กรมวิทยาศาสตร์-มทร.อีสาน-มหิดล พัฒนากัญชาไทย 4 พันธุ์ รอขึ้นทะเบียน

กรมวิทยาศาสตร์-มทร.อีสาน-มหิดล พัฒนากัญชาไทย 4 พันธุ์ รอขึ้นทะเบียน

วันนี้ (6 พฤษภาคม 2564) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.) อีสาน วิทยาเขตสกลนคร และภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนากัญชาพันธุ์ไทย 4 พันธุ์ คือ 1.กัญชาพันธุ์หางกระรอกภูพานเอสที 1 2.กัญชาพันธุ์หางเสือสกลนครทีที 1 3.กัญชาพันธุ์ตะนาวศรีก้านขาวดับเบิลยูเอ 1 และ 4.กัญชาพันธุ์ตะนาวศรีก้านแดงอาร์ดี 1

“การศึกษาในครั้งนี้ ได้ทำการศึกษาครอบคลุมทั้งลักษณะทางด้านพฤกษศาสตร์ (phenotype) ด้านเคมี (chemical profile) และข้อมูลสารพันธุกรรม (genetic profile) ซึ่งพบว่ากัญชาไทยแต่ละพันธุ์มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของต้น ใบ ช่อดอก และกลิ่นมีความแตกต่างกัน โดยกัญชาพันธุ์หางกระรอกภูพานเอสที 1 มีลักษณะของช่อดอกเป็นพวงคล้ายหางกระรอก มีช่อดอกใหญ่ มีกลิ่นเฉพาะตัวหอมคล้ายมะม่วงสุก และไม่มีกลิ่นฉุน กัญชาพันธุ์หางเสือสกลนครทีที 1 มีลักษณะของช่อดอกยาว เป็นพวงยาวคล้ายหางเสือ มีกลิ่นเฉพาะตัวหอม คล้ายเปลือกส้ม และมีกลิ่นฉุนเล็กน้อย กัญชาพันธุ์ตะนาวศรีก้านขาวดับเบิลยูเอ 1 มีลักษณะของช่อดอกเป็นกระจุกแน่นที่ปลายกิ่ง มีช่อดอกจำนวนมาก มีทรงต้นที่เป็นพุ่ม และมีกลิ่นที่เฉพาะตัวหอมคล้ายเปลือกส้มผสมกลิ่นตะไคร้ มีกลิ่นฉุนน้อยกว่าพันธุ์หางเสือสกลนครทีที 1 ส่วน กัญชาพันธุ์ตะนาวศรีก้านแดงอาร์ดี 1 มีช่อดอกจำนวนมากเช่นเดียวกับพันธุ์ตะนาวศรีก้านขาวดับเบิลยูเอ 1 แต่มีลักษณะพิเศษที่แตกต่าง คือ มีสีแดงที่กิ่ง ก้าน และก้านใบ มีกลิ่นหอมหวานคล้ายกลิ่นผลไม้สุกไม่มีกลิ่นฉุน” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าว

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า เมื่อเทียบข้อมูลทางด้านสารพันธุกรรมกับฐานข้อมูลของกัญชาทั่วโลก พบว่า กัญชาไทยทั้ง 4 พันธุ์ พบได้เฉพาะถิ่นเท่านั้น ไม่พบได้ทั่วไป และเป็นพันธุ์ที่หายาก ซึ่งกัญชาแต่ละพันธุ์ของไทย มีสารสำคัญในสัดส่วนที่ต่างกัน จึงมีประโยชน์ต่อการบ่งใช้ในการรักษาโรคที่ต่างกัน รวมถึงการได้สารสำคัญคงที่ในการปลูกทำให้ง่ายต่อการนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

Advertisement

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า กัญชาทั้งหมดที่กล่าวมา ได้ทำการศึกษาทางด้านเคมี และข้อมูลทางด้านสารพันธุกรรม พบว่า กัญชาพันธุ์ไทยมีลักษณะเด่นถึง 3 แบบ ทั้งนี้

แบบที่ 1 กัญชาที่ให้สารทีเอชซี (THC) สูง หรือกัญชา type I ได้แก่ กัญชาพันธุ์หางเสือสกลนครทีที 1 และกัญชา พันธุ์ตะนาวศรีก้านขาวดับเบิลยูเอ 1

แบบที่ 2 กัญชาที่ให้สารทีเอชซี และซีบีดี (CBD) (THC : CBD = 1 : 1) ในสัดส่วนที่เท่ากัน หรือกัญชา type II ได้แก่ กัญชาพันธุ์หางกระรอกภูพานเอสที 1

แบบที่ 3 กัญชาที่ให้สารซีบีดีสูง หรือกัญชา type III ได้แก่ กัญชาพันธุ์ตะนาวศรีก้านแดงอาร์ดี 1

“การพัฒนากัญชาพันธุ์ไทยมีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ช่วยให้เกษตรกร ผู้ประกอบการมีศักยภาพในการพัฒนากัญชาพันธุ์ไทย ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลก ลดการขาดดุลการค้ากับต่างประเทศได้ และขณะนี้อยู่ระหว่างขอรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” นพ.ศุภกิจ กล่าวและว่า นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2564 กรมวิทยาศาสตร์ฯ โดย สถาบันวิจัยสมุนไพร ได้รับใบอนุญาตให้ทำการศึกษาวิจัยการปลูกกัญชา ซึ่งวัตถุดิบที่ได้ จะนำมาศึกษาวิจัยแบบครบวงจรทางด้านต่างๆ ได้แก่ พฤกษศาสตร์ พันธุศาสตร์ เคมี เอกลักษณ์ทางเภสัชเวท การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช การเตรียมสารสกัดที่มีปริมาณสารสำคัญสูงและควบคุมคุณภาพสารสกัดให้ได้มาตรฐานสากล พิษวิทยาของกัญชาทั้งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง เพื่อเป็นข้อมูลส่งเสริมการใช้กัญชาและประเมินความปลอดภัย ของกัญชา เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสารสกัดกัญชา” นพ.ศุภกิจกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image