สธ.มึน 15 คนงานติดโควิดพันธุ์อินเดีย ชี้มีโอกาสทุกช่องทาง ยันวัคซีนเอาอยู่

สธ.มึน 15 คนงานติดโควิดพันธุ์อินเดีย ชี้มีโอกาสทุกช่องทาง ยันวัคซีนเอาอยู่ สั่ง สสจ.ระดมหาเชื้อจุดเสี่ยง

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรณีการตรวจพบคนงานแคมป์ก่อสร้างย่านหลักสี่ ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หรือเรียกว่ามีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา จากสายพันธุ์ดั้งเดิมที่พบในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ขณะนี้มีการกลายไปหลายสายพันธุ์ ซึ่งจะมีสิ่งที่ต้องสนใจคือ 1.การแพร่กระจายเชื้อเร็วขึ้นหรือไม่ 2.ความรุนแรงที่ทำให้เสียชีวิตมากขึ้นหรือไม่ และ 3.กลายพันธุ์แล้วทำให้การใช้วัคซีนป้องกัน ไม่มีประสิทธิภาพหรือป้องกันโรคได้ไม่ดีหรือไม่

“สายกลายพันธุ์ที่ทั่วโลกจับตาคือ สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์อินเดีย สายพันธุ์บราซิล และสายพันธุ์แอฟริกาใต้ โดยล่าสุดที่มีการพูดถึงสายพันธุ์สิงคโปร์ เนื่องจากมีการระบาดเพิ่มขึ้นจำนวนมาก แต่เรื่องนี้ทางประเทศสิงคโปร์ได้ปฏิเสธไปแล้ว” นพ.โอภาสกล่าว และว่า สธ.ได้ร่วมกับห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ของมหาวิทยาลัย ในการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อในจังหวัดแถบชายแดน จุดระบาดต่างๆ ว่าเป็นสายพันธุ์ใด เพื่อรวบรวมข้อมูลเป็นระยะๆ มาต่อเนื่อง รวมถึงใช้หลักการทางระบาดวิทยา เพื่ออ้างอิงสายพันธุ์ที่มีการระบาดในบ้านเรา ขณะนี้ส่วนใหญ่จะเป็นสายพันธุ์อังกฤษ ที่แพร่กระจายเชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม

นอกจากนั้น นพ.โอภาสกล่าวว่า ยังพบอีกหลายสายพันธุ์ คือ สายพันธุ์จี (G) และสายพันธุ์ดั้งเดิม ส่วนสายพันธุ์อินเดียที่พบในหลายประเทศ เช่น พบมากในประเทศอังกฤษ

Advertisement

“รอบบ้านเรา ในประเทศมาเลเซีย ที่ระบาดในสนามบินชางงี ประเทศสิงคโปร์ ส่วนประเทศเมียนมา และกัมพูชา การถอดรหัสพันธุกรรมค่อนข้างจำกัด แต่เชื่อได้ว่ามีสายพันธุ์อินเดียอยู่เหมือนกัน ดังนั้น ประเทศไทยก็มีโอกาสพบสายพันธุ์อินเดียหลุดลอดเข้ามาแพร่ระบาดได้ ซึ่งมีการจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด” อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว และว่า ล่าสุด ข้อมูลที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานเมื่อช่วงเช้า การค้นพบผู้ติดเชื้อในประเทศไทย สายพันธุ์อินเดีย B1.617.2 เกิดจากการทำงานร่วมกันของ สธ. และห้องแล็บมหาวิทยาลัย ที่ถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสจากการระบาดภายในแคมป์คนงาน ย่านหลักสี่ โดยนำตัวอย่างทั้งหมด 61 ตัวอย่าง ไปตรวจหาสายพันธุ์ พบว่ามี 15 ตัวอย่าง/ราย เป็นสายพันธุ์ตรงกับสายพันธุ์อินเดีย ในจำนวนนี้ เป็นเพศชาย 7 ราย หญิง 8 ราย อายุเฉลี่ย 46 ปี จำนวนนี้เป็นคนงานในแคมป์ก่อสร้าง 12 ราย ส่วนอีก 3 ราย เป็นผู้สัมผัสโรคร่วมบ้านกับคนในแคมป์

