ฟันธง! 6 บุคลากร รพ.ระยอง เป็นอัมพฤกษ์เพราะวัคซีนโควิดซิโนแวคล็อตเดียวกัน 

หมอฟันธง 6 บุคลากร รพ.ระยอง เป็นอัมพฤกษ์เพราะวัคซีนโควิดซิโนแวคล็อตเดียวกัน 

เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค พร้อมด้วย ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานคณะกรรมการดูแลเรื่องความปลอดภัยจากการใช้วัคซีน และ พญ.ทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ แถลงความคืบหน้ากรณีพบบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 6 ราย ที่โรงพยาบาล (รพ.) ระยอง เกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19

นพ.ทวีทรัพย์กล่าวว่า จากกรณีพบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ค่อนข้างรุนแรงเป็นกลุ่มก้อนที่ จ.ระยอง จำนวน 6 ราย ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 5 ราย และเป็นเจ้าหน้าที่ของ รพ. 1 ราย หลังรับวัคซีน โคโรนาแวค (CORONAVAC) ของบริษัท ซิโนแวค ประเทศจีน เลขที่ผลิต Lot No. J202103001 ในล็อตเดียวกัน โดยทั้งหมดมีอาการภายหลังรับวัคซีนประมาณ 5-30 นาที ส่วนใหญ่มีค่ากลางประมาณ 5-10 นาที โดยได้รับวัคซีนเมื่อวันที่ 5 เมษายน 1 ราย เมื่อวันที่ 6 เมษายน 1 ราย เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2 ราย และเมื่อวันที่ 9 เมษายน อีก 2 ราย อย่างไรก็ตาม อาการที่เกิดขึ้นมีทั้งอาการคล้ายคลึงกับโรคระบบทางเดินสมอง คือ ชาครึ่งซีก บางรายอาจมีอาการแขนขาอ่อนแรง ในจำนวน 6 ราย มี 1 ราย เกิดเฉพาะอาการชา แต่ไม่มีอาการอ่อนแรง

นพ.ทวีทรัพย์กล่าวว่า โดยใน 6 รายนี้ มีผู้ที่มีโรคประจำตัว คือ โรคมะเร็ง 1 ราย โรคไขมันในเลือดสูง และน้ำหนักเกิน 2 ราย มีประวัติการกินยาคุมกำเนิด 4 ราย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทั่วประเทศฉีดวัคซีนแล้วกว่า 6 แสนโดส และมีระบบเฝ้าระวังติดตามอาการทุกราย ทั้งอาการน้อย อาการปานกลาง และอาการรุนแรง ซึ่งหากอาการผิดปกติรุนแรง ทุกรายจะได้รับการสอบสวนและนำเข้าสู่คณะกรรมการวินิจฉัยพิจารณาต่อไป

ศ.พญ.กุลกัญญากล่าวว่า ทันทีที่ได้รับการรายงานเข้ามา ก็มีการลงพื้นที่สอบสวนอย่างละเอียด พบว่าทั้ง 6 ราย มีอาการทางระบบประสาทมากน้อยต่างกัน แต่เป็นอาการชั่วคราวและหายไปใน 1-3 วัน ทั้งนี้ บางรายอาการคล้ายกับอาการของหลอดเลือดสมอง หรือ สโตรก (Stroke) สิ่งที่เกิดขึ้นยังบอกไม่ได้แน่ชัดว่า เกิดจากอะไร เนื่องจากเมื่อสอบสวนโรคด้วยการสแกนผ่าน MRI พบว่าปกติ แต่จากการสอบสวนตัวโรคแล้ว มีอาการเกิดขึ้นจริง ดังนั้น จึงบอกได้เบื้องต้นว่า เป็นกลุ่มอาการคล้ายหลอดเลือดสมองและเกิดชั่วคราว เนื่องจากส่วนใหญ่เกิดขึ้นในผู้หญิงอายุไม่มาก ไม่มีปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน

Advertisement

“ส่วนใหญ่มีอาการหลายอย่างปนกันทั้งง่วง ชา อ่อนแรง บางรายไม่ชัดเจน โดยรวมจึงเรียกว่า เป็นกลุ่มอาการทางระบบประสาท ที่บางรายคล้ายอาการหลอดเลือดสมอง เราคิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน เพราะเกิดภายใน 5-10 นาทีหลังฉีดหรือมีบางรายอาจจะเกิดช้ากว่านั้น” ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าว

“เราจำเป็นต้องเฝ้าติดตามต่อไปโดยสิ่งที่คณะกรรมการฯ ทำอันดับแรก คือ ตรวจสอบคุณภาพวัคซีนที่นำมาใช้ในล็อตดังกล่าว ซึ่งไม่พบความผิดปกติ โดยล็อตนี้กระจายไปทั่วประเทศกว่า 5 แสนโดส ฉีดแล้วกว่า 3 แสนโดส ซึ่งยังไม่พบปัญหาที่เหมือนกันนี้ในที่อื่นๆ รวมถึงกองชีววัตถุ ตรวจสอบแล้วไม่พบความผิดปกติในคุณภาพวัคซีน และเป็นการฉีดใน รพ.ขนาดใหญ่ ซึ่งมีมาตรฐานการเก็บที่ดี มีการฉีดวัคซีนโรคอื่นๆ อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เราจะต้องเฝ้าดูว่าจะเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ขึ้นอีกหรือไม่” ศ.พญ.กุลกัญญากล่าว

