กทม.หัวทิ่ม ชาวบ้านหัวคะมำ ศบค.เบรกผ่อนปรนเปิด ‘5 กิจการ’ ราชวิทยาลัยฯให้ปทุมธานีจอง ‘ซิโนฟาร์ม’ ก่อน

กทม.หัวทิ่ม ชาวบ้านหัวคะมำ ศบค.เบรกผ่อนปรนเปิด ‘5 กิจการ’ ราชวิทยาลัยฯให้ปทุมธานีจอง ‘ซิโนฟาร์ม’ ก่อน

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 15/2564 มี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมประชุม ช่วงเช้าวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้พิจารณาผ่อนปรนมาตรการสำหรับสถานประกอบการ และมีมติผ่อนปรน 5 ประเภทกิจการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน เป็นต้นไป เนื่องจากขณะนี้พบว่าคลัสเตอร์ส่วนใหญ่พบในชุมชน ตลาด แคมป์คนงาน แต่สถานประกอบการบางประเภทไม่พบคลัสเตอร์ ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้ผ่อนปรนเปิดสถานประกอบการบางประเภทเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของภาคธุรกิจ ดังนี้

1.พิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถาน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น รวมถึงพิพิธภัณฑ์ในลักษณะทำนองเดียวกัน ศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แหล่งประวัติศาสตร์โบราณสถาน และหอศิลป์

2.สถานที่สักหรือเจาะผิวหนังหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ร้านทำเล็บ ให้เปิดได้ภายใต้มาตรการที่เข้มงวด เช่น หากพบการติดเชื้อในสถานบริการจำพวกนี้ ให้ปิด 14 วัน

Advertisement

3.สถานที่ให้บริการควบคุมน้ำหนัก คลินิกเสริมความงาม สถานเสริมความงาม และคลินิกเวชกรรมเสริมความงาม

4.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (ร้านสปา ร้านนวดเพื่อสุขภาพ ร้านนวดเพื่อเสริมความงาม) สถานประกอบการนวดแผนไทย (งดเว้น การอบตัว อบสมุนไพร หรืออบไอน้ำ และการนวดบริเวณใบหน้า) นวดฝ่าเท้า

และ 5.สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ และสวนดอกไม้ ห้ามไม่ให้มีการนั่งร่วมกลุ่ม และไม่ให้นำอาหารเข้ามารับประทาน ยกเว้น น้ำดื่ม ส่วนสถานประกอบการประเภทอื่นๆ ให้ปิดต่อไปจนถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2564

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมาช่วงเย็นวันเดียวกัน ศบค.ได้ให้ กทม.ขยายการปิดกิจการและกิจกรรมที่มีความเสี่ยงทั้งหมด ตามประกาศฉบับที่ 29 ออกไปอีก 14 วัน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.64 เป็นต้นไป

ที่ จ.ปทุมธานี พล.อ.ต.นพ.สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า วัคซีนที่จะนำเข้ามาที่ราชวิทยาลัยฯ คือ ซิโนฟาร์ม เป็นวัคซีนที่มีความต้องการสูง ทางบริษัทขึ้นทะเบียนซิโนฟาร์มเรียบร้อยแล้ว นำเข้ามาในราชอาณาจักรไทยได้แล้ว เป็นการจัดสรรวัคซีนทางเลือกให้กับประเทศ จะแบ่งตามลำดับความสำคัญ คิดว่าทุกคนจะต้องได้หมด เพียงแต่ว่าจะมีด้านเอกสารด้านของความมั่นคง

“จ.ปทุมธานี และทางราชวิทยาลัยฯ เคยช่วยฉีดวัคซีนให้บุคลากรทางการศึกษามาแล้วเบื้องต้น และเคยพูดคุยกันไว้ว่าถ้า อบจ.ปทุมธานี มีความพร้อมก็ทำหนังสือมา เพื่อขอสนับสนุนวัคซีนทางเลือกของเรา โดยให้ จ.ปทุมธานีก่อน เพื่อเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่นดูว่าเราจะทำอย่างไร เอกสารเป็นอย่างไร ลงทุนกันอย่างไร ได้วัคซีนอย่างไร และการบริหารวัคซีนเป็นอย่างไร วัคซีนเป็นการใช้แบบฉุกเฉินจึงต้องมีรูปแบบพอสมควร ต้องมีการควบคุมคุณภาพและรายงานคุณภาพหลังจากที่ฉีดแล้ว เกิดปัญหาอะไรต้องรายงานกับ อย. เพื่อให้ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ไม่ใช่มีงบแล้วมาซื้อไปได้ เพราะมีรายละเอียดที่มากมายเบื้องต้นได้คุยกับ นายก อบจ.ปทุมธานีไว้แล้ว เพราะเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมและมีประสบการณ์โดยให้เป็นผู้รวบรวมการสั่งซื้อจากจังหวัดอื่นๆ แล้วเสนอขึ้นมาที่เดียวพร้อมเป็นพี่เลี้ยงในเรื่องเอกสารและการดำเนินการในเรื่องต่างๆ ต่อไป พล.อ.ต.นพ.สันติกล่าว

ด้าน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี กล่าวว่า เรียนทางราชวิทยาลัยฯว่าขอ 5 แสนโดส ต้องเปิดสภาเพื่อขออนุมัติ หน่วยงานหลักคือกระทรวงมหาดไทย ขณะนี้ทางนายก อบจ.ทั้ง 76 จังหวัด ให้ความไว้วางใจผม เลือกให้เป็นตัวแทนของพวกเขา รวมเป็นคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมประชุมเป็นตัวแทนของนายก อบจ.ทั้ง 76 จังหวัด หารือปัญหานี้ไม่ใช่ว่าปทุมธานีจะได้วัคซีนเพียงแห่งเดียว ทุกจังหวัดที่ขอมาต้องได้เหมือนกัน

นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุน ผู้ว่าฯปทุมธานี กล่าวว่า เนื่องจาก พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี และพลอากาศตรี นพ.สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้หารือเบื้องต้นในการทำงานร่วมกัน เพื่อจัดหาวัคซีนฉีดให้พี่น้องประชาชนของ จ.ปทุมธานี เป็นพื้นที่ที่สมควรได้รับวัคซีนอย่างเร่งด่วน ส่วนการใช้จ่ายงบประมาณได้รับความกรุณาจากกระทรวงมหาดไทยในเรื่องของวิธีการต่างๆ จะหารือเป็นหนังสือเพื่อให้ใช้จ่ายเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะในข้อกำหนดที่ได้รับรายงานเบื้องต้นมาว่าการจัดหาวัคซีนนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายล่วงหน้า

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า ระเบียบตรงนี้จำเป็นจะต้องหารือเพื่อให้กระทรวงมหาดไทย ศบค.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้คำแนะนำในการทำงานร่วมกันกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในส่วนของจังหวัดปทุมธานีมีจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร์ประมาณ 1.2 ล้านคน ประชากรแฝงประมาณ 4 ล้านคน รวมถึงพี่น้องประชาชนที่ทำงานด้วยรวมแล้วกว่า 2 ล้านคน จึงต้องจัดหาให้ครอบคลุมทุกท่าน เพียงแต่จำนวนวัคซีนที่ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นำเข้าในเบื้องต้นเพียง 1 ล้านโดส ทางนายก อบจ.ปทุมธานีได้ขอจองไป 5 แสนโดส เรื่องของจำนวนและความเหมาะสมนั้นทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะพิจารณา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image