สธ.เผยเตียงผู้ป่วยโควิดห้องความดันลบ-อาการหนัก เริ่มตึง! เร่งเคลียร์

สธ.แจงสถานการณ์เตียงผู้ป่วยโควิดทั่วไทย ชี้ห้องความดันลบ-อาการหนัก เริ่มตึง! เร่งเคลียร์

เมื่อวันที่ 27 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงถึงการบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า สธ.เป็นเจ้าภาพรวมจำนวนเตียงทั้งหมดของทั้งประเทศผ่านระบบสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ รายงานในทุกวัน เพื่อวิเคราะห์ปริมาณเตียงและจำนวนผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาล (รพ.) พบว่า เขตสุขภาพที่ 1-13 มีจำนวนเตียงทั้งหมด 44,560 เตียง มีการครองเตียง 21,695 เตียง ยังมีว่าง 22,865 เตียง จํานวนเฉพาะเขตสุขภาพที่ 13 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีเตียงทั้งหมด 12,679 เตียง ครองเตียง 7,959 เตียง และยังเหลือว่าง 4,720 เตียง

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า สถานการณ์เตียงของประเทศ แบ่งเป็นประเภท เช่น 1.ห้องความดันลบ AIIR-ICU มี 335 เตียง ครองเตียง 378 เตียง เหลือว่างอีก 157 เตียง 2.ห้องผู้ป่วยหนัก Modified AIIR มี 1,009 เตียง ครองเตียง 745 เตียง ยังว่าง 264 เตียง เฉพาะ 2 ส่วนนี้ มีการครองเตียงประมาณ ร้อยละ 70 ถือว่าอยู่ในจุดที่ตึง ไม่มีช่องว่างเหลือสำหรับผู้ป่วยรายใหม่ เว้นแต่การบริหารจัดการที่ดี ดังนั้น จำเป็นต้องสำรองเตียงด้วยการให้ผู้ป่วยในห้องไอซียู ทยอยนำผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นออกมาอยู่ในหอผู้ป่วยสามัญมากขึ้น เพื่อให้มีที่ว่างสำหรับผู้ป่วยจำเป็น

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ส่วนการบริหารจัดการอื่นๆ คือ เพิ่มห้องไอซียู ห้องความดันลบใน รพ.รัฐ และ รพ.เอกชน ขณะนี้ภาคเอกชนยังมีห้องความดันลบอยู่ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณานำผู้ป่วยเข้าไปรักษาตามความจำเป็น และต้องเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้น ขณะที่ 3.หอผู้ป่วยหนัก มีทั้งหมด 248 เตียง ครองเตียง 139 เตียง และยังว่างอีก 109 เตียง 4.AIIR+Modified AIIR มี 752 เตียง ยังว่าง 483 เตียง 5.ฮอสปิเทล(Hospitel) มี 7,642 เตียง ยังว่าง 3,708 เตียง และ 6.รพ.สนาม มี 9,983 เตียง ยังว่าง 3,708 เตียง ดังนั้น เตียงยังมีความเพียงพอ

“คำถามของประชาชนที่ยังรอเตียงอยู่ จะต้องเรียนว่าการนำผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือเพิ่งตรวจพบเชื้อ เรามีขั้นตอนในการดูแลตามอาการ หากมีอาการมากก็จะให้เข้ามาก่อน และอาการที่เบากว่าทางระบบก็จะทยอยเป็นลำดับถัดมา รวมไปถึงขณะนี้มีการเปิดฮอสปิเทล รพ.สนาม ขึ้นมารองรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ ซึ่งขอเน้นย้ำว่ามาตรฐานการรักษาเท่ากับในสถานพยาบาล ดังนั้น ขอประชาชนอย่าปฏิเสธการรักษาใน รพ.สนาม เพื่อให้ได้รับการดูแลเพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว

Advertisement

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวถึงสถานการณ์เตียงในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ว่า รวม 19,589 เตียง ยังเหลือว่าง 7,089 เตียง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเตียงจากภาคเอกชนมากที่สุดถึง 13,718 เตียง ยังเหลือว่างอยู่ 5,412 เตียง แต่ที่ยังเข้าไม่ได้ เนื่องจาก 1.จะต้องมีการทยอยนำผู้ป่วยเข้าอย่างปลอดภัย 2.ประเมินตามอาการ เพื่อรองรับผู้ป่วยในฮอสปิเทลที่มีอาการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เข้าสู่ระบบการรักษาใน รพ.ทันที ซึ่งมีเครือข่ายส่งต่อใน รพ.เอกชน ได้ นอกจากนั้นยังส่งให้กับรพ.ของรัฐได้ด้วย อย่างไรก็ตาม เราต้องเพิ่มประสิทธิภาพไอซียู ที่ไม่สามารถเพิ่มในเชิงโครงสร้างได้ แต่สามารถปรับหอผู้ป่วยภายในให้มีความคล้ายไอซียูได้ ซึ่งขณะนี้หลายโรงพยาบาลเพิ่มไปแล้ว

“ส่วนกรณีประชาชนที่อยากย้ายไปรักษาที่ รพ.ที่มีศักยภาพสูง ต้องเรียนว่า โรคโควิด-19 ในกลุ่มที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย สามารถหายได้ใน รพ.ขนาดเล็ก รพ.ทั่วไป หรือแม้กระทั่ง รพ.สนาม แต่หากมีความจำเป็นก็จะต้องส่งไปยัง รพ.ขนาดใหญ่ ที่มีอุปกรณ์และแพทย์ที่เชี่ยวชาญ ดังนั้น การบริหารจัดการ จึงแบ่ง กรุงเทพฯออกเป็น 6 โซน ตามพื้นที่ติดต่อกัน และมี รพ.หัวหน้าโซน ดูแล รพ.เล็กๆ รวมถึงการดูแลผู้ป่วยผ่านระบบทางไกล และเดินทางไปเยี่ยมได้ ได้แก่ 1.รพ.พระมงกุฎเกล้า/ รพ.ราชวิถี 2.รพ.จุฬาลงกรณ์ 3.รพ.ธรรมศาสตร์/รพ.ภูมิพล 4.รพ.รามาธิบดี 5.รพ.ศิริราช และ 6.รพ.วชิรพยาบาล และยังมีเครือข่าย รพ.เอกชน ด้วยซึ่งจะดูแลในเครือข่ายเดียวกัน หากจำเป็นต้องดูแลข้ามโซน ก็จะต้องประสานไปยังศูนย์บริหารจัดการเตียง รพ.ราชวิถี” รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า จากระบบสายด่วน 1668, 1669 และ 1330 มีรายชื่อผู้ป่วยในฐานข้อมูลรวม 2,800 ราย เจ้าหน้าที่ได้โทรกลับไปทุกราย เพื่อตรวจสอบว่ามีรายใดที่ได้รับเตียงแล้วหรือยังต้องรอเตียงอยู่ พบว่า สายด่วน 1668 โทร 880 ราย ต้องรอเตียง 121 ราย สายด่วน 1330 โทร 630 ราย รอเตียง 333 ราย ดังนั้น จะพบว่าบางส่วนได้รับเตียงแล้ว หรืออาจจะรักษาจนกลับบ้านแล้วแต่ยังมีข้อมูลอยู่ในระบบอยู่ ซึ่งช่วงวันเสาร์วันอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้แก้ปัญหาตรงนี้ไปเกือบหมดแล้ว ทำให้ขณะนี้ยังมีผู้ป่วยค้างอยู่เฉพาะรายใหม่เท่านั้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image