แพทย์ยันไม่ให้ฟาวิพิราเวียร์ในผู้ป่วยโควิด-19 ไร้อาการ หวั่นเชื้อดื้อยา

แพทย์ยันไม่ให้ฟาวิพิราเวียร์ในผู้ป่วยโควิด-19 ไร้อาการ หวั่นเชื้อดื้อยา

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงถึงแนวทางการให้ยารักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า อัพเดทข้อมูลแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญ โรงเรียนแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อและโรคปอด ทั้งจากโรงพยาบาล (รพ.) ศิริราชพยาบาล รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.รามาธิบดี และอื่นๆ รวมถึงสมาคมโรคติดเชื้อ สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ช่วยกันระดมสมอง ดูผลงานการรักษาตั้งแต่การระบาดปีที่แล้ว ระลอกจ.สมุทรสาคร และระลอกเดือนเมษายน 2564 ที่มีการระบาดสายพันธุ์ต่างกัน ในส่วนที่มีความสับสนอย่างมากคือ ยาฟาวิพิราเวียร์

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า จึงสรุปแนวทางการรักษา 1.ผู้ติดเชื้อยืนยันที่ไม่มีอาการและไม่มีโรคร่วม จะไม่ให้ยารักษาเฉพาะ 2.ผู้ติดเชื้อยืนยันที่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการก็ตาม แต่มีโรคร่วมหรือมีปัจจัยเสี่ยงให้ยารักษาตามอาการและยาต้านไวรัส (ฟาวิพิราเวียร์) ตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น ผู้ป่วยภาวะอ้วนที่ต้องได้รับยา โดยพิจารณาเป็นรายๆ

“ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการและไม่มีโรคร่วม คิดเป็นร้อยละ 30-40 ของจำนวนผู้ป่วย พบว่าร้อยละ 80 อาการจะไม่เปลี่ยนไปเป็นกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองหรือแดง ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องกินยา เพราะเท่ากับจะเป็นการให้ยาโดยเปล่าประโยชน์ ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทย์ สมาคมโรคติดเชื้อ และอื่นๆ ได้ปรึกษาหารือกันแล้วยืนยันในส่วนนี้” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า 3.ผู้ติดเชื้อยืนยันมีอาการเล็กน้อย มีความเสี่ยงและปอดอักเสบเล็กน้อย ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ในรายที่มีอาการรุนแรง สามารถให้ยาสเตียรอยด์ได้ เพื่อลดความรุนแรงของโรคและป้องกันการใช้เครื่องช่วยหายใจในอนาคต และ 4.ผู้ติดเชื้อยืนยัน ที่มีปอดอักเสบหรืออักเสบรุนแรง ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดน้อยกว่าร้อยละ 96 ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ โลปินาเวียร์/ริโตนาเวียร์

Advertisement

“การให้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ เราให้เร็วขึ้น แต่ยังไม่ถึงกับให้ทุกคน ที่เราไม่หว่านแห เพราะมีผลเสียหลายอย่าง เนื่องจากยาฟาวิพิราเวียร์มีอาการข้างเคียง เช่น ตับอักเสบ เกิดเชื้อดื้อยา ฯลฯ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเป็นห่วงมาก” นพ.สมศักดิ์ กล่าวและว่า ในต่างประเทศมีการทดสอบทางคลินิกสำหรับยาต้านไวรัสบางตัว แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันและยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน จึงไม่สามารถนำมาใช้ได้ ดังนั้น เราต้องเก็บยาฟาวิพิราเวียร์ไว้เป็นอาวุธสำคัญ

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การรักษาในโรงพยาบาลขณะนี้ยึดที่ 14 วัน สำหรับผู้ที่ไม่มีอาการ แต่หากพื้นที่ใดมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการเตียง กรณีผู้ป่วยที่ไม่มีอาการอย่างน้อย 48 ชั่วโมง สามารถให้ออกจากโรงพยาบาลได้ตั้งแต่วันที่ 10 เป็นต้นไป แต่ต้องกลับไปกักตัวที่บ้านต่อจนครบ 14 วันเป็นอย่างน้อย

ทั้งนี้ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ เฉลี่ย 50,000 เม็ดต่อวัน โดยหลังวันที่ 10 พฤษภาคม จะมียาเข้ามาอีก 3 ล้านเม็ด ขณะนี้มีแผนบริหารจัดการเพื่อให้เกิดความสะดวก โดยสำรองยาและจ่ายยาผ่านโรงพยาบาลแม่ข่าย โดยจะจ่ายยาให้โรงพยาบาลลูกข่าย ทั้งในกรุงเทพมหานคร และส่วนภูมิภาค นอกจากนี้ ยังมีการขยายโรงพยาบาลแม่ข่าย เพื่อสำรองยาพิจารณาตามจำนวนผู้ติดเชื้อ พร้อมทั้ง สำรองยาไว้ในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และฮอสปิเทล (Hospitel)

“มีการกระจายยาไปเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน มีการสำรองยาไปที่โรงพยาบาลเล็กที่ไม่มีเครือข่ายประมาณ 20 แห่ง โดยใช้วิธีการเบิกทดแทน เพื่อไม่ให้มีการขาดตกบกพร่อง สำหรับโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลของกทม. โรงพยาบาลสังกัดกลาโหม สังกัดตำรวจ ก็ได้รับการสำรองยาเรียบร้อยแล้ว การเบิกก็จะเบิกทดแทนของเก่าเท่านั้น เพื่อให้เกิดความสะดวก” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image