หมอทวี ชี้วัคซีนโควิดมีประสิทธิภาพทุกตัว ดูเฉพาะตัวเลขไม่ได้ เหตุวิจัยต่างพื้นที่ต่างเวลา

หมอทวี ชี้วัคซีนโควิดมีประสิทธิภาพทุกตัว ดูเฉพาะตัวเลขไม่ได้ เหตุวิจัยต่างพื้นที่ต่างเวลา

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รศ.นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ แถลงถึงประสิทธิภาพวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 และประโยชน์จากการฉีดวัคซีนดังกล่าว ว่า การฉีดวัคซีนมีประโยชน์มากกว่าโทษแน่นอน ข้อมูลที่ผ่านมา เกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละยี่ห้อ เช่น วัคซีนไฟเซอร์ ร้อยละ 95 โมเดอร์นา ร้อยละ 94 สปุตนิก วี ร้อยละ 92 นาโนแวค ร้อยละ 89 แอสตร้าเซนเนก้า ร้อยละ 67 และ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ร้อยละ 66

“โดยข้อมูลนี้ ยังไม่มีวัคซีนซิโนแวค เพราะออกมาทีหลัง แต่หลายคนมักยึดติดตัวเลขเหล่านี้ ซึ่งจริงๆ แล้วตัวเลขพวกนี้มาจากที่ต่างๆ ไม่เหมือนกัน ตัวเลขพวกนี้จะแตกต่างกันไปตามแต่ละสถานที่ แต่ละปัจจัย เพราะการวิจัยนั้น จะวิจัยในประเทศเดียวกันไม่ได้ ต้องกระจายกัน และการวิจัยเวลาเดียวกันก็ไม่ได้ เพราะเวลานั้นมีการระบาดหรือไม่ก็มีผล หรือแม้แต่จะวิจัยในเผ่าพันธุ์เดียวกัน ก็ไม่ได้อีก หรือจะวิจัยในการแพร่กระจายแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน เพราะบางแห่งมีการกลายพันธุ์ ดังนั้น ถ้าจะไปดูเฉพาะตัวเลขอย่างเดียว ไม่ได้ สิ่งที่ทางการแพทย์อยากเห็นคือ วัคซีนเกือบทุกตัวป้องกันการเสียชีวิตเกือบ 100% ป้องกันการนอนโรงพยาบาล (รพ.) ป้องกันอาการรุนแรงได้ ซึ่งอาการน้อยๆ ไม่รุนแรงก็ถือว่าไม่กังวล” รศ.นพ.ทวี กล่าว

รศ.นพ.ทวี กล่าวว่า สำหรับวัคซีนซิโนแวค ป้องกันอาการรุนแรงได้ 100% ป้องกันอาการปานกลาง เช่น ป่วยไข้ต้องนอน รพ.แต่ไม่ถึงอาการรุนแรง พบว่าป้องกันได้ถึงร้อยละ 83.7 และในกลุ่มที่ไม่มีอาการ ป้องกันการติดเชื้อได้อีก ร้อยละ 50.7

“อย่างไรก็ตาม กรณีที่บราซิล มีการฉีดวัคซีนซิโนแวคไป 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยลดลง ดังนั้น เราอยากเห็นเวลาใช้จริงว่า ผลเป็นอย่างไร เนื่องจากช่วงวิจัยอาจใช้อาสาสมัคร 3-4 หมื่นคน แต่ความเป็นจริงใช้มากกว่านั้น ทั้งนี้ วัคซีนแอสตร้าฯ อย่างน้อยเข็มเดียวน่าจะป้องกันได้อย่างน้อย 3 เดือน และต้องฉีดเข็มที่ 2 อย่างผมฉีดไปเมื่อ 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีภูมิคุ้มกันป้องกันโรคได้ และแน่นอนป้องกันได้ไม่ต่ำกว่าครึ่ง จากข้อมูลการศึกษาวิจัย ส่วนประสิทธิภาพที่ฉีด 2 เข็ม ผลการศึกษามีประสิทธิภาพ ร้อยละ 62-81.5 ซึ่งศึกษาหลายที่และศึกษาในช่วงที่มีโรคระบาด อย่างไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ศึกษาในช่วงที่ไม่ค่อยระบาดมาก” รศ.นพ.ทวี กล่าว

