ไทยติดเชื้อ 3,759 ราย ดับ 34 ราย กทม.เจอ 3 คลัสเตอร์ใหม่ เร่งตรวจเชิงรุก

ไทยติดเชื้อ 3,759 ราย ดับ 34 ราย กทม.เจอ 3 คลัสเตอร์ใหม่ เร่งตรวจเชิงรุก

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 28 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,759 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,447 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,374 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 1,073 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 1,294 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 18 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ติดเชื้อชาวฟิลิปปินส์ซึ่งมาจากเรือขุดเจาะน้ำมันของอินโดนีเซีย โดยผู้ติดเชื้อดังกล่าวได้ทำการรักษาอยู่บนเรือในน่านน้ำสงขลา ไม่ได้ขึ้นมาบนบกแต่อย่างใด ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 144,976 ราย หายป่วยสะสม 97,872 ราย เฉพาะวันนี้หายป่วย 4,044 ราย อยู่ระหว่างรักษา 46,150 ราย อาการหนัก 1,226 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 405 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 34 ราย เป็นชาย 18 ราย หญิง 16 ราย อยู่ใน กทม. 24 ราย ในจำนวนนี้อยู่ในเรือนจำ 1 ราย สมุทรปราการ 3 ราย นครศรีธรรมราช 2 ราย ชลบุรี นครราชสีมา ตาก นครสวรรค์ ร้อยเอ็ด จังหวัดละ 1 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ซึ่งเป็นผู้ติดเตียง 1 ราย หญิงตั้งครรภ์ 1 ราย และมีถึง 8 ราย เสียชีวิตในสัปดาห์เดียวหลังจากทราบผลว่าติดเชื้อโควิด-19 ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 954 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 169,623,481 ราย เสียชีวิตสะสม 3,525,023 ราย

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้วิเคราะห์ลักษณะผู้เสียชีวิตจากการระบาด 3 ระลอกที่ผ่านมา โดยรอบแรก มกราคม-14 ธันวาคม63 อัตราผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 1.42 เปอร์เซ็นต์ ระลอกที่สอง 15 ธันวาคม63 – มีนาคม64 อัตราผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 0.14 เปอร์เซ็นต์ และระลอกที่สาม 1 เมษายนถึงปัจจุบัน อัตราผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 1.23 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ระยะเวลาเฉลี่ยตั้งแต่พบเชื้อและเข้ารับการรักษา ระลอกแรก 6 วัน ระลอกที่สอง 4 วัน และระลอกที่สาม 1.6 วัน ส่วนระยะเวลาตั้งแต่พบเชื้อถึงเสียชีวิต ระลอกแรก 15 วัน ระลอกที่สอง 12 วัน และระลอกที่สาม 12 วัน อย่างไรก็ตาม ระลอกล่าสุดพบผู้เสียชีวิตในวันแรกถึง 54 ราย ปัจจัยหลักยังเป็นผู้มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยติดเตียง ที่ญาติอาจไม่ได้สังเกตอาการเพราะเห็นว่าเป็นผู้ป่วยติดเตียงอยู่แล้ว เมื่อมีอาการเปลี่ยนแปลงจึงสังเกตยาก กรมควบคุมโรคจึงแนะนำว่าต้องสังเกตระบบทางเดินหายใจ ซึมลง รับประทานอาการได้น้อย เหนื่อยหอบมากขึ้น ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลและเข้ารับการตรวจโควิด-19 แม้จะไม่มีประวัติสัมผัสผู้ติดเชื้อก็ตาม และขอให้มีอุปกรณ์ตรวจวัดออกซิเจนเพื่อนำมาคอยตรวจด้วย ส่วนอีกกลุ่มคือผู้ที่ไม่ได้สัมผัสเชื้อโดยตรง เมื่อมีอาการจึงหายารับประทานเอง เมื่อไปถึงโรงพยาบาลก็อาการหนักแล้ว จึงแนะนำว่าหากใครมีอาการทางเดินหายใจขอให้ตรวจโควิด-19 ทุกรายแม้ไม่เสี่ยงก็ตาม

