59 ปี 1 วัน ก็ฉีดได้! สธ.วอนคนไทยลงชื่อรับวัคซีนโควิดผ่านหมอพร้อม

59 ปี 1 วัน ก็ฉีดได้! สธ.วอนคนไทยลงชื่อรับวัคซีนโควิดผ่านหมอพร้อม

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ สธ. และ นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นายแพทย์ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาระดับกระทรวง สธ. แถลงความคืบหน้าการลงทะเบียนจองวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ผ่าน “หมอพร้อม”

นายสาธิต กล่าวว่า การลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 ผ่านหมอพร้อม ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 11.7 ล้านคน และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง จำนวน 4.3 ล้านคน รวม 16 ล้านคน แต่การลงทะเบียนเพื่อรับการฉีดวัคซีนมีเพียง 1.7 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 10 ของจำนวนคนทั้งหมด เหตุผลอาจเพราะความกังวลในอาการไม่พึงประสงค์ของการฉีดวัคซีน และการเข้าถึงระบบหมอพร้อม ผ่านไลน์และแอพพลิเคชั่น ซึ่งผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังอาจยังไม่กระตือรือร้น

นายสาธิต กล่าวว่า การให้วัคซีนแก่ 2 กลุ่มนี้ก่อน เพื่อรักษาและคุ้มครองชีวิต ยืนยันว่าไม่ได้ละเลยคนกลุ่มอื่น ไม่ว่ากลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยง หรือกลุ่มที่ทำงานด่านหน้า หรือกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดที่จำเป็นด้านเศรษฐกิจที่จัดลำดับไว้ แต่ที่เปิดลงทะเบียนหมอพร้อมใน 2 กลุ่มนี้ ก็สัมพันธ์กับจำนวนวัคซีนล็อตใหญ่ที่จะได้รับช่วงแรก คือ เดือนมิถุนายน และเดือนกรกฎาคม

“วันนี้ผมอยากสื่อสารและกระตุ้นคนไทยทั้งประเทศว่า ในช่วง 2 สัปดาห์นี้ ขอให้คนไทยทุกคนช่วยผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ที่หากติดเชื้อมีความเสี่ยงสูงในการเสียชีวิต ขอให้ทุกคนช่วยพา 2 กลุ่มนี้ เข้าถึงระบบหมอพร้อมให้เร็วและมากที่สุด โดยลูกหลานอาจช่วยลงทะเบียนให้ผ่านหมอพร้อม หรือพาไปลงทะเบียนที่โรงพยาบาล (รพ.) ใกล้บ้าน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด ขอให้ช่วยกันเพื่อรักษาคุ้มครองชีวิตคน 2 กลุ่มนี้ ส่วนการฉีดกลุ่มอื่นก็เตรียมงานคู่ขนานไป และอาจจะฉีดได้เร็วตามการจัดหาวัคซีนที่ได้มา ทั้งนี้ การมีวัคซีนไม่สำคัญเท่าการได้ฉีด เพราะถ้ามีแต่ไม่ได้ฉีดก็ไม่มีประโยชน์ เราต้องช่วยคนในบ้าน พาไปรับลงทะเบียนเพื่อให้ได้รับการฉีดเร็วที่สุด” นายสาธิต กล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.โสภณ กล่าวว่า ประโยชน์จากวัคซีนโดยตรงที่มีการศึกษา คือ ลดอาการรุนแรง ลดการเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อมูลในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดของประเทศไทย ขณะนี้มีการใช้เตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก 956 เตียง โดยใช้แล้ว ร้อยละ 85 มีเตียงว่างในภาครัฐ 44 เตียง และเอกชน 95 เตียง

