อธิบดีกรมแพทย์ชี้ลุงหายป่วยโควิดดับคาแท็กซี่ จากเหตุโรคหัวใจและหลอดเลือด

อธิบดีกรมแพทย์ชี้ลุงหายป่วยโควิดดับคาแท็กซี่ จากเหตุโรคหัวใจและหลอดเลือด

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงกรณีผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 รักษาอาการ 10 วัน หลังจากนั้นก็ออกจากโรงพยาบาล (รพ.) แต่กลับเสียชีวิตบนแท็กซี่ระหว่างกลับบ้าน ว่า ขอแสดงเสียความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิต โดยกระบวนการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 กำหนดให้ดูแลผู้ป่วยใน รพ.หรือในสถานที่รัฐจัดให้ อย่างน้อย 14 วัน นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ หรือนับจากวันที่เริ่มมีอาการ

ทั้งนี้ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ผู้ป่วยคนดังกล่าวได้รับการรักษาพยาบาลในฮอสปิเทล (Hospitel) ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติดูแล ซึ่งยืนยันเป็นการรักษาตามมาตรฐาน โดยเมื่อแรกทราบว่า ผู้ป่วยติดเชื้อ สถาบันมะเร็งฯ ได้จัดรถไปรับมาดูแลที่ รพ. ตลอดการรักษาก็พบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น เอ็กซ์เรย์ปอด ปอดก็ปกติ แม้แต่เพื่อนที่ห้องพักเดียวกันก็เห็นว่า ผู้ป่วย (คุณลุง) แข็งแรงดี

“ตอนจะกลับก็มีการร่ำลาเพื่อนร่วมห้อง ที่พักในห้องเดียวกัน และเจ้าหน้าที่สถาบันมะเร็งฯ ย้ำถามแล้วว่า ให้แจ้งญาติมารับหรือไม่ แต่ผู้ป่วยยืนยันกลับบ้านเอง ทั้งนี้ ตามปกติของผู้ป่วยโควิด-19 จะไม่มีทางที่จะมีอาการเฉียบพลัน หรือ ทรุดลงโดยไม่มีสาเหตุ เบื้องต้นทราบว่า ได้มีการส่งศพคนไข้ดังกล่าวให้สถาบันนิติเวชตรวจชันสูตรแล้ว และทราบว่า การเสียชีวิตน่าจะเกี่ยวกับโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวยืนยันว่า การรักษาโควิด-19 ของผู้ป่วยทุกคน ปฏิบัติตามแนวทางเวชปฏิบัติ ที่ผู้เชี่ยวชาญกำหนด ทั้งการวินิจฉัย ดูแลรักษา และ การป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล ซึ่งชัดเจนว่า ในผู้ป่วยรายนี้ ทำตามหลักเกณฑ์ คือ อยู่กระบวนการรักษาจนครบ เพราะหากเมื่อนับการรักษาตั้งแต่ ทราบผลว่าติดเชื้อ ได้ถูกรับมารักษาพยาบาล หลังจากผ่านทราบผลติดเชื้อไปแล้ว 3 วัน และ อยู่ รพ.รวม 11 วัน ก็เท่ากับครบ 14 วัน พอดี ส่วนเกณฑ์การพิจารณาจำหน่ายผู้ป่วยออกจาก รพ. ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นและภาพรังสีปอดไม่แย่ลง อุณหภูมิไม่เกิน 37.8 องศาเซลเซียส ต่อเนื่อง 24-48 ชั่วโมง

Advertisement

สำหรับแนวทางเวชปฏิบัติการรักษาผู้ป่วยโควิด -19 แบ่งออกเป็น 4 กรณี ได้แก่ 1.ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีอาการอื่น หรือหสบายดี แนะนำให้นอน รพ.หรือ สถานที่รัฐจัดให้ อย่างน้อย 14 วัน นับตั้งแต่วันที่ตรวจพบเชื้อ และให้จำหน่าย จากโรงพยาบาลได้ หากมีอาการปรากฎขึ้นมาให้ตรวจวินิจฉัยและรักษาตามสาเหตุ ดูแลรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ให้ยาต้านไวรัส เนื่องจากส่วนมากหายได้เองและอาจได้รับผลข้างเคียงจากยา

2.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญ ภาพถ่ายรังสีปอดปกติ ให้ดูแลรักษาตามอาการ ส่วนมากหายได้เอง แนะนำให้นอนโรงพยาบาล หรือในสถานที่รัฐจัดให้ อย่างน้อย 14 วัน นับจากวันที่เริ่มมีอาการ หรือจนกว่าอาการ จะดีขึ้นอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง พิจารณาจำหน่ายผู้ป่วยได้ พิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ตามดุลยพินิจของแพทย์

3. ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมี ปัจจัยเสี่ยงข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ ได้แก่ อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้น โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมโรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ภาวะอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 90 กก.) ตับแข็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ หรือผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงของโรคมากขึ้น แนะนำให้นอนโรงพยาบาล อย่างน้อย 14 วัน นับจากวันที่เริ่มมีอาการ หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น แนะนำให้ยายาฟาวิพิราเวียร์ โดยเริ่มให้ยาเร็วที่สุด ให้ยานาน 5 วัน หรือ มากกว่า ขึ้นกับอาการทางคลินิกตาม ความเหมาะสม หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

และ 4.ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดบวมที่หรือมีภาวะลดลงของออกซิเจน แนะนำให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image