ศบค.แนะ ครอบครัวใหญ่แยกพื้นที่ส่วนตัว ชี้เฟซชิลด์ไม่ช่วย ซื้อยากินเองต้องระวัง

ศบค.แนะ ครอบครัวใหญ่แยกพื้นที่ส่วนตัว ชี้เฟซชิลด์ไม่ช่วย ซื้อยากินเองต้องระวัง

ศบค.แนะคนอยู่บ้านร่วมกันเป็นจำนวนมาก ต้องพยายามแยกพื้นที่ส่วนตัว ย้ำการสวมเฟซชิลด์ไม่ช่วยป้องกันโรค แจงการซื้อยามารับประทานเองอาจมีปฏิกิริยาต่ออาการของโรคประจำตัวได้

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ยังกล่าวแนะนำถึงการใช้พื้นที่ร่วมกันสำหรับผู้ที่อยู่ในบ้านเดียวกันหลายคน ว่า หลายบ้านต้องอยู่อาศัยร่วมกันหลายคน หลายวัยและต้องใช้สถานที่ร่วมกันในหลายตจุด สิ่งที่ศบค.เน้นย้ำจากคำแนะนำของกรมควบคุมโรคคืออันดับแรก หากบ้านมีผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ที่มีประวัติโรคประจำตัว ต้องพยายามแยกพื้นที่ให้บุคคลเหล่านี้มีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดรวมกลุ่มกับผู้ที่มีโอกาสเดินทางออกไปทำงานนอกบ้านหรือไปในพื้นที่เสี่ยง เท่าที่จะทำได้ และในส่วนของข้าวของเครื่องใช้มีรายงานว่า หลายครั้งมีการแยกพื้นที่ได้แต่ยังต้องใช้ข้าวของร่วมกัน ก็มีคำแนะนำให้ล้าง ทำความสะอาดจุดที่มีการสัมผัสร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตู โต๊ะรับประทานอาหาร ตู้เย็นหรือแม้กระทั่งห้องน้ำ ที่กรมควบคุมโรคออกมาตรการว่าสามารถที่จะใช้ห้องน้ำร่วมกันได้ โดยให้ผู้ป่วยเป็นคนใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้ายและมีมาตรกรในการทำความสะอาดเพื่อล้างคัดหลั่งต่างๆ ที่อาจจะมีโอกาสไปติดคนที่อยู่ในบ้าน

อย่างไรก็ตามจากเดิมที่คนในครอบครัวจะมีการรวมตัวกันทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เช่นดูทีวี ตอนนี้ก็ต้องพยายามเว้นระยะให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้ในหลายครั้งที่คนในบ้านมีความจำเป็น เช่นเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ ต้องนำอาหารไปให้ผู้สูงอายุ ต้องเปลี่ยนผ้าอ้อม อยากให้เห็นว่าการสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องหรือผู้สูงอายุในบ้านสวมหน้ากากอนามัยด้วยจะเห็นเลยว่าลดการติดเชื้อได้ถึง 98.5% ในขณะที่กรมควบคุมโรคได้ย้ำว่าการใส่เฟซชิลด์ว่าไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ หากมีผู้ติดเชื้อหนึ่งรายไม่สวมเฟซชิลด์หรือตัวเราเองไม่สวมหน้ากากอนามัยแต่สวมเฉพาะเฟซชิลด์ จะไม่ทำให้เราปลอดภัย จึงขอความร่วมมือให้สวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัยให้ปลอดภัยด้วย

เมื่อถามว่า ระหว่างที่รอเตียงหรือรอรถพยาบาลมารับ สามารถซื้อยามารับประทานเองได้หรือไม่ พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ขณะนี้เราพยายามลดวันรอเตียง โดยตัวเลขจากศูนย์แรกรับ ส่งต่อนิมิบุตร กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม สามารถส่งต่อผู้ป่วยได้สำเร็จ 186 ราย คิดเป็น 96.9% ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามไม่ให้มีผู้ป่วยตกค้างอยู่ที่บ้าน แต่อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่รอเตียงอยู่ที่บ้านนั้น การซื้อยาฆ่าเชื้อหรือยาอื่นๆ มารับประทานเองในกลุ่มที่มีโรคประจำตัว มียาที่ต้องกินอยู่เป็นประจำนั้น ต้องระมัดระวังเพราะอาจมีปฏิกิริยาต่ออาการของโรคประจำตัวได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image