“นี่เป็นเหตุผลที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน เพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรคจนต้องเข้าไอซียู ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้น ซึ่งกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า ปัจจัยเสี่ยงมีโรคประจำตัวร้อยละ 86 และอายุมัธยฐานอยู่ที่ 65 ปี นี่ก็เป็นเหตุผลที่ควรให้วัคซีนกลุ่มนี้ก่อน สำหรับสาเหตุการเสียชีวิตวิเคราะห์ข้อมูล ร้อยละ 58 ติดจากคนในครอบครัว หรือญาติมาเยี่ยม หรือจากเพื่อน และอีก ร้อยละ 18 ไปในแหล่งชุมชน ร้อยละ 5 อาชีพเสี่ยง และอื่นๆ ซึ่งการฉีดวัคซีนจะช่วยให้เตียง รพ.ไม่ต้องรับโหลดมากขนาดนี้ และป้องกันชีวิตคนในครอบครัว คนที่เรารัก จะลดความสูญเสีย ขณะที่ประสบการณ์ต่างประเทศ อย่างอังกฤษ สหรัฐอเมริกา เห็นได้ว่าหลังการฉีดวัคซีน ตัวเลขการป่วยลดลง นี่คือ จุดที่  สธ.เร่งรัดการฉีดวัคซีน” นพ.โสภณ กล่าว

Advertisement

อย่างไรก็ตาม นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนหลักในการฉีดให้ประชาชนที่จองผ่าน “หมอพร้อม” โดยข้อมูลการศึกษาพบว่า เข็มที่ 1 ป้องกันการป่วยได้ถึง ร้อยละ 76 และยังลดความเสี่ยงการเสียชีวิตได้ถึง ร้อยละ 80 จึงต้องเร่งรัดให้มีการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด แม้วัคซีนจะมีผลข้างเคียง แต่เมื่อเทียบกันแล้วผลข้างเคียงน้อยมาก ประโยชน์มากกว่า แต่เพราะมีการออกสื่อ ออกโซเชียลฯ มาก ประชาชนได้รับข้อมูลผลข้างเคียงมากกว่าประโยชน์ จึงทำให้กังวล

“ขอย้ำว่า ไม่ว่าจะวัคซีนแอสตร้าฯ หรือซิโนแวค ลดความรุนแรงของโรค ลดการแพร่โรคได้ด้วย โดยเฉพาะแอสตร้าฯ พบว่าสามารถลดการแพร่โรคได้ถึง ร้อยละ 50 จึงเป็นประโยชน์มากในครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ พ่อแม่ปู่ย่าตายาย อย่างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ยังรับวัคซีนแอสตร้าฯ ไม่ได้ หากฉีดในปู่ย่า พ่อแม่ ก็จะช่วยลดการแพร่โรคได้” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยให้พวกเรากลับมาใช้ชีวิตได้ และทำให้ประเทศขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ซึ่งจังหวัดที่ให้ความสนใจและเร่งรัดให้พี่น้องประชาชนมาฉีดวัคซีน อย่างภูเก็ต คิดว่าจะเดินหน้าเศรษฐกิจได้รวดเร็ว หรือ อ.แม่สอด จ.ตาก หรือ จ.สมุทรสาคร อัตราเกิดโรคจะลดลง ดังนั้น จังหวัดที่เร่งรัดฉีดวัคซีนได้มากก็จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้เร็วขึ้น ส่วนผลข้างเคียงมีน้อยมาก และเรามีระบบการดูแลความปลอดภัยหลังการฉีด ซึ่งมีการสังเกตอาการหลังฉีด 30 นาที เพราะอาจมีผลเกิดขึ้น

“ปัจจุบันไม่มีใครเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน อีกทั้ง เรามีระบบการเยียวยาหากเกิดผลข้างเคียงจากวัคซีน ดังนั้น ขอให้พวกท่านมั่นใจ และชั่งน้ำหนักว่า ประโยชน์มีมากกว่าผลข้างเคียง สิ่งสำคัญเพื่อป้องกันตัวเอง และคนในครอบครัว” นพ.โสภณ กล่าว