อย่างไรก็ตาม ศ.พญ.กุลกัญญากล่าวว่า คณะกรรมการฯ ลงความเห็นว่าสามารถใช้วัคซีนล็อตนี้ต่อไปได้ เนื่องจากประโยชน์ของวัคซีนมากกว่าอาการข้างเคียง ซึ่งเป็นเพียงชั่วคราวที่อาจเกิดขึ้นได้

Advertisement

ศ.พญ.กุลกัญญากล่าวอีกว่า สำหรับคำถามว่ากลุ่มบุคลากร 6 ราย สามารถรับวัคซีนเข็มที่ 2 ได้หรือไม่ คำตอบคือ สามารถฉีดได้ในยี่ห้อเดิม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้รับวัคซีนด้วย โดยตามระบบการรายงานผลข้างเคียงหลังการรับวัคซีน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะต้องรายงานไปยังผู้ผลิตเพื่อเป็นข้อมูล ซึ่งแต่ละประเทศก็มีการรายงานที่ต่างกันไป วัคซีนซิโนแวคที่ฉีดแล้วมีอาการเช่นนี้ก็อาจพบในประเทศอื่นได้เช่นกัน อย่างเช่นข้อมูลในวารสารทางการแพทย์ ที่มีรายงานอาการชักกระตุกหลังรับวัคซีน แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากวัคซีนอย่างไร แต่ทั้งนี้ต้องรายงานไป เพื่อให้เกิดเป็นคำแนะนำในการใช้วัคซีนต่อไป

ด้าน พญ.ทัศนีย์กล่าวว่า ทั้ง 6 ราย ที่ จ.ระยอง มีอาการคล้ายกลุ่มอาการโรคหลอดเลือดสมอง คือ แขนขาอ่อนแรง ชา บางรายชาครึ่งซีก อ่อนแรงร่วมด้วย เป็นทันทีหรือฉีดวัคซีนไม่นาน ซึ่งแพทย์ที่ จ.ระยอง ได้มีการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ซึ่งไม่พบความผิดปกติ หลังให้การรักษาทั้ง 6 รายอาการดีขึ้น และกลับมาเป็นปกติ โดยรายที่ช้าสุดคือ 3 วัน เมื่อมีการทำสแกนสมองด้วยเอ็มอาร์ไอ ก็ไม่พบเนื้อสมองผิดปกติ ตาย ขาดเลือด หรือหลอดเลือดสมองตีบ

“อาจเกิดจากสัมพันธ์กับการฉีดวัคซีน ที่มีอาการทางระบบประสาทได้แต่ไม่บ่อย เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและกลับมาเป็นปกติ รวมทั้งอาจมีอาการทางระบบประสาทอื่นได้ เช่น อ่อนเพลีย ง่วงนอนจะพบบ่อยกว่า และเกิดขึ้นชั่วคราว อย่างไรก็ตาม กรณีทั้ง 6 ราย สาเหตุเชิงลึกเกิดจากอะไรจะต้องมีการศึกษา สืบค้น วินิจฉัยเพิ่มเติม ซึ่งจะมีการติดตามต่อเนื่องทั้ง 6 ราย และรายอื่นทั่วประเทศ” พญ.ทัศนีย์กล่าว

กรณีที่ถามว่าสมองไม่ผิดปกติแล้วทำไมต้องให้ยาละลายลิ่มเลือด พญ.ทัศนีย์กล่าวว่า กรณีอาการเข้าได้กับโรคหลอดเลือดสมอง ตามมาตรฐานจะต้องให้ยาละลายลิ่มเลือดภายใน 4.5 ชั่วโมง เพื่อช่วยชีวิตและลดความพิการ เป็นการรักษาฉุกเฉิน แล้วมาพิจารณาสาเหตุภายหลัง หากมาตรวจพบทีหลังว่าไม่ใช่โรคหลอดเลือดสมองก็ไม่เป็นไร และการรักษาไปก่อนนั้นไม่ได้อันตรายเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาต้องช่วยชีวิตคนไข้เพราะจำกัดด้วยเวลา

ด้าน นพ.เมธา อภิวัฒนากุล นายแพทย์เชี่ยวชาญ รองเลขาธิการสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ที่หลังฉีดวัคซีนมีกลุ่มอาการที่เข้าได้กับระบบประสาทและหลอดเลือดสมอง เช่น หน้าเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง ให้รีบไปพบแพทย์ที่ รพ.ให้เร็วที่สุด ส่วนแพทย์ให้การรักษาตามมาตรฐานการรักษาโรคหลอกเลือดสมอง หากมีข้อบ่งชี้ก็ให้ยาละลายลิ่มเลือด และให้รายงานทุกรายเข้าระบบ เพื่อที่คณะกรรมการจะได้สอบสวนโรคต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image