ส่องชาวแอฟริกัน ค้าพลอยเมืองจันท์

ส่องชาวแอฟริกัน ค้าพลอยเมืองจันท์

จากปรากฏการณ์กลุ่มคลัสเตอร์ พ่อค้าพลอยแอฟริกัน ใน จ.จันทบุรี ติดเชื้อโควิด-19 สถิติพุ่งสูงเกิดขึ้นในช่วงของการแพร่ระบาดของสายพันธุ์อังกฤษ ที่เกิดขึ้นกระจายครอบคลุมเกือบทั่วประเทศ ได้สร้างความตื่นตระหนกหวาดกลัวให้กับประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พอได้ยินว่าชาวแอฟริกันติดเชื้อ ต่างวิตกกังวลว่าจะเป็นเชื้อโควิดสายพันธุ์แอฟริกา หรือ อินเดียหรือไม่ กระทั่งได้รับการยืนยันว่าเชื้อที่พบไม่ใช่สายพันธุ์แอฟริกาและอินเดีย จึงทำให้เบาใจ

อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อโควิดเมื่อเริ่มต้นแล้วจะเกิดการลุกลาม ที่ จ.จันทบุรี การติดเชื้อของพ่อค้าพลอยแอฟริกันลุกลาม วันเดียวพบว่าติดเชื้อ 91 ราย ถือว่าเป็นการพบผู้ติดเชื้อสูงสุดของจังหวัด ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่พบว่าติดเชื้อ จำแนกเป็น พบจากการตรวจคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มชาวแอฟริกัน จำนวน 47 ราย และกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในครอบครัวชาวไทย 44 ราย ทำให้ จ.จันทบุรี มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 533 ราย แยกเป็นคนไทย 377 ราย ต่างชาติ 156 ราย เป็นชาวแอฟริกา สัญชาติกินี สัญชาติมาลี สัญชาติไอเวอรี่โคสต์ และสัญชาติแกมเบีย ยังไม่รวมส่วนที่ต้องรอจำแนกสัญชาติอีก 12 ราย จังหวัดจันทบุรีได้ออกคำสั่งปิดตลาดค้าพลอย เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด

สุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ให้ความกระจ่างต่อข้อสงสัยเกี่ยวกับต้นตอของการระบาดที่จังหวัดจันทบุรีว่า สาเหตุมาจากคนผิวสีไม่เข้าใจมาตรการของทางราชการ โดยพบว่าผู้ป่วยรายแรกๆ รับเชื้อมาจากการซื้อขายพลอยภายในประเทศไทย โดยช่วงแรก ผู้ป่วยไม่แสดงอาการ จึงใช้ชีวิตตามปกติ มีการพบปะผู้คนจำนวนมาก รวมทั้งการประกอบพิธีทางศาสนา หรือละหมาด ในช่วงรอมฎอน ทำให้มีการกระจายเชื้อเป็นกลุ่มก้อน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยชาวแอฟริกันที่ได้รับเชื้อ เป็นเชื้อสายพันธุ์อังกฤษที่พบในประเทศไทย แต่เพื่อความมั่นใจ ทางจังหวัดได้ส่งผลตรวจไปที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อยืนยันผลการตรวจสอบอีกครั้ง ขณะที่การคัดกรองเชิงรุกเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาด ยังคงดำเนินไปอย่างเร่งด่วน

Advertisement

ทางด้าน ธิติ เอกบุญยืน ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.จันทบุรี อดีตนายกสมาคมผู้ค้าอัญมณี และเครื่องประดับจันทบุรี เล่าที่มาของกลุ่มชาวแอฟริกันกับธุรกิจการค้าอัญมณีว่า การเข้ามาของชาวแอฟริกัน เพื่อมาทำธุรกิจค้าพลอยในจันทบุรี แรกเริ่มเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วหรือเมื่อราว พ.ศ.2543 จากการเก็บข้อมูลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดจันทบุรี เมื่อปี 2561 พบชาวแอฟริกันเข้ามาอยู่ใน จ.จันทบุรี ราว 776 คน ส่วนใหญ่ได้ VISA TOURISM หรือ VISA Non immigrant O โดยในปี พ.ศ.2561 มีการจัดตั้งจดทะเบียนบริษัทค้าพลอยจำนวน 306 แห่ง และออกใบอนุญาตทำงานเกี่ยวกับธุรกิจดังกล่าวจำนวน 562 คน ชาวแอฟริกาที่อาศัยในจันทบุรี ส่วนใหญ่มีสัญชาติ ประกอบด้วย สัญชาติกินี และสัญชาติ มาลี ชาวแอฟริกันที่เข้ามาอาศัยนั้นส่วนใหญ่เข้ามาเพื่อทำการค้าพลอย เนื่องจาก จ.จันทบุรี เป็นศูนย์กลางการซื้อขายแลกเปลี่ยนพลอย อัญมณี มีผู้คนเข้ามาวนเวียนอยู่ในวงจรธุรกิจการค้าขายเป็นจำนวนมาก