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ในส่วนข้อมูลผู้ลักลอบเข้าเมืองในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ลดลงเหลือ 54 ราย แต่แม้ตัวเลขจะน้อย แต่เราไม่อยากให้มีการลักลอบเลย อย่างไรก็ตาม สำหรับ 5 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดวันที่ 28 พฤษภาคม ได้แก่ กทม. 973 ราย เพชรบุรี 658 ราย สมุทรปราการ 221 ราย นนทบุรี 102 ราย สมุทรสาคร 55 ราย และวันเดียวกัน มีจังหวัดที่ไม่พบรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 29 จังหวัด มีจังหวัดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 10 ราย 30 จังหวัด ซึ่ง จ.เชียงใหม่จากเดิมที่มีรายงานผู้ติดเชื้อจำนวนมากก่อนหน้านี้ ปัจจุบันได้ขยับมาเป็นสีเขียวแล้ว ขณะที่สถานการณ์ กทม. กราฟตัวเลขผู้ติดเชื้อยังลอยสูง และพบ 3 คลัสเตอร์ใหม่คือ ตลาดมีน เขตมีนบุรี พบติดเชื้อ 36 ราย บริษัทเอกชน เขตบางแค พบติดเชื้อ 89 ราย และสถานเอกอัครราชทูต เขตวัฒนา 5 ราย ทั้งหมดสำนักงานเขตได้ลงพื้นที่ไปสอบสวนโรคแล้ว ครอบคลุมไม่ให้เกิดการแพร่กระจายสูง  ทั้งนี้ กทม.ยังคงเฝ้าระวังสูงสุด 30 คลัสเตอร์ โดยมี 4 คลัสเตอร์ที่ควบคุมได้ดีพอสมควร คือ สวนหลวง ทวีวัฒนา สาทร จตุจักร ส่วนสถานการณ์ในจังหวัดปริมณฑล มีการรายงานว่า สถานการณ์แพร่ระบาดยังเป็นลักษณะเดิมๆ คือ พื้นที่ที่มีความแออัด หนาแน่น เป็นชุมชน ตลาด จึงขอเน้นย้ำให้ลดการเคลื่อนย้ายทั้งข้ามจังหวัดและระหว่างอำเภอ อย่างไรก็ตาม ในส่วนพื้นที่ จ.สมุทรปราการ มีการปิดตลาดพระประแดง ตลาดสำโรง เพื่อความสะอาด 3 วัน และลงพื้นที่ค้นหาเชิงรุกพร้อมทั้งเตรียมเปิดโรงพยาบาลสนามระดับสีเขียว 2 แห่ง ขณะที่คอนโด 2 แห่งที่มีการรายงานพบผู้ติดเชื้อก่อนหน้านี้ จะดำเนินการค้นหาเชิงรุกในตึกใกล้เคียง 9 ตึก มีผู้อยู่อาศัยประมาณ 8,000 ราย ตั้งเป้าค้นหาเชิงรุกวันละ 1,500 ราย

พญ.อภิสมัย กล่าวถึงกรณีการปรับเปลี่ยนแผนการกระจายวัคซีน ที่ถูกวิจารณ์ว่าปรับเปลี่ยนไปมาสร้างความสับสน ข้อเท็จจริงมีเหตุผลอย่างไร ว่า ศบค. ได้ติดตามข่าวสาร ทุกข้อเสนอแนะ ที่นำเสนอถึงความยากลำบากและอุปสรรคต่างๆ จึงขอเรียนข้อมูลโดยสรุปเรื่องวัคซีนเพื่อให้เกิดความเข้าใจ โดยอันดับแรกขอเน้นย้ำเรื่องการจัดสรรกระจายวัคซีนทั่วโลกถือว่าเป็นการอนุมัติฉุกเฉินโดยการรับรองขององค์การอนามัยโลก(WHO) ทั้งที่ปกติการอนุมัติวัคซีนทางบริษัทจะต้องวิจัย3-5 ปี แต่ครั้งนี้ถือเป็นการอนุมัติใช้ในระยะฉุกเฉินและประสิทธิภาพของวัคซีน ก็เพื่อลดอัตราตาย ลดความรุนแรง เป็นการป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อแล้วนำไปสู่การเสียชีวิตดังนั้นจึงเป็นข้อสรุปไม่ได้ว่าเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ไม่ใช่ว่าฉีดแล้ว จะไม่แพร่เชื้อ แต่มีรายงานทั่วโลกยืนยันตรงกันว่ามีความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกันเมื่อมีการติดเชื้อจะลดอัตราตายและลดความรุนแรงตรงนี้เป็นหลักการของวัคซีน

