กทม.ผ่อนปรนร้านอาหารขายเหล้า แต่ห้ามนั่งดื่มในร้าน

กทม.ผ่อนปรนร้านอาหารขายเหล้า แต่ห้ามนั่งดื่มในร้าน

เวลา 16.30 น. วันที่ 16 เมษายน ที่ศาลาว่าการ กทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ใช้เวลาหารือประมาณ 2 ชั่วโมง

จากนั้น พล.ต.อ.อัศวิน แถลงว่า กทม.ได้มีการหารือคณะกรรมการโรคติดต่อฯ เพื่อออกมาตรการตามคำสั่ง ศบค. ซึ่งจะมีผลตั้งแต่เที่ยงคืนวันที่ 17 เมษายนนี้ หรือวันที่ 18 เมษายนนี้เป็นต้นไป อย่างน้อย 14 วัน หรืออาจจะเกินได้ โดยปิดสถานบริการ เช่น ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด และที่กิจการ/กิจกรรมในลักษณะคล้ายคลึงกัน โรงเรียนปิดทั้งหมด ยกเว้นโรงเรียนนานาชาติที่จะมีการสอบพร้อมกันทั่วโลก จะต้องขออนุญาตจากสำนักอนามัย กทม. การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มต้องไม่เกิน 50 คน ถ้าเกินต้องขออนุญาตจากสำนักงานเขตหรือสำนักอนามัย กทม. ร้านอาหารอนุญาตให้นั่งรับประทานได้ถึงเวลา 21.00 น. หากซื้อกลับบ้านเปิดขายได้ถึงเวลา 23.00 น. จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำหน่ายได้ แต่ห้ามนั่งดื่มในร้านเด็ดขาด ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ปิดไม่เกินเวลา 21.00 น. งดตู้เกม ร้านสะดวกซื้อ เปิดเวลา 04.00 น. ปิด เวลา 23.00 น. สถานออกกำลังกาย ฟิตเนส อนุญาตเปิดถึง เวลา 21.00 น. งดเลี้ยง จัดสังสรรค์ทั้งหมด และจะขอความร่วมมือไปยังสถานประกอบการ ห้าง ร้าน บริษัทเอกชน จัดทำงานที่บ้าน หรือ ให้พนักงานทำงานเหลื่อมเวลา

ด้าน ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิดที่มีจำนวนมากขึ้น โดยกรุงเทพมหานครสามารถรับผู้ป่วยโควิดได้ 9,183 คน มีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาแล้ว 4,939 คน และรองรับได้อีก 4,244 คน แบ่งแผนการรับผู้ป่วยออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 การเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครให้รองรับผู้ป่วยโควิดให้มากขึ้น ทั้งในโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครและนอกสังกัด ระดับที่ 2 การเปลี่ยนโรงแรมให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวังอาการ (Hospitel) สำหรับผู้ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ให้รักษาตัวในโรงแรมที่จัดหาไว้ให้ และระดับที่ 3 จัดทำโรงพยาบาลสนามเต็มรูปแบบ เพื่อรองรับผู้ป่วย

โดยขณะนี้กรุงเทพมหานครได้พร้อมรองรับ ณ โรงพยาบาลเอราวัณ 1 (ศูนย์เฉลิมพระเกียรติฯบางบอน) สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 200เตียง และโรงพยาบาลเอราวัณ 2 (ศูนย์กีฬาบางกอกอารีนาหนองจอก) สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 350 เตียง นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลกองทัพและโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยที่ยังสามารถรองรับผู้ป่วยได้อีก ในส่วนของความล่าช้าในการรับ-ส่งผู้ป่วย ได้เร่งเพิ่มศักยภาพการทำงานโดยให้ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ บูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักเทศกิจและ 50 สำนักงานเขตจัดรถร่วมให้บริการรับส่งผู้ป่วยที่ตกค้างเพื่อให้ได้รับการรักษาที่รวดเร็วและปลอดภัยต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image