บุคลากรแพทย์-จิตอาสา ระดมรักษา ส่งต่อผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีวันหยุด

บุคลากรแพทย์-จิตอาสา ระดมรักษา ส่งต่อผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีวันหยุด

วันนี้ (15 เมษายน 2564) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า กระบวนการวินิจฉัยและรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่สามารถจำกัดการแพร่ระบาดของโรค กรมการแพทย์เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการเข้ารับบริการทางการแพทย์ หากท่านเป็นกลุ่มเสี่ยงของการติดเชื้อ สามารถเข้ารับการตรวจวินิจฉัยในเบื้องต้นได้ที่โรงพยาบาล หรือ ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ (แล็บ) ที่มีสถานพยาบาลให้การรองรับ ซึ่งการวินิจฉัยตรวจเชื้อในห้องแล็บสามารถทำได้โดยการตรวจยีนของไวรัส (RT-PCR) โดยสามารถพบได้ตั้งแต่ระยะฟักตัว รวมถึงดูปริมาณองเชื้อในผู้ป่วย ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานดีที่สุดขณะนี้

 

“หากท่านยังไม่มีอาการแสดงชัดเจน เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลจะให้สังเกตอาการที่บ้าน หรือในสถานที่กักกันที่รัฐบาลกำหนดเป็นระยะเวลา 14 วัน หากผลทางห้องปฏิบัติการเป็นลบ ในกลุ่มเสี่ยง ยังมีความจำเป็นต้องกักตัวเพื่อตรวจยืนยันอีกครั้ง แต่หากผลเป็นบวกแปลว่าติดเชื้อโควิด-19 เจ้าหน้าที่จะส่งข้อมูลตามมาตรฐานของการควบคุมโรคไปยังกรมควบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และหากเป็นผู้ป่วยในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร จะส่งข้อมูลไปยังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) พร้อมกับแจ้งผลการตรวจให้กับผู้ป่วยทราบ หลังจากนั้นทางเจ้าหน้าที่จะประสานโรงพยาบาลเครือข่าย เพื่อจัดหาเตียงและแจ้งการเดินทางเพื่อไปรับผู้ป่วยมายังโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ซึ่งหลักการดูแลรักษาพยาบาลจะต้องให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อจะได้ไม่แพร่เชื้อต่อในครอบครัวหรือชุมชน” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากในขณะนี้มีการระบาดของโรคอย่างรวดเร็วในทั่วประเทศ มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ขอให้ประชาชนที่พบการติดเชื้อประสานกับโรงพยาบาลที่ตรวจพบเชื้อในเบื้องต้น หากโรงพยาบาลนั้นๆ ไม่สามารถรองรับการรักษาได้ ขอให้แจ้งมายังสายด่วนโควิด-19 เฉพาะกิจ โทร 1669, 1668, 1330, หรือสามารถแอดไลน์และบันทึกในสบายดีบอท (LINE @saibaideebo) ซึ่งสายด่วนเหล่านี้เป็นการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานในสังกัด สธ. โดยกรมการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยศูนย์เอราวัณ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

Advertisement

“เช่น หากท่านเป็นผู้ป่วยที่รอเตียง เจ้าหน้าที่จะรับข้อมูลเพื่อประเมินระดับความรุนแรง พร้อมทั้งติดตามอาการทางโทรศัพท์ระหว่างรอเตียง รวมถึงประสานหาเตียงภายในกรมการแพทย์และประสานงานไปยังสายด่วน 1669 โดยมีการบริหารเตียงและสื่อสารระหว่างสำนักการแพทย์ กทม. กรมการแพทย์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย (UHosNet) กระทรวงกลาโหม และโรงพยาบาลเอกชน ในการจัดสรรเตียงในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อนำท่านไปยังโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด” นพ.สมศักดิ์ กล่าวและว่า ทั้งนี้ สายด่วนดังกล่าวได้ให้บริการประชาชนในทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ โดยเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่เป็นจิตอาสา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image