Advertisement

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับในประเทศไทยถือว่าการฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ โดยทุกคนในประเทศไทยเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพ ปลอดภัย มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค โควิด-19 และ เป้าหมายแรกในการให้วัคซีนคือลดอัตราการป่วยและตายดังนั้นกลุ่มเป้าหมายแรกคือประชากรที่มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยรุนแรง และเสียชีวิตหากติดเชื้อนั่นคือกลุ่มผู้สูงอายุเกิน 60 ปีและผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค

พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า วัตถุประสงค์ที่สองคือ การปกป้องระบบสุขภาพของประเทศ คือกระจายวัคซีนไปที่กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขด้านหน้าทั้ง ภาครัฐและเอกชนรวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค โควิด-19 ซึ่งกลุ่มนี้ถือเป็นเจ้าหน้าที่ดันหน้าที่สัมผัสผู้ป่วย เช่น ตชด. คนที่ทำงาน ในสถานกักกัน จึงเห็นได้ว่าทิศทางการกระจายวัคซีนและบริหารจัดการวัคซีนในระยะแรกที่มีวัคซีน ในปริมาณจำกัด ช่วง กุมภาพันธ์-พฤษภาคม 64 จึงเน้นกระจายไปที่บุคลากรและกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัว 7 โรค และยังมีการสำรองวัคซีนสำหรับควบคุมพื้นที่เสี่ยงที่มีการแพร่ระบาดฉุกเฉิน ตามที่ได้แบ่งโซนไว้ ส่วนจังหวัดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวหรือเป็นจังหวัดตามแนวชายแดนได้เสนอว่าการจัดสรรวัคซีนตามระบบหลักข้างต้นนั้นอาจจะไม่สอดคล้องกับพื้นที่ของเขา อาทิ ภูเก็ต เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี สมุย เสนอขอให้กระจายวัคซีนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังมีการกระจายวัคซีนจำนวนเล็กน้อยไป 77 จังหวัดทั่วประเทศ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงว่าถ้าวัคซีนมาถึงทุกจังหวัดจะต้องมีความพร้อมและทำได้มาตรฐานเดียวกัน จึงส่งไปเพื่อทดสอบระบบการบริหารจัดการวัคซีน ถือเป็นการเตรียมความพร้อมด้านการขนส่ง ตรวจสอบคุณภาพแต่ละจังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องกำกับเรื่องสถานที่และกระบวนการรวมถึงมาตรฐานการลงทะเบียนข้อมูลการติดตามหลังฉีดวัคซีนนั้น เป็นการจัดสรรเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่วัคซีนระยะที่สองจะมา

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า เมื่อเข้าสู่ระยะที่มีวัคซีนมากขึ้นคือในปัจจุบัน วัคซีนจะมีปริมาณที่เพียงพอและมีการระดมฉีดวัคซีนโดยนโยบายคือ 70 เปอร์เซ็นต์ ในประเทศ หรือประมาณ 50 ล้านคน โดยไม่นับเด็กและผู้หญิงมีครรภ์ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มีการจัดหาวัคซีนเตรียมรองรับคนจำนวน 50 ล้านคน คือ 100 ล้านโดส เป็นอย่างน้อย โดยจะฉีดเข็มที่หนึ่งให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน เข็มที่สองจะต้องฉีดทั้งหมดให้ครบถ้วนเดือนธันวาคม 2564 เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่เป็นการปกป้องประเทศไทยและคนไทยแต่อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับความสมัครใจ

