กรมจัดหางานเผยตัวเลขคนว่างงาน ตรวจสอบแล้วไม่ถึง 6 แสนคน

กรมจัดหางานเผยตัวเลขคนว่างงาน ตรวจสอบแล้วไม่ถึง 6 แสนคน

วันนี้ (17 เมษายน 2564) นายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2563 พบจำนวนผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 39.45 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 38.76 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้ทำงานในภาคบริการ และการค้า 17.50 ล้านคน ภาคเกษตรกรรม 13.48 ล้านคน และภาคการผลิต 7.78 ล้านคน โดยเป็นผู้ว่างงาน 590,000 คน แบ่งเป็น ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 1.8 แสนคน และเคยทำงานมาแล้ว 4.1 แสนคน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 พบว่าผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 2.2 แสนคน แต่ในขณะเดียวกัน จำนวนผู้มีงานทำก็เพิ่มขึ้นถึง 1.1 ล้านคน

“ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มจำนวนของผู้อยู่ในกำลังแรงงานทั้งหมด ทั้งกว่าร้อยละ 65 ของคนว่างงาน พบว่ามาจากแรงงานเก่า ซึ่งมีทั้งถูกให้ออกจากงาน ถูกเลิกจ้างจากสาเหตุการปิดกิจการ จากการหมดสัญญาจ้าง และการลาออกเอง และอีกร้อยละ 35 ของผู้ว่างงานเป็นแรงงานใหม่ที่เข้าสู่ระบบ” นายไพโรจน์กล่าว และว่า ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2564 มีผู้ประกันตนกรณีว่างงาน กลับเข้าสู่ระบบประกันสังคม 155,958 ราย และผู้ประกันตนรายใหม่ 84,241 ราย รวมทั้งสิ้น 240,199 ราย แยกเป็น เดือนมกราคม 85,970 ราย เดือนกุมภาพันธ์ 81,064 ราย และเดือนมีนาคม 73,165 ราย ในขณะที่จำนวนผู้ลงทะเบียนขอรับสิทธิกรณีว่างงานมี จำนวน 119,987 ราย โดยมีการลดจำนวนลงตามลำดับตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 เป็นต้นมา

นายไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด -19 ส่งผลให้แรงงานมีชั่วโมงทำงานลดลง ทั้งจากสถานประกอบการดำเนินกิจการได้ไม่เต็มที่ การปรับลดกำลังการผลิต การลดการทำงานล่วงเวลา ซึ่งสาเหตุที่กล่าวมานี้ กระทบต่อรายได้ของแรงงานถึง 5.96 ล้านคน

“อย่างไรก็ดี กกจ.ได้รวบรวมตำแหน่งงานว่างจากทั่วประเทศ เพื่อผู้ประสงค์จะทำงาน จำนวน 225,207 อัตรา ไว้รองรับ พร้อมกับวางแนวทางช่วยเหลือกลุ่มผู้ว่างงาน กลุ่มเปราะบาง รวมทั้งผู้ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ในการเตรียมความพร้อมให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน การส่งเสริมการมีงานทำสำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ และเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน (โครงการ Co-Payment) การหาแนวทางเพิ่มการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ รวมทั้งบรรเทาความเดือดร้อนของแรงงานนอกระบบ จากการให้เงินกู้ โดยคิดดอกเบี้ย 0% แก่กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน ทั้งหมดเพื่อรักษาการจ้างงาน ให้ผู้ใช้แรงงานได้มีงานทำต่อไป” นายไพโรจน์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image