ศบค.ห่วง 7จว.แดง-ส้ม ตัวเลขโควิดยังสูง ส่วนใหญ่ในครอบครัว-กลุ่มเพื่อน ขอเว้นระยะห่าง

ศบค.ห่วง 7จว.แดง-ส้ม ตัวเลขโควิดยังสูง ส่วนใหญ่ในครอบครัว-กลุ่มเพื่อน ขอเว้นระยะห่าง

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.) กล่าวถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ ระหว่างแถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 ประจำวัน ว่า ในวันนี้ 10 จังหวัดแรก พบใน กรุงเทพมหานคร 539 ราย นนทบุรี 276 ราย สมุทรปราการ 145 ราย ชลบุรี 89 ราย ปทุมธานี 62 ราย เชียงใหม่ 55 ราย สมุทรสาคร 52 ราย สุราษฎร์ธานี 48 ราย ระนอง 45 ราย และฉะเชิงเทรา 37 ราย

“ขณะที่ แผนที่แสดงจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อรายวัน พบว่า พื้นที่สีขาว คือจังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อเลย 11 จังหวัด พื้นที่สีเขียว จังหวัดที่พบ 1-10 รายมี 32 จังหวัด พื้นที่สีเหลือง พบ 11-50 รายมี 27 จังหวัด พื้นที่สีส้ม พบ 51-100 รายมี 4 จังหวัดและพื้นที่สีแดง พบ 100 รายขึ้นไป มี 3 จังหวัด ดังนั้น พื้นที่สีส้มและสีแดง รวมกัน 7 จังหวัด ที่เราค่อนข้างยังเป็นห่วง” ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าว

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ทิศทางของผู้ติดเชื้อหลังประกาศใช้มาตรการต่างๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พบว่า หลังประกาศใช้มาตรการทำงานจากที่บ้าน ปิดสถานบันเทิง ขอความร่วมมือประชาชนลดการเดินทาง และลดการรวมกลุ่มทำกิจกรรม ทำให้มีแนวโน้มติดเชื้อลดลง แต่ด้วยกราฟยังมีตัวเลขที่ค่อนข้างสูง ซึ่งยังอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

Advertisement

“จึงต้องฝากไปยังประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุม เข้าใจว่าทุกท่านเดือดร้อน ร้านอาหารที่ไม่ให้อนุญาตให้นั่งรับประทานในร้าน แต่ท่านจะค่อยๆ เห็นตัวเลขที่ลดลง เนื่องจากการสอบสวนโรคส่วนใหญ่พบว่า เกิดการติดเชื้อจากผู้สัมผัสใกล้ชิดกัน ผู้ที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน การรวมกลุ่มกันที่พบปะในสถานที่ทำงาน นัดพบกลุ่มเพื่อน สังสรรค์ในครอบครัว แม้กระทั่งงานทางศาสนา เช่น งานแต่ง งานบวช งานศพ ที่เริ่มมีรายงานการติดเชื้อ เราจึงเน้นย้ำมาตรการระตัวก่อนเมื่อออกจากบ้าน แต่ตอนนี้ ศบค. มีความเป็นห่วง แม้ว่าท่านอยู่ในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน เราเน้นย้ำครอบครัวที่มีคนหลายวัย มีผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยติดเตียง และมีคนวัยหนุ่มสาวที่เดินทางไปพื้นที่เสี่ยง” ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าว

ทั้งนี้ พญ.อภิสมัย กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือในการแยกบริเวณในครอบครัวที่ชัดเจน จำเป็นต้องแยกผู้ป่วย ผู้ป่วยติดเตียงออกจากผู้ที่ยังใช้ชีวิตเดินทางออกนอกบ้าน รวมถึงการไม่ทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว สวมหน้ากากอนามัยตลอด แม้กระทั่งการโดยสารรถร่วมกัน เพื่อลดการติดเชื้อจากคนใกล้ชิดในครอบครัวที่เป็นกลุ่มก้อนใหญ่ในขณะนี้

Advertisement

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ข้อมูล CO-Link รวมจากสายด่วน สบายดีบอต ศูนย์เตียงโรงพยาบาล (รพ.) ราชวิถี และศูนย์แรกรับและส่งต่อสถานกีฬานิมิบุตร กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า ในช่วงแรกที่มีการจัดระบบหาเตียง เมื่อวันที่ 6 เมษายน มีการรอเตียงถึง 10 วัน จากนั้นเมื่อวันที่ 11 เมษายน อัตรารอเตียงลดลงเหลือ 7 วัน เมื่อวันที่ 14 เมษายน อัตรารอเตียงเริ่มลดลง แต่มีผู้ป่วยกลุ่มสีแดงมากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยสีเหลืองและสีเขียว ได้เข้ารับบริการเตียงในภาวะรุนแรงก่อน ทำให้ผู้ป่วยสีแดงต้องรอเตียงล่าช้า แต่เมื่อมีการทำงานที่สอดคล้องประสานกัน เมื่อวันที่ 29 เมษายน พบว่ากราฟบรรจบกัน อัตราการรอเตียงลดลงและผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่มสี รอเตียงประมาณ 1-2 วัน หรือ 48 ชั่วโมง

“สายด่วน 1668 ข้อมูลเมื่อวันที่ 30 เมษายน พบว่า มีผู้รอเตียง 245 ราย ซึ่งการบริหารจัดการเตียงได้ 112 ราย รอการประสานอีก 133 ราย ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม มีผู้ป่วยรอเตียงเพิ่มอีก 27 ราย ซึ่งได้รับการหาเตียงแล้ว 19 ราย ดังนั้น จะเหลือผู้ป่วยที่รอเตียงอยู่ 143 ราย แบ่งเป็น กลุ่มสีเขียว 96 ราย สีเหลือง 41 ราย และสีแดง 6 ราย ขณะที่ ข้อมูลศูนย์แรกรับฯ อาคารนิมิบุตร มีผู้เข้ามาติดต่อแล้ว 115 ราย ข้อมูล ณ วันที่ 1 พฤษภาคม พบว่า มีผู้รอเตียง 68 ราย มาจากสายด่วน 62 ราย เดินทางมาเอง 6 ราย แบ่งเป็น กลุ่มสีเขียว 51 ราย สีเหลือง 16 ราย และสีแดง 1 ราย” พญ.อภิสมัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image