ธิติ เล่าว่า การเข้ามาของชาวแอฟริกัน เริ่มจากพลอยของจันทบุรี มีจำนวนลดน้อยลงจนไม่คุ้มค่าต่อการขุด พ่อค้าพลอยจากจันทบุรีจึงออกไปแสวงหาพลอย และอัญมณีจากต่างประเทศ แล้วนำมาเจียระไนและปรับปรุงคุณภาพเพื่อขาย เริ่มจากพม่า ศรีลังกา และในที่สุดก็ไปถึงทวีปแอฟริกา โดยพื้นที่ที่พ่อค้าพลอยจันท์เดินทางไปมาก ได้แก่ เคนยา แทนซาเนีย และมาดากัสการ์ รวมถึงบางส่วนของคองโกและรวันดา ต่อมา เมื่อชาวแอฟริกันรู้ว่าพ่อค้าไทยต้องการพลอย ได้บอกกันปากต่อปาก และพากันเดินทางเข้ามาประเทศไทย เพื่อนำพลอยมาเสนอขายให้ช่างและโรงงานเครื่องประดับของจันทบุรีโดยตรง เริ่มตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1990 จนถึงปัจจุบัน

Advertisement

ชาวแอฟริกันที่เข้ามาในจันทบุรี อาศัยการเช่าโรงแรม และอพาร์ตเมนต์โดยหมุนเวียนสลับกันอยู่ ในการเช่าพื้นที่ห้องแถวใต้อพาร์ตเมนต์ หรือตึกแถวเปิดเป็นบริษัทขายส่งพลอย และเป็นพื้นที่เจรจาค้าขายไปพร้อมกันชนิดและประเภทของพลอยจากแอฟริกาที่นำมาค้าขายในประเทศไทย พลอยที่ขึ้นชื่อมีอาทิ ทับทิม หรือรูบี้ไรท์ (Ruby), อะคัวมารีน (Aquamarine)/ทัวร์มาลีน, ไพลิน (Blue Sapphire), เขียวส่อง หรือมรกตจันท์ (Green Sapphire) และบุษราคัม (Yellow Sapphire)

ส่วนเรื่องรายได้จากธุรกิจค้าพลอยกับชาวแอฟริกานั้น ไม่สามารถตีเป็นตัวเลขได้ โดยรวมมูลค่าจะทำให้ธุรกิจดังกล่าวได้สร้างงานสร้างรายได้ให้ชาวจันทบุรี เนื่องจากพลอยซึ่งเป็นวัตถุดิบจากการซื้อขายกับชาวแอฟริกา จะถูกนำมาเจียระไน และแปรรูปผลิตเป็นอัญมณี เพื่อส่งขายเพิ่มมูลค่า เนื่องจากจันทบุรีเป็นศูนย์กลางช่างเจียระไนฝีมือดีที่สุดในประเทศ หรือในโลก ซึ่งจะเป็นการสร้างเม็ดเงิน หรือรายได้กระจายในจังหวัดในอีกหลายๆ ส่วน

ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดในจันทบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งปิดพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจังหวัดจันทบุรี โดยเฉพาะตลาดพลอย ถนนศรีจันทร์ และบริเวณใกล้เคียง เป็นเวลา 14 วัน ห้วงเวลานี้การค้าพลอยในพื้นที่ดังกล่าวจำเป็นต้องหยุดลงชั่วคราว ส่วนธุรกิจค้าพลอยจะพลิกสถานการณ์

อย่างไรต่อไปคงต้องติดตาม รวมทั้งผลกระทบจากการระบาดในหมู่พ่อค้าพลอยชาวแอฟริกันในไทยครั้งนี้ จะทำให้ตลาดพลอยจันทบุรีกลับมาคึกคักอีกครั้งเมื่อใด คงขึ้นอยู่กับระยะเวลาการยับยั้งโรคโควิด-19 ของจังหวัดว่าจะสามารถทำได้สำเร็จเร็วหรือช้าเพียงใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image