ด้าน นพ.พงศธร กล่าวว่า มี 3 เรื่อง คือ 1.ช่องทางการเข้าระบบ “หมอพร้อม” ที่มีทั้งรูปแบบไลน์บัญชีทางการและแอพพ์ ส่วนประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัด จะใช้ระบบอะนาล็อก โดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือ รพ.สต. ในการคีย์ข้อมูล ส่งมาส่วนกลางทั้งหมด อย่างเขตกรุงเทพฯ จากเป้าหมาย 1.2 ล้านคน มีจองเข้ามาประมาณ 6 แสนคน ส่วนต่างจังหวัดมีตัวอย่างลำปางโมเดล อาศัย อสม. และ รพ.สต. คีย์เข้ามาในระบบ ในช่วงสัปดาห์แรกแต่ละจังหวัด โดยอยู่ในช่วง อสม.ออกไปสำรวจ และระหว่างนี้กำลังคีย์ข้อมูลเข้ามาในส่วนกลาง

2.องค์ประกอบของการจองฉีดวัคซีน มี 3 ส่วน คือ ไลน์ หรือแอพพ์ และระบบจะทำงานก็ต่อเมื่อ รพ. เปิดให้จอง และ รพ.ต้องเอาชื่อผู้ป่วยขึ้นด้วย 3.ปัญหาที่พบบ่อยกรณีเลือก รพ.แล้ว แต่จองไม่ได้ สาเหตุหลักคือ กรณี รพ.เอกชน จะให้บริการฉีดวัคซีนให้เฉพาะผู้ป่วยที่เคยรับบริการของ รพ.นั้นๆ อาจมีบางแห่งที่อนุญาต อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังมีคิวว่างให้ฉีดวัคซีนอีก 7-8 แสนคิว

“สำหรับปัญหาที่พบบ่อย คือ บุคลากรที่อยู่ในคลินิกเอกชน ทันตแพทย์ ฯลฯ ในพื้นที่กรุงเทพฯ จะทำอย่างไร ซึ่งให้ติดต่อสำนักอนามัย กทม. ส่วนต่างจังหวัดให้ติดต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และในกรณีบางคนเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง แต่ไม่สามารถเข้าได้ สามารถให้ รพ.ที่รักษาประจำเพิ่มรายชื่อเข้ามาได้ ส่วน    คอลเซ็นเตอร์ของหมอพร้อม ติดต่อ โทร 0-2792-2333 โดยวันพรุ่งนี้ (12 พฤษภาคม 2564) เราจะเพิ่มเป็น 100 คู่สาย และตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม จะสามารถติดต่อได้ 24 ชั่วโมง และจะเพิ่มเป็น 160 คู่สาย” นพ.พงศธร กล่าว

นพ.พงศธร กล่าวถึงกรณีประชาชนสอบถามว่านับอายุ 60 ปี อย่างไร ว่า ระบบเซ็ตไว้ว่า ผู้ที่เกิดวันที่ 1 มกราคม 2505 เป็นต้นไป หรืออายุประมาณ 59 ปี 1 วัน ก็สามารถลงทะเบียนได้แล้ว สำหรับกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ประกอบด้วย โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง เบาหวาน และโรคอ้วน

ผู้สื่อข่าวถามว่า จำนวน 16 ล้านโดส ถ้าเหลือจะปรับให้กับกลุ่มอื่นๆเพื่อมารับการฉีดวัคซีนโควิดอย่างไร นพ.พงศธร กล่าวว่า ข้อมูลช่วงแรกที่เข้ามาเป็นกลุ่มที่เข้าถึงเทคโนโลยี และลูกหลานจองให้ ขณะที่ต่างจังหวัดไม่ได้ใช้เทคโนโลยี แต่จะมี อสม. และ รพ.สต.จึงขอเวลาให้คนกลุ่มนี้ในการเข้าถึงก่อน ไม่เช่นนั้นจะทิ้งพวกเขาไว้ทีหลัง จึงขอเวลาในการที่ทางต่างจังหวัดกำลังทยอยข้อมูลเข้ามา แต่หากเวลาผ่านไปและวัคซีนยังเหลือ คณะกรรมการ ได้มีการพิจารณาไว้แล้ว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image