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ตามแผนระยะที่สองนี้เมื่อวัคซีนมาจะต้องมีการจัดสรรตามพื้นที่โดยกรมควบคุมโรคจัดสรร 1. จัดสรรตามนโยบาย 70 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรแต่ละจังหวัด แต่ก็มีหลายจังหวัดที่รายงานและเสนอความเห็นว่าถ้าเป็นพื้นที่ระบาดหนักขอโควต้าจากจังหวัดที่มีการระบาดเล็กน้อยระดมมาช่วยเพิ่มขึ้นก่อนได้หรือไม่ เช่น ชลบุรี นนทบุรี เพชรบุรี ซึ่งฟังดูมีเหตุผลและน่าเห็นใจ แต่ขณะเดียวกันจังหวัดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อน้อย เช่น สระแก้ว มหาสารคาม ก็ได้เสนอความเห็นเช่นกันว่าการที่มีรายงานติดเชื้อน้อยเพราะทำงานหนักเข้มข้นในมาตรการ อสม. ลงพื้นที่อย่างหนักทำให้การควบคุมมาตรการเป็นไปได้อย่างดีทำให้เขาก็ควรได้รับการจัดสรรวัคซีนตามโควต้าที่ตกลงกัน ซึ่งการมีความเห็นแตกต่างกันเช่นนี้ทาง ศบค. รับฟังทั้งหมด ในทุกข้อเสนอแนะจากทุกพื้นที่ โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ศบค. ได้ประชุมเพื่อปรับเปลี่ยนแผนให้ตรงกับสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ทุกคนจะเห็นว่าการดูแลพื้นที่หรือการจัดสรรตามบุคคลกลุ่มเสี่ยง ศบค. รับฟังทุกข้อเสนอแนะ เช่น ในกรุงเทพมหานครที่พบว่ามีผู้ติดเชื้อเป็นพนักงานขับรถโดยสาร ขสมก. และพนักงานเก็บค่าโดยสารจึงมีความเป็นห่วงว่าควรจะได้รีบรับการฉีดวัคซีนเสียก่อน รวมไปถึงพนักงานเก็บขยะ แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ พนักงานขนส่งอาหาร ผู้ให้บริการร้านอาหาร ซึ่งเมื่อมีการเสนอเข้ามาทางศบค. ก็ได้ให้ความเห็นชอบ หรือแม้แต่ ครู นักบิน ของการบินพลเรือน การท่าเรือ จึงอยากให้เห็นว่าแผนมีการปรับโดยกลุ่มที่เข้าใจในแต่ละพื้นที่แต่ละลักษณะงาน เข้าใจในบุคลากรที่อยู่ในหน่วยงานที่มีความเสี่ยงและได้เสนอเข้ามาซึ่งทาง ศบค. ขอขอบคุณที่ได้เสนอเข้ามา

พญ.อภิสมัย กล่าวถึง การลงทะเบียนหมอพร้อม ในพื้นที่แต่ละจังหวัดหากทางจังหวัดต้องการพัฒนา การลงทะเบียนให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ก็สามารถทำได้ เช่นที่ภูเก็ต นนทบุรี เชียงใหม่ กรุงเทพมหานคร ที่ได้ทำแล้ว ดังนั้นหมอเพราะไม่ได้ยกเลิกแต่เปิดโอกาสเปิดช่องทางให้มีการลงทะเบียน เข้าถึงการฉีดวัคซีนมากขึ้น และเหมาะสมแต่ละพื้นที่ หากจังหวัดใดจะเพิ่มเติมก็ขอให้วิเคราะห์และนำเสนอเข้ามา

พญ.อภิสมัย ฝากสื่อสารไปถึงคนกรุงเทพมหานคร เพราะดูจากกระแสข่าวแล้วพบว่าพี่น้องชาวกรุงเทพมหานครน้ำตาคลอสับสนเรื่องนโยบายวัคซีน หากวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนอย่างไรก็ขออนุญาตนำมาเรียนย้ำในวันถัดๆไป และอยากจะกราบขอโทษ ถ้ามีอะไรที่ทำให้ท่านรู้สึกว่าไม่ชัดเจนไม่เข้าใจทางทีมงานจะทำให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นและอยากเห็นประเทศไทยแข็งแรงคนไทยทุกคนแข็งแรง