นพ.โอภาสกล่าวว่า ส่วนใหญ่มีอาการน้อย และขณะนี้เข้ารักษาในโรงพยาบาลแล้ว เบื้องต้นที่ทราบข้อมูลแรงงานกลุ่มดังกล่าวไม่ได้เป็นแรงงานผิดกฎหมาย อยู่ในประเทศไทยมาระยะหนึ่งแล้ว ส่วนใหญ่อาศัยในแคมป์และออกมาข้างนอกบ้าง ทั้งนี้ ต้องมีการสอบสวนคุมควบโรค เร่งรัดติดตามผู้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ 15 รายนี้อย่างเข้มข้น

Advertisement

“สายพันธุ์อินเดียมีการระบาดมากในประเทศอังกฤษ เราจึงอาศัยข้อมูลจากเขาเป็นหลัก โดยผู้เชี่ยวชาญหน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ (Public Health England: PHE) ที่ควบคุมโรคในประเทศอังกฤษ พบว่า สายพันธุ์อินเดียแพร่กระจายโรคไม่แตกต่างจากสายพันธุ์อังกฤษ แบบมีนัยยะสำคัญ ความรุนแรงของโรค ก็ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าสายพันธุ์อินเดียรุนแรงกว่าสายพันธุ์อังกฤษ ส่วนการไม่ตอบสนองของวัคซีน หรือ ศัพท์ชาวบ้านคือดื้อต่อวัคซีน พบว่าสายพันธุ์อินเดีย ยังไม่ดื้อกับวัคซีนโดยเฉพาะถ้าเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ยังป้องกันสายพันธุ์อินเดียรวมถึงสายพันธุ์อังกฤษได้ เพราะที่อังกฤษมีการระบาดของ 2 สายพันธุ์นี้ แต่มีการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯจำนวนมากแต่จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง” นพ.โอภาสกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงที่มาของสายพันธุ์อินเดียที่พบในครั้งนี้ นพ.โอภาสกล่าวว่า เมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อน พบสายพันธุ์นี้ในสถานกักกันโรค เป็นคนไทยที่เดินทางมาจากประเทศปากีสถาน ข้อมูลในประเทศมาเลเซีย ก็ค้นพบสายพันธุ์นี้มานานแล้ว แต่ที่ประเทศเมียนมาไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการถอดรหัสพันธุกรรม

“แต่เราทราบกันว่า สายพันธุ์นี้กระจายไปทั่วโลกพอสมควร จึงมีโอกาสหลุดลอดเข้ามาได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เป็นไปได้ทุกช่องทาง แต่การระบุว่าจากทางไหน ต้องใช้ข้อมูลจาก 2 ส่วน คือ การถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อทั้งตัวเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ และใช้ข้อมูลระบาดวิทยาประกอบกัน เพื่อจะสรุปได้อย่างชัดเจนว่าเชื้อมาจากที่ใด ซึ่งขณะนี้ยังไม่ขอสรุปว่ามาจากทางใด” นพ.โอภาสกล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม ศบค.สั่งการให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อในแคมป์คนงานทุกแห่งในกรงเทพฯ ส่วนทาง สธ.ได้สั่งการไปยังสำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด (สสจ.) ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ประชาชน เช่น ในโรงงาน แคมป์คนงาน หรือตลาด เพื่อเก็บข้อมูลในส่วนนี้ด้วย

ทั้งนี้ นพ.โอภาสกล่าวว่า มาตรการป้องกันควบคุมโรคสายพันธุ์อินเดีย ยังเหมือนเดิมกับสายพันธุ์อื่น ด้วยการเข้มงวดมาตรการส่วนบุคคล การสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยที่ติดเชื้อในสายพันธุ์อินเดีย ที่ไม่มีอาการก็จะใช้เวลารักษา 14 วัน และให้กลับไปแยกกักที่บ้านต่ออีก 14 วัน ทั้งนี้ มีการปรับแนวทางการให้ยาฟาวิพิราเวียร์เร็วขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยเสี่ยงอาการรุนแรง

เมื่อถามว่า สายพันธุ์อินเดียมีผลกับประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคอย่างไร นพ.โอภาสกล่าวว่า ข้อมูลวัคซีนชิโนแวค รวมถึงข้อมูลที่รวบรวมเพื่อเทียบเคียงจากหลายประเทศ พบว่าน่าจะยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์อินเดีย แต่จะมีการตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง ซึ่งแคมป์คนงานก็เป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่เราจะเร่งปูพรมฉีดวัคซีนในพื้นที่กรุงเทพฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image