กรมแพทย์แจงดราม่าสายด่วน 1668 ย้ำ!สะดวกที่สุด ทิ้งข้อมูลในไลน์สบายดีบอต รอติดต่อกลับ

กรมแพทย์แจงดราม่าสายด่วน 1668 ย้ำ!สะดวกที่สุด ทิ้งข้อมูลในไลน์สบายดีบอต รอติดต่อกลับ

เมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่กรมการแพทย์ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วย นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวถึงขั้นตอนการปฏิบัติงานของสายด่วนกรมการแพทย์( เฉพาะกิจ) โทร.1668 รวมถึงการบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิด-19

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สายด่วนเฉพาะกิจกรมการแพทย์ 1668 เพิ่งเปิดบริการได้เพียง 2 สัปดาห์ เปิดบริการใน 20 คู่สาย ซึ่งเป็นบุคลากรสาธารณสุขที่มีภาระงานในโรงพยาบาล (รพ.) อยู่แล้ว แบ่งเวลาออกมาช่วยดูแลในการรับสายด้วย โดยขณะนี้เปิดบริการส่งต่อสายไปยังเบอร์โทรศัพท์ส่วนตัวของแพทย์และพยาบาลจิตอาสา อีก 230 สาย เพื่อให้คำแนะนำประชาชน

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขอย้ำว่า ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะมาทำงานส่วนนี้ เนื่องจากจะต้องมีความรู้ในการรักษาพยาบาล ขั้นตอนคือ 1.ผู้รับสาย จะซักถามข้อมูล ตรวจชื่อแล็บที่ทำการตรวจหาเชื้อ สอบถามอาการ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 20-30 นาทีต่อสาย 2.ทีมนำเข้าข้อมูล จะเคลียร์ข้อมูลรายคน ประสานกลับไปยังแล็บที่ตรวจ เพื่อตรวจสอบข้อมูลอีกครั้ง และ 3.ทีมแพทย์ ประเมินอาการผู้ป่วย จัดเป็นกลุ่มสีเขียว อาการเบา ซึ่งแพทย์จะโทรกลับไปหาวันเว้นวัน เพื่อสอบถามอาการ สีเหลือง ผู้ป่วยมีอาการ จะโทรวันละ 2 ครั้ง และสีแดง ผู้มีอาการมาก แพทย์จะโทรทุก 4 ชั่วโมง เพื่อเร่งการบริหารจัดการเตียงในรพ.

“ต้องเรียนว่าบางครั้งที่โทรเข้ามา อาจจะเหมือนโทรติดแต่ไม่มีใครรับสาย แต่จริงๆ แล้วสายไม่ได้ว่าง ติดสายอื่นๆ อยู่ แต่ยังมีสายด่วนที่เปิดให้บริการประชาชนอีก คือ สายด่วน สปสช. 1330 มี 100 คู่สาย สายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 ซึ่งทั้ง 2 สายนี้เปิดให้บริการประชาชนอยู่แล้ว แต่สายด่วน 1668 เพิ่งเปิดให้บริการได้เพียง 2 สัปดาห์และเราจะเร่งขยายคู่สายให้มากขึ้นด้วยเปิดรับแพทย์ พยาบาลจิตอาสาแพทย์ในต่างจังหวัดทั่วประเทศ มารองรับในการส่งต่อคู่สายด้วย” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

Advertisement

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับช่องทางที่สะดวกและแนะนำให้ประชาชนติดต่อเข้ามาคือ ผ่านระบบไลน์สบายดีบอต @sabaideebot เพื่อให้ประชาชนกรอกข้อมูลเบื้องต้น ส่งเอกสารผลการตรวจจากแล็บทิ้งข้อมูลต่างๆ ไว้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ ย้ำว่า สะดวกที่สุดขอให้เป็นเอกสารผลการตรวจ ไม่ใช่เพียงคำยืนยันจากโทรศัพท์ว่ามีผลบวก ทั้งนี้ก็เพื่อการตรวจสอบข้อมูล มาตรฐานการตรวจของแล็บ โดยระบบสบายดีบอต ก็จะมีการส่งต่อข้อมูลที่ได้มา คือ ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว จะส่งต่อไปที่สายด่วน สปสช.1330 เพื่อบริหารเตียงใน รพ.เอกชน และฮอสปิเทล กลุ่มสีเหลืองและแดง ส่งต่อไปที่สายด่วนกรมการแพทย์ 1668 เพื่อประสานไปยังศูนย์ส่งต่อ รพ.ราชวิถี รพ.สนาม ฮอสปิเทล หรือหอผู้ป่วยของกรมการแพทย์

