ศบค.เผยกรุงเทพฯ โควิดคลัสเตอร์ร้านอาหารติดเชื้อแล้ว 12 ราย บาง รพ.อาการหนักครึ่งต่อครึ่ง

ศบค.เผยกรุงเทพฯ โควิดคลัสเตอร์ร้านอาหารติดเชื้อแล้ว 12 ราย บาง รพ.อาการหนักครึ่งต่อครึ่ง

เมื่อวันที่ 28 เมษายน พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.) เปิดเผยระหว่างแถลงรายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า ขณะนี้มีการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน ดังนั้น ขอให้ประชาชนหมั่นสังเกตอาการและความเสี่ยงของตนเอง เมื่อวานนี้ (27เมษายน 2564) มีรายงานในกรุงเทพมหานคร คลัสเตอร์พนักงานร้านอาหาร ติดเชื้อแล้ว 12 ราย ผู้ป่วยรายที่ 1 เพศหญิง ไม่ระบุชื่อ พนักงานเสิร์ฟกะเช้า เมื่อวันที่ 2 เมษายน มีประวัติไปสถานบันเทิงกับเพื่อนที่ย่านเอกมัย หรือสงสัยว่าลูกค้าที่ร้านมีไทม์ไลน์เสี่ยงในช่วงสงกรานต์ ทั้งนี้ พนักงานสวมหน้ากากอนามัยเสิร์ฟทุกครั้ง และไม่มีการเวียนพนักงานในแต่ละสาขาช่วงสงกรานต์ จากนั้นได้ร่วมงานกับคนในร้าน ทำให้มีการติดเชื้อ 12 ราย จากการตรวจ 23 ราย และการสอบสวนเพิ่มเติมในผู้สัมผัสร่วมบ้าน ซึ่งจะมีการรายงานผลต่อไป

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ข้อมูลผู้ติดเชื้อในการระบาดเดือนเมษายน 2564 ณ วันที่ 25 เมษายน สะสม 20,721 ราย โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า 9,177 ราย คิดเป็นร้อยละ 44.3 2.สถานบันเทิง 5,226 ราย ร้อยละ 25.2 และ 3.การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชน 2,025 ราย ร้อยละ 9.8 รองมาจะเป็น ตลาดนัด 1,336 ราย ร้อยละ 6.4 ติดเชื้อในที่ทำงาน 703 ราย ร้อยละ 3.4

“ทั้งนี้ การติดเชื้อจากผู้ป่วยยืนยัน เนื่องจากผู้ป่วยไม่มีความระมัดระวัง แยกกักอย่างเหมาะสมทันท่วงที ยังใช้ชีวิตใกล้ชิดผู้อื่นๆ ทำให้ระยะนี้มีมาตรการออกมาเพื่อให้เว้นระยะห่าง ขอความร่วมมือสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งบางพื้นที่ก็กำหนดเป็นกฎหมาย” ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าว

พญ.อภิสมัย กล่าวถึงกรณีที่ประชาชนยังมีความเป็นห่วงคือ การที่ผู้ป่วยโทรศัพท์สายด่วนไม่ติด ไม่มีเตียง ว่า ต้องเรียนย้ำว่าทุกหน่วยงานพยายามหารือ บูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปรายวัน เพื่อนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบรักษาและจัดหาเตียง ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 28 เมษายน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า ผู้ป่วยยืนยัน จำนวน 9,645 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยอาการหนัก (Severe case) 319 ราย ผู้ป่วยอาการรุนแรงปานกลาง (Moderate case) 1,271 ราย อาการปานกลาง (Mild case) 4,712 ราย และผู้ป่วยไม่มีอาการ (Asymptomatic) 3,343 ราย จากข้อมูลจะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างจากการระบาด จ.สมุทรสาคร ที่ผู้ป่วยกว่าร้อยละ 90 ไม่มีอาการ แต่การระบาดตอนนี้ผู้ป่วยต้องการเตียงมากขึ้น

Advertisement

“ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ติดตามในเดือนเมษายน แต่ละวันเราทราบว่ามีผู้ป่วยรอเตียง รอการบริหารจัดการให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม แต่เรายังมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นในลักษณะก้าวกระโดด และกลุ่มผู้ป่วยอาการหนักรวมถึงกลุ่มที่ใส่ท่อช่วยหายใจ สถานการณ์ในตอนนี้เปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่ม แต่ในบางพื้นที่เช่น กรุงเทพฯ อาจไม่ตอบโจทย์ เพราะผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเป็นกลุ่มอาการปานกลางหรือหนัก หรือจำเป็นต้องใช้ท่อช่วยหายใจ ตรงนี้ทำให้ต้องบริหารจัดการเตียงให้ผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้” พญ.อภิสมัย กล่าว

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ข้อมูลในกรุงเทพฯ เฉพาะผู้ที่มีอาการหนัก ทิศทางการเพิ่มขึ้นในตัวเลขที่ค่อนข้างสูง โดยบาง รพ. รายงานว่า ผู้ป่วยที่ต้องใช้ท่อช่วยหายใจมีครึ่งต่อครึ่ง หรืออย่างน้อย 1 ใน 4 ของจำนวนผู้ป่วย ทำให้เป็นภาพของบุคลากรจำเป็นต้องจัดหาเตียง และขอความร่วมมือว่าผู้ป่วยที่ยังอาการไม่รุนแรง ขอให้เข้าอยู่ใน รพ.สนาม และฮอสปิเทล (Hospitel) เพราะเราจำเป็นต้องรักษาเตียงให้ผู้ป่วยที่มีความต้องการจริง

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า ข้อมูลในกรุงเทพฯ ของจำนวนผู้ป่วยที่กลับบ้าน ตั้งแต่วันที่ 21-27 เมษายน รวม 477 ราย เป็น กรุงเทพฯ 225 ราย และเตียงใน รพ. 224 ราย ซึ่งจะต้องมีการบริหารจัดการเตียงให้ผู้ป่วยกลุ่มสีแดงก่อน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่รักษาปลอดภัยครบกำหนดตามมาตรฐานการรักษาของ สธ.14 วัน ซึ่งเมื่อกลับบ้านแล้วก็ต้องสังเกตอาการตนเองต่ออีก 14 วัน ยังไม่อนุญาตให้ออกไปทำงาน หรือเข้าพื้นที่ชุมชน

Advertisement

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ที่ประชุมหารือกันว่า ขณะนี้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) พยายามเพิ่มคู่สายรองรับคนรอเตียง เพื่อจัดสรรเตียงเร็วที่สุด เบื้องต้นที่ประชุมสรุปว่า จะโทรติดใน 1-2 นาที ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ จะมีบุคลากรนำเข้าสู่ระบบ ส่วน 1 โทรรับเรื่องประสานงาน ส่วนที่ 2 จะคัดแยกอาการ ทางที่ดีประชาชนอาจทำแบบประเมินในสบายดีบอต แอดไลน์ @sabaideebot หรือ Bangkok COVID19 ก่อนที่จะโทร พอคัดแยกอาการเขียวเหลืองแดงแล้ว เป็นกลุ่มไหนต้องการเตียงประเภทไหน บุคลากรจะขอให้รอการติดต่อกลับเพื่อแจ้งเตียง คาดว่าใช้เวลา 1-2 วัน จะทำให้ดีที่สุด ระหว่างรอเตียงสังเกตอาการตัวเอง บาง รพ.ขอโทรกลับไปติดตามอาการด้วย เราพยายามเคลียร์สายที่ค้างจะทำให้เร็วขึ้นได้ ไม่ให้ต้องรอเตียงนาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image