หมอ 3 สถาบันยันโควิดไทยรอบ เม.ย.วิกฤต ติดเชื้อ 25% อาการรุนแรง ใส่ท่อหายใจ 400 คน

หมอ 3 สถาบันยันโควิดไทยรอบ เม.ย.วิกฤต ติดเชื้อ 25% อาการรุนแรง ใส่ท่อหายใจ 400 คน

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ภายในงาน “ผ่าวัคซีนโควิด-19” กับ 3 สถาบันแพทย์ ที่โรงแรมสุโกศล

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า สำหรับงาน “ผ่าวัคซีนโควิด-19” วัตถุประสงค์เพื่อให้สังคมไทยได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นข้อมูลล่าสุด สำหรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ฉีดแล้ว 1,200 ล้านโดสทั่วโลก ดังนั้น ต้องให้คนไทยเข้าใจและรู้จริงเพื่อใช้พิจารณาตัดสินใจร่วมกันฉีดวัคซีน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ สถานการณ์ของประเทศไทยขณะนี้มีผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจประมาณ 400 รายทั่วประเทศ ซึ่งไม่ใช่ตัวเลขที่น้อย และมีผู้ป่วยที่อาการรุนแรงประมาณ ร้อยละ 25

“ขณะนี้โรงพยาบาล (รพ.) ศิริราช เปิดเตียงไอซียูเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว ปรับให้หอผู้ป่วยธรรมดาสามารถดูแลผู้ป่วยหนัก เพราะขณะนี้มีผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ ในวันนี้เต็มไม้เต็มมือแล้ว ถ้าเราไม่ช่วยกัน ผู้ป่วยล้นไม้ล้นมือเมื่อไร อัตราการเสียชีวิตก็จะกระโดดมากขึ้น อย่างที่ย้ำเสมอว่า หากต้นน้ำยังขุ่น ปลายน้ำก็ขุ่น หากแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ยังขุ่น แม่น้ำเจ้าพระยาสายหลักก็ขุ่น แล้วจะเอาสารส้มไปแกว่งก็ยาก ดังนั้น เราต้องดูตั้งแต่ต้นน้ำไม่ให้ขุ่น เพื่อไม่ให้ปลายน้ำขุ่น” ศ.นพ.ประสิทธ์กล่าว

Advertisement

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า การระบาดที่ผ่านมาจะมีตัวเลขผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย ร้อยละ 80 คนมีอาการมาก ร้อยละ 20 และในจำนวนนี้มีร้อยละ 5 ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ แต่ล่าสุดตัวเลขมีการเปลี่ยนแปลง โดยคนที่ป่วยไม่มีอาการหรืออาการน้อย ร้อยละ 70 อาการหนักเพิ่มเป็นร้อยละ 25-30

“โดยร้อยละ 5 คือหนักมาก แปลว่าเมื่อเรามีผู้ป่วย 100 ราย เราจะมีคนอาการหนัก 30 ราย ถ้าเรามีผู้ป่วย 1,000 ราย ก็จะมีอาการหนัก 300 ราย และถ้ามีหลัก 10,000 ราย เราจะมีคนอาการหนักกว่า 3,000 ราย” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

ศ.นพ.ปิยะมิตรกล่าวว่า ในสังคมขณะนี้เจอเฟคนิวส์ (Fake News) เยอะมาก เราอยากให้ประชาชนฟังข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงจากผู้เชี่ยวชาญที่คอยติดตามงานทั่วโลก และมีประสบการณ์เรื่องของวัคซีนมานาน อยากเป็นที่พึ่งให้สังคมให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจเข้ารับการฉีดวัคซีน เป็นการช่วยเหลือสังคมเพื่อยับยั้งการติดเชื้อโควิด-19

Advertisement

ที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ มีผู้ป่วยรวม 140 ราย เป็นผู้ที่มีอาการหนัก 32 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 14 ราย โดยเราเช่าโรงแรม 2 แห่ง ทำเป็นฮอสปิเทล (Hospitel) และมีผู้ป่วยประมาณ 300 ราย อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้เรามีผู้ป่วยอาการหนักเยอะขึ้น และมีผู้ป่วยเสียชีวิตเกือบทุกวัน แต่สถานการณ์ติดเชื้อรุนแรงก็ยังอยู่โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร” ศ.นพ.ปิยะมิตรกล่าว

ศ.นพ.สุทธิพงศ์กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้เหมือนมีสงครามที่เราต่อสู้กับข้าศึกที่มองไม่เห็น การฉีดวัคซีนเป็นการติดอาวุธป้องกันตัวเราเอง ป้องกันคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงานและประเทศชาติ เราจึงอยากสนับสนุนให้ทุกคนฉีดวัคซีน เพื่อให้มีภูมิต้านทานต่อสู้กับข้าศึกที่มองไม่เห็น ทั้งนี้ รพ.จุฬาฯ มีผู้ป่วยที่มารับการรักษาสะสม 1,000 ราย และยังเหลือที่รักษาอยู่ รพ.ประมาณ 200 ราย และในฮอสปิเทลอีก 300-400 ราย การระบาดรอบนี้พบว่าเชื้อโรคปอดมากขึ้นและมีผู้ป่วยต้องการเตียงไอซียูมากขึ้น หมายความว่า หากเราช่วยกันป้องกันตั้งแต่ต้นน้ำคือ การฉีดวัคซีน ก็ทำให้ภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่ปลายน้ำก็จะน้อยลง

ผู้สื่อข่าวถามถึงปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยปอดอักเสบมากขึ้นในการระบาดรอบเดือนเมษายน 2564 ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ปัจจัยที่ 1 ถ้าผู้ป่วยมาก จำนวนผู้เสียชีวิตก็จะมากขึ้นตามสัดส่วน ปัจจัยที่ 2 ไวรัสกลายพันธุ์ มีการติดเชื้อมากขึ้น และมีผลต่อจำนวนของผู้ติดเชื้อใหม่ ปัจจัยที่ 3 จุดที่มีกระจาย การ์ดตก และปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มเติมคือโรคอ้วน ในผู้ที่มีดัชนีมวลกายเกิน 35 ซึ่งเป็นปัจจัยใหม่ที่แตกต่างจากรอบที่แล้ว

ขณะที่ ศ.นพ.ปิยะมิตรกล่าวว่า ผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจทั่วประเทศประมาณ 400 ราย ตามสถิติแล้วก็จะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 1 ใน 4 ฉะนั้น จำนวนผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจในขณะนี้ก็จะมีผู้เสียชีวิตต่อไปอีกประมาณ 80-100 ราย ทยอยเสียชีวิต ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต้องพึงตระหนักว่าการระบาดครั้งนี้รุนแรงกว่าครั้งก่อนๆ มากถึง 10-15 เท่า

ด้าน ศ.นพ.สุทธิพงศ์กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงของการระบาดโรคนี้คือคนวัยทำงานออกมารับเชื้อกลับไปแพร่สู่คนในครอบครัว ทำให้ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุติดบ้านที่มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ก็ติดเชื้อมากขึ้น โดยคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่มีโรคภัยไข้เจ็บและมีโอกาสรับเชื้อได้ง่ายอยู่แล้ว ฉะนั้น หากคนวัยทำงานได้รับวัคซีนเป็นการป้องกันในระดับหนึ่ง การนำเชื้อไปสู่คนในบ้านก็จะลดลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image