“อย่างไรก็ตาม ทุกภาคส่วนจะต้องหนุนช่วยกัน อาจเห็นไม่พ้องต้องกันหมด แต่ต้องเอาความเห็นต่างมาร่วมกันแก้ปัญหา สามัคคีกัน เช่น หากจะมีสายด่วนมาช่วย 1668 ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ขอให้เป็นผู้ที่มีความรู้ทางการแพทย์ เนื่องจากจะต้องซักถามข้อมูลผู้ที่โทรเข้ามา” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ รพ.ทุกสังกัด กำลังเร่งเคลียร์ผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นแล้วกลับมาอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว โดยให้ออกมาอยู่ใน รพ.สนาม หรือ ฮอสปิเทล เพื่อทำให้เตียงใน รพ.ว่างรองรับสำหรับผู้ป่วยลุ่มสีแดงที่มีอาการ ขณะเดียวกัน จำเป็นต้องเปิด Cohort-Ward ขึ้นมาเพื่อรองรับกลุ่มผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการในกลุ่มสีเหลืองเข้าไปรักษา เนื่องจากข้อกำหนดขณะนี้ ผู้ป่วยสีแดงและเหลืองต้องได้รับรักษาใน รพ.เท่านั้น แต่ปัญหาคือ เตียงใน รพ.ถูกกลุ่มสีแดง เข้าไปพักจำนวนมาก ทำให้กลุ่มสีเหลืองตกค้าง ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง เราก็เปิดหอผู้ป่วยโควิดส่วนขยาย ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สถาบันธัญญารักษ์ รังสิต) จ.ปทุมธานี อีก 200 เตียง

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีดรามาไม่มีเตียงเมื่อโพสต์เฟซบุ๊ก หรือ ลงสื่อโซเชียลจะได้รับเตียงทันที จุดนี้ ต้องขอทำความเข้าใจว่า ทุกอย่างมีระบบบริหาร และจะได้ประสาน รพ.สนามสังกัดกระทรวงกลาโหม รับดูแลในผู้ป่วยส่วนนี้แทน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ และขอประณามแล็บที่ไม่มีมาตรฐานแต่โฆษณาลดราคา ค่าตรวจหาเชื้อ ร้อยละ 50 และอื่นๆ แต่เมื่อไปตรวจกลับใช้วิธีที่ไม่เป็นมาตรฐานเช่น ตรวจเลือด ซึ่งจะทำให้ผลคลาดเคลื่อน หรือผลบวกปลอม แต่เมื่อผู้ป่วยเข้าไปอยู่ใน รพ. แล้วทั้งที่ตัวเองไม่ได้ติดเชื้อ ก็เสี่ยงที่จะไปรับเชื้อมาได้

ด้าน นพ.สกานต์ กล่าวว่า ข้อมูลล่าสุด รับสายจากประชาชนประมาณ 3,600 สาย ซึ่งบางสายก็ซ้ำกัน จึงเป็นสายจากผู้ป่วยจริง 1,700 ราย โดยบริหารจัดการแล้ว 1,300 รายและยังอยู่ในระหว่างประสานงานประมาณ 400 ราย อย่างไรก็ตาม ในจำนวนที่รอเตียงจะเป็นผู้ป่วยสีเขียว 2 ใน 3 แต่สิ่งที่ต้องเน้นย้ำประชาชน คือ ขอให้ตรวจในแล็บที่มีมาตรฐาน ป้องกันผลบวกปลอม เพราะจากข้อมูลสายด่วน 1668 พบว่ามีประมาณ 10 ราย ที่ผลบวกปลอมคือที่ไม่ได้ติดเชื้อ แต่ต้องเข้าไปอยู่ใน รพ.สนาม ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการรับเชื้อ และทำให้ติดเชื้อขึ้นมาในภายหลัง

นพ.สกานต์ กล่าวอีกว่า ในการบริหารจัดการสายด่วน เปิดรับการบริการมา 13 วัน เจ้าหน้าที่จะโทรศัพท์เข้าไปสอบถามและติดตามอาการ โดยผู้ป่วยจะมีอาการเปลี่ยนแปลงจากสีเหลืองไปสีแดง น้อยกว่าร้อยละ 10 และมีผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวมีอาการ และกลายเป็นสีเหลืองประมาณร้อยละ 10

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image