อย.คุ้มครองผู้บริโภค ฟันโฆษณา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และสถานประกอบการผิดกม.

อย.คุ้มครองผู้บริโภค ฟันโฆษณา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และสถานประกอบการผิดกม.

เมื่อวันที่ 30 เมษายน นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า วันที่ 30 เมษายนของทุกปี เป็นวันคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวันที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคจากการใช้สินค้าและบริการต่างๆ และให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรม เพราะที่ผ่านมา มีผู้บริโภคจำนวนมากถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือรู้ไม่เท่าทันกลยุทธ์การโฆษณา ทำให้หลงเชื่อจนสร้างความเสียหายและอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพได้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่คุ้มครองดูแลสุขภาพของประชาชนจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพโดยการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพให้มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีประสิทธิผลได้ยืนหยัด มุ่งมั่นดำเนินงานเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคมาโดยตลอด

นพ.วิทิต กล่าวว่า ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 (เดือนตุลาคม 2563 – มีนาคม 2564) อย.ได้ดำเนินการเปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิด ทั้งคดีโฆษณา ผลิตภัณฑ์ และสถานประกอบการ ด้วยสาเหตุ เช่น โฆษณาแสดงสรรพคุณเป็นเท็จ หลอกลวงให้หลงเชื่อโดยไม่สมควรในเรื่องการบำบัด บรรเทา รักษาโรค, เป็นผลิตภัณฑ์อาหารปลอมหรืออาหารไม่บริสุทธิ์ ข้อมูลบนฉลากผลิตภัณฑ์ไม่ถูกต้อง และผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้นรวม 1,005 คดี เป็นเงินเปรียบเทียบปรับ 17,080,950 บาท และสั่งระงับโฆษณาทางสื่ออี-มาร์เก็ต เพลส จำนวน 4,330 รายการ รวมทั้งส่งต่อหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เป็นต้น เพื่อดำเนินการบังคับใช้กฎหมายในส่วนของหน่วยงานนั้นๆ และจัดทำข้อมูลสื่อสารเพื่อเตือนภัยผู้บริโภค

“ทั้งนี้ อย.ขอแนะผู้บริโภคให้ระวังและตรวจสอบก่อนตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพใดๆ โดยสำหรับตัวผลิตภัณฑ์สามารถตรวจสอบสถานะเลข อย. ผ่าน 4 ช่องทาง คือ Line : FDAthai, ORYOR Smart Application, เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th และเว็บไซต์ www.oryor.com หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ อีเมล์ [email protected] หรือผ่านทาง Oryor Smart Application หรือแจ้งไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ” รองเลขาธิการ อย. กล่าวและว่า อย.มีความห่วงใยผู้บริโภค โดยจะดำเนินการตรวจสอบ เฝ้าระวังการโฆษณา รวมไปถึงคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างเข้มข้นต่อไป เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีคุณภาพปลอดภัย สมประโยชน์ และขอเตือนผู้ประกอบการ หาก อย.พบการกระทำความผิด พร้อมดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image