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากได้ลงทะเบียนในแอพพลิเคชั่นหมอพร้อมแล้ว จะสามารถลงทะเบียนในจุดอื่น เพื่อให้ได้รับการฉีดวัคซีนเร็วขึ้นได้หรือไม่ พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ถ้าลงแอพพ์หมอพร้อมสำเร็จแล้ว ขอให้ยังคงอยู่กับหมอพร้อม ไม่ต้องเปลี่ยน และยืนยันว่าจะได้ฉีดตามที่ได้มีการนัดหมายลงทะเบียนไว้อย่างแน่นอน หากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆจะไม่มีการปิดบังกับประชาชนแน่นอน แต่มีประชาชนจำนวนหนึ่งบอกว่าลงทะเบียนหมอพร้อม แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันวันฉีดวัคซีน และสถานที่ฉีดอย่างนี้ขอเรียกว่า ลงทะเบียนแต่ยังไม่สำเร็จ ซึ่งในกรณีนี้ถ้าอยู่ใน กทม.และกทม.เปิดให้ลงทะเบียนจองวัคซีนวันที่ 27 พฤษภาคม สามารถลงกับทางกทม.ได้ แต่ท้ายที่สุดไม่ว่าจะลงช่องทางใดไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลใกล้บ้าน โรงพยาบาลที่มีประวัติการรักษาก่อนหน้านี้หรือแจ้งกับทาง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่ ระบบเหล่านี้ไม่ได้ล้มหายไปไหน ทุกช่องทางที่ประชาชนลงทะเบียนระบบจะรวมข้อมูลทั้งหมดไปยังระบบหลังบ้านของหมอพร้อม คือ Moph IC หรือ ระบบบริหารจัดการวัคซีน โควิด-19 สุดท้ายก็จะออกใบรับรองเมื่อสิ้นสุดการฉีดเข็มที่สอง เน้นย้ำการลงทะเบียนของ กทม.มีโควต้าฉีดวัคซีนได้หลายแห่ง ทั้งสถานพยาบาล ภาครัฐ 125 แห่ง ภาคเอกชน 25 แห่ง โควต้ากองทุนประกันสังคมมาตรา 33 จำนวน 15 จุดบริการ ส่วนกลางโดยมหาวิทยาลัย 11 แห่ง ร่วมถึงสถานีกลางบางซื่อ

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า แผนไม่ได้ปรับไปปรับมา แต่ในช่วงแรกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์สถานบริการฉีดวัคซีนมีการระบุชัดเจนเพื่อความปลอดภัยให้ฉีดแค่ภายในโรงพยาบาล มีแพทย์ประจำ มีห้องฉุกเฉิน และมีการกำหนดขั้นตอนการฉีดสังเกตอาการ 30 นาที ต่อมาได้มีข้อมูลรายงานความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนมากขึ้น ทั้งจากบ้านเราและทั่วโลก ตอนนี้มีการทบทวนว่าการฉีดวัคซีนไม่จำเป็นต้องอยู่แต่ในโรงพยาบาล สามารถฉีดในห้างสรรพสินค้า โรงแรม หรือจุดต่างๆ

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ได้เฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย เช่น สยามพารากอน มีโรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นโรงพยาบาลพี่เลี้ยง ที่เปิดให้ทำการฉีดวัคซีนให้กับลูกเรือ เป็นต้น การเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัยของวัคซีนผ่อนคลายลง จึงอนุญาตให้ภาคเอกชน หรือชุมนุมพื้นที่ ที่เสนอขอช่วยนโยบายการกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วทำตามแผน เมื่อมีหน่วยงานองค์กรเหล่านี้เสนอช่วยเข้ามาจึงตอบรับและยินดี  ตรงนี้ประชาชนต้องติดตามรายละเอียดจาก กทม.ด้วยว่าฉีดที่ไหนอย่างไร ซึ่ง กทม.จะจัดสรรตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image