อย.ยัน รพ.เอกชน แค่ปรึกษา แต่ไม่เคยขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด

อย.ยัน รพ.เอกชน แค่ปรึกษา แต่ไม่เคยขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด จ่อเชิญบริษัทผู้ผลิตหารือ

วันนี้ (20 เมษายน 2564) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า กรณีที่มีรายการข่าวทางสื่อโทรทัศน์แห่งหนึ่งนำเสนอข้อมูลพาดพิงการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เรื่องการกีดกันการนำเข้าวัคซีน และความไม่โปร่งใสในการขออนุญาตขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น ขอชี้แจงว่า อย. มีภารกิจในการปกป้องและคุ้มครองสุขภาพของประชาชน เพื่อให้สามารถบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีคุณภาพและปลอดภัย โดยดำเนินการควบคุมภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ อย.ไม่มีหน้าที่ในการจัดซื้อหรือดำเนินการค้าขายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพใดๆ

“สำหรับกรณีวัคซีนโควิด-19 ก็เช่นกัน อย.เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่พิจารณาคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิผลของวัคซีน เพื่อให้คนไทยได้รับวัคซีนที่มีมาตรฐานในระดับสากล โดยที่ผ่านมา องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นหน่วยงานที่ได้จัดซื้อวัคซีนโควิด-19 จากบริษัทผู้ผลิต เพื่อนำเข้ามาใช้ในประเทศส่วนหนึ่ง และ อย.ไม่เคยปิดกั้นภาคเอกชนในการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 มีแต่เชิญชวนให้มาขึ้นทะเบียน พร้อมกันนี้ ที่ผ่านมา ยังได้จัดการประชุมชี้แจงขั้นตอนการนำเข้า โดยมีผู้แทนจากภาคเอกชน ได้แก่ สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลุ่มตัวแทนโรงพยาบาลเอกชน และบริษัทผู้ผลิตวัคซีน เข้าร่วมประชุม” นพ.ไพศาล กล่าว

เลขาธิการ อย.กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้มาติดต่อเกี่ยวกับการนำเข้าและขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 จำนวน 14 ราย แต่มีการยื่นเอกสารที่ให้ อย. พิจารณาเพียง 4 ราย โดยได้รับอนุมัติขึ้นทะเบียนแล้ว 3 ราย และอยู่ระหว่างประเมินคำขอขึ้นทะเบียน 1 ราย นอกนั้น เป็นบริษัทและโรงพยาบาลเอกชนที่มาปรึกษาและขอรับคำแนะนำในการขึ้นทะเบียน 10 ราย แต่ยังไม่มีการมายื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนแต่อย่างใด ทั้งนี้ อย.จะเชิญบริษัทผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ทุกบริษัทมาประชุมชี้แจง พร้อมเชิญชวนให้มาขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 โดยเร็วที่สุด

ในส่วนของการดำเนินงานด้านการขออนุญาตขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพกับ อย. นั้น นพ.ไพศาล กล่าวว่า ปัจจุบัน อย.ได้เปิดระบบการขออนุญาตแบบออนไลน์โดยผ่านระบบ E- submission ซึ่งผู้ประกอบการสามารถยื่นขออนุญาตขึ้นทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นช่องทางในการยื่นขออนุญาตที่สะดวกสบาย ไม่ล่าช้า และมีความโปร่งใส อย. ไม่มีโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพในสังกัด ผู้ใดที่มายื่นขออนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย. จะพิจารณาทุกราย และว่า อย.ดำเนินการทุกขั้นตอนเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการรายใด ทั้งนี้ คำนึงถึงความปลอดภัยที่ประชาชนจะได้รับจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีคุณภาพเป็นอันดับหนึ่ง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image