ราชวิถี เพิ่มห้องไอซียูรับผู้ป่วยโควิดกลุ่มเหลือง-ส้ม ยันเครื่องมือครบ ระบบส่งต่อพร้อม

ราชวิถี เพิ่มห้องไอซียูรับผู้ป่วยโควิดกลุ่มเหลือง-ส้ม ยันเครื่องมือครบ ระบบส่งต่อพร้อม

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) ราชวิถี และ รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวย รพ.รามาธิบดี ประธานคณะกรรมการโรงพยาบาลในกลุ่มสถาบันแพทย์แห่งประเทศไทย (UHOSNET) ตรวจเยี่ยมหน่วยไอซียูส่วนต่อขยาย ภายใน รพ.ราชวิถี เพื่อรองรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 กลุ่มสีเหลืองเข้มและสีส้ม

นายสาธิต กล่าวว่า รพ.ราชวิถี ได้สร้างไอซียูส่วนต่อขยาย 10 เตียง รองรับผู้ป่วยโควิด-19 อาการระดับสีเหลืองเข้มไปจนถึงสีส้ม เพิ่มศักยภาพของ รพ.โดยได้รับการสนับสนุนจากเอสซีจี (SCG) ก่อสร้างในเวลารวดเร็ว มีการจัดระบบและบุคลากรปรับทีมมาดูแลโดยเฉพาะ มีระบบหมุนเวียนหากอาการดีขึ้นก็จะส่งต่อไปดูแลในหอ (วอร์ด) ผู้ป่วยโควิด-19 ธรรมดา หรืออาการหนักขึ้น ก็ส่งต่อไอซียูที่ดูแลอาการหนักทันที

“ดังนั้น ระบบการรักษาเป็นส่วนปลายทาง เนื่องจากการสู้กับโควิด-19 มี 1.ประชาชนร่วมมือ ป้องกันตามคำแนะนำของ สธ.2.มาตรการรัฐที่ออกมาลดการพบปะของคน 3.การควบคุมโรค ที่ทำงานร่วมกันของเครือข่ายต่างๆ หาก 3 ส่วน ดังกล่าวทำได้ดี ระบบรักษาก็ทำงานเบาลง ประชาชนต้องช่วยกันเพื่อลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วยที่อาการหนักมากขึ้น เป็นไปตามสัดส่วนที่พบผู้ติดเชื้อมากขึ้น แม้ว่าขณะนีั้ยังมีเตียงพอรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและแดง แต่หากเรายังควบคุมโรคไม่ได้ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครสถานการณ์ก็จะไม่จบง่ายๆ เราจึงต้องช่วยกันควบคุมโรคให้ได้” รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ.กล่าว

Advertisement

นพ.สมเกียรติ กล่าวว่า ไอซียูส่วนต่อขยายระยะแรกมี 10 เตียง เปิดบริการในวันที่ 11 พฤษภาคมนี้ จัดสร้างโดยใช้พื้นที่ลานจอดรถ ใกล้อาคารตรวจผู้ป่วยโควิด-19 เน้นดูแลผู้ป่วยอาการระดับสีเหลืองเข้มและสีส้ม เครื่องมือที่ใช้ในส่วนต่อขยายเหมือนห้องไอซียูทั้งหมด เพียงแต่ใช้เครื่องออกซิเจน ไฮโฟลว์ (Oxygen High Flow) สำหรับผู้ป่วยที่ค่าออกซิเจนในเลือดต่ำระดับ ร้อยละ 80-90 หากอาการแย่ลงก็สามารถเคลื่อนย้ายไปห้องไอซียูที่ใช้ท่อช่วยหายใจ ซึ่งอยู่ใกล้เคียง ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจที่อาการดีขึ้นสามารถเอาท่อออกได้ ก็หมุนเวียนส่งมาดูแแลที่ส่วนต่อขยายนี้ได้

“ขณะนี้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ รพ.ราชวิถี ดูแลอาการหนักระดับเหลืองเข้มถึงแดงรวม 69 เตียง ที่ รพ.ราชวิถี 2 ดูแลระดับเหลืองอีก 72 เตียง ทุกเตียงเต็มหมดจึงต้องเปิดส่วนขยาย แผนต่อไปหากสถานการณ์ไม่ดีก็จะปรับเพิ่มระยะ2 แต่ปัญหาคือ บุคลากรที่จะมาดูแลจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ ขณะนี้ก็เตรียมการฝึกบุคลากรมารองรับแล้ว” นพ.สมเกียรติ กล่าว