Advertisement

นอกจากนี้ รศ.นพ.ทวี กล่าวว่า การศึกษาวัคซีนแอสตร้าฯ ที่บราซิลได้ศึกษาบุคลากรทางการแพทย์ กำลังมีการติดเชื้ออย่างมาก และเชื้อที่ติดมีส่วนหนึ่งเป็นเชื้อกลายพันธุ์ เพื่อดูว่าวัคซีนมีผลต่อเชื้อกลายพันธุ์หรือไม่ พบว่าค่อนข้างดี โดยเฉพาะสายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7. ได้ผลประมาณเกือบร้อยละ 70 ส่วนสายพันธุ์ดั้งเดิมป้องกันได้ประมาณ ร้อยละ 80 แต่สายพันธุ์แอฟริกาใต้ B.1.351 วัคซีนแอสตร้าฯ ไม่ค่อยดี แต่สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์บราซิลค่อนข้างดี ส่วนข้อมูลของไฟเซอร์ และโมเดอร์นา กำลังศึกษาการป้องกันสายพันธุ์กลายพันธุ์ และวัคซีนแอสตร้าฯ พบว่าผลข้างเคียงเข็มที่ 1 มากกว่าเข็มที่ 2 ซึ่งวัคซีนทุกอย่างมีผลข้างเคียงหมด เพียงแต่มีประโยชน์มากกว่า” รศ.นพ.ทวี กล่าว

รศ.นพ.ทวี กล่าวถึงการศึกษาในสก๊อตแลนด์ ว่า กรณีวัคซีนแอสตร้าฯ และไฟเซอร์อันไหนดีกว่ากัน ซึ่งไม่ด้อยกว่ากัน และแอสตร้าฯ ไม่ได้ขี้เหร่กว่าไฟเซอร์ ซึ่งมีผลศึกษาวิจัยหลังจากเข็มที่ 1 และเริ่มป้องกันโรคตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 เป็นต้นไป แม้ระหว่างการใช้เกิดปัญหาขึ้น ว่ามีผลข้างเคียงกรณีเกิดลิ่มเลือดขึ้นได้นั้น ทางองค์การอนามัยโลก เปิดเผยข้อมูลว่า การเกิดลิ่มเลือดในกลุ่มวัคซีนแอสตร้าฯ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน จะพบประมาณ 4 ใน 1 ล้านเข็ม คือ 1 ต่อ 2.5 แสนเข็ม ในขณะที่พบเสียชีวิต 1 ในล้านเข็ม ที่เสียชีวิตจากโรคลิ่มเลือด แต่โรคลิ่มเลือดเกิดขึ้นในคนไข้เป็นโควิด พบว่า คนไข้โควิด 8 คน จะมี 1 คน เป็นโรคลิ่มเลือด เพราะโรคนี้เกี่ยวข้องกับโควิด-19 เช่นกัน ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตโควิด 2 ใน 100 และโรคลิ่มเลือดยังเกิดในคนสูบบุหรี่จัด พบถึงประมาณ 1.7 พันกว่าคนต่อล้านประชากร ที่มีการสูบบุหรี่จัด

Advertisement

“โรคลิ่มเลือด ไม่ใช่โรคในเอเชีย ซึ่งตอนนี้เรายังใช้น้อย แต่เมื่อใช้เยอะๆ เราก็เฝ้าระวังอยู่ แต่ผมเชื่อว่าจะค่อนข้างน้อย ด้วยหลายสาเหตุ โดยส่วนหนึ่งคือ สาเหตุจากพันธุกรรมด้วย” รศ.นพ.ทวี กล่าวและว่า โดยสรุป สิ่งที่เราอยากเห็นคือ การป้องกันป่วยได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งตัวเลขพวกนี้จะออกมาหลากหลาย แต่ตัวเลขสำคัญคือ ป้องกันป่วยหนักได้แค่ไหน ซึ่งทุกตัวป้องกันได้ 100% ทั้งหมด และป้องกันการแพร่เชื้อได้แตกต่างกันไป ดังนั้น การศึกษาข้อมูลวัคซีนต้องพิจารณาด้วยข้อมูลรอบด้าน ซึ่งสรุปคือ ประโยชน์มีมากกว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยวัคซีนโควิดยี่ห้ออื่นๆ นอกเหนือจากที่มีทุกวันนี้ ต้องบอกว่ากำลังเรียงคิวเข้ามา ซึ่งก็ต้องเป็นไปตามการขออนุญาต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image