สธ.ยันเตียงผู้ป่วยโควิด -19 ยังว่าง แต่บางส่วนเป็นไอซียูรับเฉพาะอาการหนัก

สธ.ยันเตียงผู้ป่วยโควิด -19 ยังว่าง แต่บางส่วนเป็นไอซียูรับเฉพาะอาการหนัก
เมื่อวันที่ 14 เมษายน นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงถึงการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า ในภาพรวมของเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล สรุปข้อมูลวันที่ 13 เมษายน เวลา 20.00 น. พบว่าสำรองเตียงแล้วทั้งหมด 6,185 เตียง มีการใช้ไป 3,460 เตียง เหลือเตียงว่าง 2,725 เตียง แยกเป็น 1.เฉพาะเตียงในโรงพยาบาลทั้งหมด 4,703 เตียง ครองเตียง 2,958 เตียงว่าง 1,745 เตียง ในส่วนของกรมการแพทย์ 159 เตียง กรมควบคุมโรค 0 เตียง กรมสุขภาพจิต 45 เตียง กระทรวงกลาโหม 58 เตียง กรุงเทพมหานคร (กทม.) 304 เตียง รพ.ตำรวจ 0 เตียง โรงเรียนแพทย์ 181 เตียง และโรงพยาบาลเอกชน 1,000 เตียง และ 2.รพ.สนาม และฮอสปิเทล ทั้งหมด 1,482 เตียง ครองเตียง 502 เตียง ว่าง 980 เตียง อย่างไรก็ตาม มีการจัดหาฮอสปิเทลเพิ่มได้อีก 2,385 เตียง ซึ่งว่างอีก 1,416 เตียง และขยายเตียงในภาครัฐเพิ่มขึ้นอีกด้วย

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อทุกรายทั้งคนไทยและคนที่อยู่ในผืนแผ่นดินไทยจะต้องได้รับการเข้านอนรักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น

“มีประชาชนส่วนหนึ่งสงสัยว่าเมื่อมีเตียงว่าง แล้วทำไมถึงยังเข้าไปไม่ได้ ผมขอชี้แจงว่า เป็นเพราะเตียงที่มีอยู่ในระบบนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเตียงสำหรับผู้ป่วยหนัก (ICU) ต้องเตรียมไว้รองรับผู้ป่วยหนัก ขณะที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ ไม่ได้เป็นผู้ป่วยหนัก แต่เป็นผู้ป่วยที่ไม่ค่อยมีอาการ มีไข้เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ใน 5-7 วัน หรือหลังจากนี้ไปแล้ว อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นคำว่าหนักได้เสมอ จึงจำเป็นต้องใช้เตียงไอซียู” รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ขอความร่วมมือประชาชนที่เข้ารับการตรวจหาเชื้อและได้รับผลการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 ให้อยู่ที่บ้าน แยกตนเองออกจากคนในครอบครัว สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ และรอการประสานจากโรงพยาบาลเพื่อนำเข้าสู่ระบบการรักษา ไม่เดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อหาเตียงด้วยตนเอง เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างทางไปสู่ผู้อื่น

Advertisement

“สำหรับผู้ที่ได้รับการตรวจยืนยันแล้วว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่ยังไม่ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล หรือรอเตียงนานเกินไป ทั่วประเทศสามารถประสานได้ที่ สายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ติดต่อเพิ่มที่สายด่วน กรมการแพทย์ (เฉพาะกิจ) 1668 ตั้งแต่เวลา 08.00-22.00 น. สายด่วน สปสช. 1330 หรือทางแอพพลิเคชันไลน์ โดยการเพิ่มเพื่อน @Sabaideebot โดยกรอกข้อมูลเช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image