ด้าน นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน สมาคมวิชาชีพต่างๆ ก็รณรงค์หารับบริจาคมาสนับสนุนเครื่องช่วยหายใจ จึงยังมีเพียงพอ เราไม่ได้ใช้เครื่องช่วยหายใจแบบท่ออย่างเดียว แต่ยังมีเครื่องไฮโฟลว์ที่มีหลายส่วนบริจาคน่าจะเพียงพอ ส่วนเครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอดหรือ เอคโม (ECMO) ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ตอนนี้ยังไม่มีการเพิ่ม กรณีใช้เครื่องเอคโม ผู้ป่วยต้องอยู่ในขั้นวิกฤตอวัยวะภายในถูกทำลายเกือบหมด และต้องวินิจฉัยโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

Advertisement

“บุคลากรแพทย์พยาบาลขณะนี้ทำงานหนักหรือโหลดมาก แต่ทุกแห่งใช้ระบุหมุนเวียนส่วนอื่นเข้ามาผลัดเปลี่ยน เพื่อไม่ให้ทำงานโหลดจนเหนื่อยเกิน อีกส่วนมีการรณงค์ของสภาวิชาชีพหลายแห่งที่หาอาสาสมัครแพทย์พยาบาลที่เกษียณไปแล้วมาช่วยแบ่งเบา โดยให้ไปทำในส่วนอื่นที่ไม่เกี่ยวกับโควิด-19 เพื่อให้บุคลากรภายในที่ผ่านการอบรมมาหมุนเวียนดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ได้” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวถึงความคุ้มครองจากประกันโควิด-19 ว่า กรณีเสียชีวิตใน รพ.ผู้ป่วยโควิด-19 จะมีใบรับรองแพทย์ระบุว่า เสียชีวิตจากโควิด-19 อีกทั้งมีการรายงานตัวเลขเข้าระบบ ซึ่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ก็รายงานทุกวัน ตรงไปตรงมา กรณีค่ารักษาเป็นอีกประเด็น แต่มีใบตรวจจากแล็บชัดเจนอยู่แล้ว หากมีปัญหาสามารถแจ้งผ่านแพทย์ผู้รักษาได้ โดยหลักการผู้ป่วยเข้ารักษาด้วยโรคโควิด-19 กรณีที่อยู่ในกระบวนการรักษาใน รพ.ต่อเนื่อง จนไม่พบเชื้อแล้ว แต่พบว่าติดเชื้อจากแบคทีเรียซ้ำเติม ด้วยเหตุเพราะรักษามานานและปอดอาจจะเสียหาย สุดท้ายเกิดเสียชีวิตจากการติดเชื้อ ถือว่าเป็นการเสียชีวิตที่สัมพันธ์กับเชื้อโควิด-19 ก่อนหน้า เป็นการรักษาครั้งเดียว ก็ถือว่าประกันยังคุ้มครอง ไม่น่าจะมีปัญหา ยกเว้น ผู้ป่วยรักษาหายจากโควิด-19ออกจาก รพ. ไปแล้ว แต่มาเสียชีวิตภายหลังด้วยสาเหตุอื่นๆ ก็ไม่น่าจะคุ้มครอง

ด้าน รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของโรงเรียนแพทย์หลายแห่งในกรุงเทพฯ ขยายเตียงผู้ป่วยไอซียูอย่างเต็มที่ โดยการปรับส่วนต่างๆ ภายในให้รองรับไอซียูมากขึ้น จนเต็มศักยภาพอย่างเต็มที่ อย่างที่ รพ.รามาฯ รพ.ธรรมศาสตร์ รพ.วชิรพยาบาล ก็เพิ่มเตียงไอซียูไปแแล้วรวม 49 เตียง รวมถึงจัดระบบหมุนเวียนการรักษาให้ดีที่สุด

“เหตุการณ์เวลานี้ค่อนข้างวิกฤต ผู้ป่วยมีจำนวนมาก ด้วยความจำกัดของทรัพยากร ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกฝ่ายก็ทำอย่างเต็มที่ ส่วนการรักษาด้วยเครื่องเอคโม ในผู้ที่มีอาการหนัก ต้องได้รับวินิจฉัยจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งทีมแพทย์พยาบาลก็พยายามรักษาผู้ป่วยทุกคนอย่างเต็มที่ เหตุการณ์ครั้งนี้เปรียบเสมือนอุบัติภัยหมู่ เป็นโรคติดเชื้อ สมาคมวิชาชีพแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็มีแนวทางปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องกัน” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image