หลังเที่ยงคืน! เข้มมาตรการโควิด พิธีกรรมทางศาสนา-งานศพ จัดได้ แต่ต้องเว้นระยะห่าง

ศบค.ย้ำ! หลังเที่ยงคืนเข้มมาตรการโควิด พิธีกรรมทางศาสนา-งานศพ จัดได้ แต่ต้องเว้นระยะห่าง

เมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) กล่าวระหว่างแถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 ประจำวัน ว่า การประกาศข้อกำหนดแห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 20 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว และจะมีผลบังคับใช้หลังเที่ยงคืนวันนี้ (17 เมษายน 2564)

ในตอนนี้ไม่มีเคอร์ฟิว ซึ่งเราปรับให้เป็นมาตรการจำกัดที่หมายและลดการเคลื่อนย้าย นำมาสู่มาตรการพื้นที่ควบคุมสูงสุด 18 จังหวัด การนั่งรับประทานอาหารในร้านจะนั่งได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. และสั่งกลับบ้านได้ไม่เกินเวลา 23.00 น. ร้านสะดวกซื้อเปิดได้ตั้งแต่เวลา 04.00-23.00 น. สถานที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง ยิม ฟิตเนส เปิดได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. ขณะที่ พื้นที่ควบคุม 59 จังหวัด สามารถนั่งบริโภคในร้านได้ไม่เกินเวลา 23.00 น. ร้านสะดวกซื้อ สถานที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง ยิม ฟิตเนส เปิดได้ตามเวลาปกติ” โฆษก ศบค.กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ส่วนที่ทั้ง 2 พื้นที่เหมือนกัน คือ 1.ห้ามจำหน่ายและดื่มสุราภายในร้านอาหาร 2.ปิดสถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด 3.ศูนย์การค้า/ห้างสรรพสินค้า ในทุกจังหวัด เปิดได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. โดยจะต้องจำกัดจำนวนคน และงดจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย 4.ห้ามจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 50 คน และ 5.ห้ามใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน

“ซึ่งจะมีผลบังคับใช้หลังเที่ยงคืนวันนี้ จึงขอความร่วมมือ ร้านสะดวกซื้อในพื้นที่ควบคุมสูงสุดให้ความร่วมมือปิดบริการ และเปิดให้บริการได้อีกครั้ง ในเวลา 04.00 น. ของวันที่ 18 เมษายนนี้ ซึ่งขอให้ทุกท่านได้ช่วยกันร่วมมือเพื่อลดพื้นที่เป้าหมาย เพราะร้านสะดวกซื้อเปิดได้ตลอดทั้งคืนก็จะมีคนเดินเข้าออกบ่อยครั้ง เราไม่อยากเห็นภาพนี้ เพื่อลดการเคลื่อนย้ายและจำกัดพื้นที่เป้าหมาย” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

Advertisement

โฆษก ศบค. กล่าวว่า ในที่ประชุม ศบค.หารือกันเรื่องการจัดงานของประชาชน ซึ่งได้งดเว้นเฉพาะงานรื่นเริงสังสรรค์ แต่อนุญาตในงานประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น งานศพ โดยต้องมีการเว้นระยะห่าง ดำเนินตามมาตรการป้องกันโรค ไปจนถึงความร่วมมือการทำงานจากที่บ้าน (Work from home) โดยภาครัฐขอให้ดำเนินเต็มรูปแบบทุกพื้นที่ แต่ในส่วนการบริการประชาชนต้องไม่ขาดตกบกพร่อง และการบริหารราชการต้องไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งขอให้ผู้บริหารส่วนราชการ ได้ดำเนินการบริหารสถานการณ์ตามความเหมาะสม

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ขอขอบคุณประชาชน หลายครั้งที่เราต้องมาพูดคุยกัน สิ่งที่ภาครัฐเข้มแข็งและออกข้อกำหนดมาอย่างเต็มที่ สิ่งที่เราอยากเห็นคือภาพของผู้ประกอบการร่วมมือร่วมใจกันทำงาน ร่วมมือร่วมใจดำเนินการตามมาตรการ โดยภาคประชาชนก็เป็นส่วนสำคัญ หากทุกท่านร่วมปฏิบัติตามมาตรการที่เราออกมา เข้าใจในสิ่งที่เราบอกกับทุกท่าน ก็จะทำให้เราประสบความสำเร็จ

“เรามีเวลา 14 วันข้างหน้า แทนที่เราจะเห็นกราฟพุ่งขึ้น แต่หากเราช่วยกันดึงลงมา ให้ลดลงมาได้ด้วยมือของคน 60 กว่าล้านคน ใน 77 จังหวัด ผมเชื่อว่า 14 วันนี้เห็นผลอย่างแน่นอน ขอให้ทุกท่านร่วมไม้ร่วมมือกันในทุกภาคส่วน” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

Advertisement

โฆษก ศบค.กล่าวอีกว่า เนื่องจากตอนนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนมากแต่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ เราจึงมีโรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย และเก็บเตียงในโรงพยาบาลเพื่อให้ผู้ป่วยที่มีอาการหรืออาการหนัก เพื่อช่วยชีวิตคน

“รพ.สนาม ไม่ได้แย่อะไรเลย อย่างเช่นที่เชียงใหม่ น้องๆ เข้าไปก็พูดคุยกัน เพราะเราไม่ได้แยกเป็นห้องแต่เราให้อยู่รวมกัน ตอนนี้ภาคเอกชนก็สนับสนุนเตียงกระดาษ หลายคนชอบที่จะเป็นอย่างนี้ซะด้วยซ้ำ เนื่องจากได้พูดคุยกัน แต่อย่าเกินเลย การเล่นไพ่เอง หากไม่ได้มีพนันกันก็ไม่เป็นอะไร” นพ.ทวีศิลป์กล่าว และว่า รพ.สนาม จะทำให้ประหยัดทรัพยากรบุคคลในการดูแล ทั้งพยาบาลและแพทย์ และยังประหยัดทรัพยากร เช่น ชุดป้องกันส่วนบุคคล ดังนั้น ขอความเข้าใจว่า ผู้ติดเชื้อแล้วไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีอาการหนักแล้วต้องอยู่ในรพ.เท่านั้น

นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า ตามข้อกำหนด ฉบับที่ 20 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ระบุชัดเจนว่า ผู้ติดเชื้อทุกรายจะต้องอยู่ในการดูแล อยู่ในระบบการรักษา การแยกกัก ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศทั้งที่ป่วยและไม่ป่วย จะต้องเข้าสู่ระบบการกักกันโรค ในสถานกักกัน ดังนั้น ระบบแยกกักผู้ที่ป่วยแล้วของเรา มีทั้ง รพ.ทั่วไป รพ.สนาม ฮอสปิเทล (Hospitel) ซึ่งทุกรูปแบบมีความปลอดภัย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image