขึ้นเครื่องบินตามกฎหมาย ถือว่าเป็นผู้ที่จงใจจะแพร่เชื้อ ถ้ามีคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลแล้ว ยังฝ่าฝืนเดินทาง โทษหนักทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตาม แต่ละกรณีอาจจะแตกต่างกัน จึงเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่พนักงานจะลงไปสอบสวนแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับรายละเอียดวันนี้ (14 เมษายน 2564) มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ใน 54 จังหวัด แนวโน้มสถานการณ์การระบาดค่อนข้างเร็ว อย่างไรก็ตาม มี 9 จังหวัดสีแดง ที่มีอัตราการติดเชื้อมากกว่าวันละ 100 รายต่อวัน คือ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรปราการ นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร ปทุมธานี และสระแก้ว

Advertisement

“จังหวัดเหล่านี้จำเป็นต้องมีมาตรการในการควบคุมการเคลื่อนที่ของคนไม่ว่าจะเข้าหรือออก ควบคุมจุดเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานบันเทิง รวมถึงการจัดปาร์ตี้ส่วนบุคคล เพราะมีขณะนี้มีรายงานการติดเชื้อในครอบครัว และการปาร์ตี้ส่วนบุคคลก็มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก มีการอยู่ใกล้ชิดกัน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นพฤติกรรมเสี่ยงไม่แตกต่างจากผับ บาร์ ทั้งนี้ การควบคุมผู้เดินทางเข้า ออกนั้น ไม่ได้หมายความว่าให้ล็อกดาวน์จังหวัดสีแดง แต่คณะกรรมการโรคต่อจังหวัดต้องออกมาตรการที่เข้มงวดเหมาะสม ถ้ายังมีตัวเลขติดเชื้อเกินร้อยรายต่อวันติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็ให้พิจารณามาตรการอย่างเข้มงวด” นพ.โอภาส กล่าว

ทั้งนี้ นพ.โอภาส กล่าวว่า โรคนี้เกิดจากการสัมผัสและเดินทางของคนจากจุด 1 ไปอีกจุด 1 ดังนั้นต้องลดการเดินทาง ลดกิจกรรมที่มีการสัมผัสกันให้มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลได้สั่งปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะแล้ว ล่าสุดนายกรัฐมนตรี ก็มีคำสั่งให้ราชการทำงานที่บ้านเต็มรูปแบบ เมื่อทำ 2 สิ่งนี้ก็ช่วยควบคุมการระบาดได้ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เพียงพอสำหรับสถานการณ์ขณะนี้ที่มีรายงานการติดเชื้อในรอบ 24 ชั่วโมง ถึง พันกว่าราย ดังนั้นต้องเพิ่มมาตรการเข้มขึ้น และหลังสงกรานต์ สธ.จะเน้นเรื่องของการคัดกรองตรวจผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ผู้ที่ติดเชื้อแล้วจะต้องได้รับการรักษาใน รพ.หรือสถานพยาบาลที่รัฐจัดให้เท่านั้น

ส่วนประชาชนทั่วไปหลังสงกรานต์ให้เวิร์กฟรอมโฮมอยู่ที่จังหวัดนั้นๆ อย่างน้อย 2 สัปดาห์ หากมีอาการสงสัยให้ไปพบแพทย์และให้สวมหน้ากากอนามัยให้มากที่สุดเวลาไปพื้นที่สาธารณะ มาตรการต่างๆ จะมีการเสนอเข้าที่ประชุม ศปก.สธ.ที่มี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.เป็นประธาน ในวันที่ 15 เมษายนนี้ และที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ.เป็นประธาน ซึ่งทำงานควบคู่กันไป ในการออกมาตรการต่างๆ พร้อมเสนอเข้าศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (ศบค.) ต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีนักศึกษาใน จ.เชียงใหม่ เข้ารับการตรวจแล้วมีการให้ไปอยู่กับผู้ติดเชื้อ 3 วัน ซึ่งผลออกมาในภายหลังว่า นักศึกษาคนนี้ไม่ติดเชื้อ นพ.โอภาส กล่าวว่า กรณีที่มีการวินิจฉัยผิดนั้นก็ต้องไปดูในรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นต้องดูว่ามีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อลักษณะใดบ้าง ใกล้ชิดกันมากน้อยแค่ไหน ถ้าพบว่ามีความเสี่ยงสูงต้องกักตัว 14 วัน ถ้าเสี่ยงต่ำก็จะสังเกตอาการตนเองและให้คำแนะนำ

เมื่อถามว่า ขณะนี้มี รพ.เอกชนบางแห่ง ส่งข้อความถึงประชาชนให้ลงทะเบียนจองวัคซีนทางเลือก นพ.โอภาส กล่าวว่า เรื่องวัคซีนทางเลือกนั้น นายกฯ ได้มีคำสั่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด จะมีการหารือในรายละเอียดในวันที่ 20 เมษายนนี้ ว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ขอยืนยันว่าวัคซีนทางเลือก ก็คือทางเลือกที่ภาคเอกชนอยากมีวัคซีนมาเสริมให้กับกลุ่มเป้าหมายของตัวเองซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่ภาครัฐจัดหาให้ฟรีมี 2 ตัว คือ ซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า มีคุณภาพ ที่ทั่วโลกมีการสั่งจองจำนวนมาก และแย่งชิงกัน เพราะยังมีความขาดแคลนประเทศผู้ผลิต เช่น อินเดีย ที่ผลิตของแอสตร้าฯ ก็สั่งห้ามส่งออกนอกประเทศ แต่การที่ประเทศไทยมีโรงงานผลิตเองก็ถือเป็นความมั่นคง

เมื่อถามย้ำถึงวัคซีนทางเลือกว่า เนื่องจากคณะทำงานยังไม่ได้ประชุมวางแนวทาง ที่สำคัญคือ ยังไม่รู้ว่าวัคซีนที่จะเอามาฉีดคือตัวไหน แล้วการออกประกาศ หรือส่งข้อความให้ประชาชนลงทะเบียนจองก่อน ถือว่าทำได้หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ในคำถามคือคำตอบ

“ผมไม่ได้พูดเอง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงต้องสอบถามไปยังกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ว่ากรณีเช่นนี้สามารถทำได้หรือไม่” นพ.โอภาส กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image