สธ.ยันวัคซีนโควิดกระจายตามแผน ศบค. เผยปลายสัปดาห์นี้ แอสตร้าฯ มาอีก 1.5 ล้านโดส

REUTERS/Leonhard Foeger/File Photo

สธ.ยันวัคซีนโควิดกระจายตามแผน ศบค. เผยปลายสัปดาห์นี้ แอสตร้าฯ มาอีก 1.5 ล้านโดส

กรณีที่โรงพยาบาล (รพ.) หลายแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครออกประกาศเลื่อนฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 โดยระบุสาเหตุว่าไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหากมีความสงสัย ให้ติดต่อไปสอบถามยังรัฐมนตรีว่าการ สธ. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 13 มิถุนายน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค สธ. ให้สัมภาษณ์ว่า วัคซีนที่ สธ.ได้รับการส่งมอบจากบริษัทผู้ผลิตวัคซีนมานั้น ถูกจัดสรรตามความจำเป็นและเป็นไปตามสถานการณ์ของโรคโควิด-19 เช่น ขณะนี้ที่มีการระบาดในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล พื้นที่เหล่านี้จะได้รับวัคซีนในสัดส่วนที่สูง ส่วนในต่างจังหวัดที่ไม่มีการติดเชื้อประมาณ 20 จังหวัดนั้น ก็อาจจะได้รับวัคซีนในสัดส่วนที่น้อยลง

“นี่คือหลักการโดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม เมื่อวัคซีนลงไปถึงพื้นที่แล้ว จะมีกลุ่มเฉพาะที่จะได้วัคซีนก่อนอีก เช่น เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน จะฉีดให้บุคลากรสาธารณสุข บุคลากรด่านหน้ากลุ่มต่างๆ เมื่อครบแล้วก็ทยอยฉีดให้ประชาชน กลุ่มแรกคือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีโรคเรื้อรัง ต่อมาก็เป็นกลุ่มอายุไม่เกิน 60 ปี แต่มี 7 โรคเรื้อรัง ซึ่งเราหวังว่ากลุ่มเหล่านี้จะเป็นกลุ่มหลักที่ได้รับวัคซีนตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายนเป็นต้นไป” รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว

นพ.โสภณกล่าวว่า วัคซีนที่ส่งไปตั้งแต่ก่อนวันที่ 7 มิถุนายนนั้น เป็นล็อตใหญ่ คือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 ล้านโดส ส่งไปต่างจังหวัดรวมประมาณ 1.1 ล้านโดส ที่เหลือเกือบครึ่งกระจายอยู่ในกรุงเทพฯ และภารกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

Advertisement

“ทั้งนี้ ต่างจังหวัดเองก็ต้องบริการจัดการ จังหวัดที่ไม่ระบาด หรือระบาดน้อย สัดส่วนวัคซีนก็จะได้น้อยกว่าที่ตั้งเป้าไว้ ซึ่งทางจังหวัดเขาก็เข้าใจได้ว่าผู้สูงอายุ กลุ่มผู้มีโรคเรื้อรัง หากติดเชื้อจะเสี่ยงมีอาการรุนแรง เสียชีวิต แต่หากพื้นที่ยังไม่ระบาดอาจจะทยอยฉีดได้ ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น ไม่อาจจะทยอยฉีดได้ เพราะยังมีการระบาดของเชื้อโควิด-19 สูงอยู่ ดังนั้น โดยรวมวัคซีนที่ได้ไปจะแบ่งตามพื้นที่ แบ่งตามกลุ่มเป้าหมาย เมื่อจังหวัดได้รับไปแล้ว คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร จะต้องมีการประชุมร่วมกัน และจัดสรรวัคซีน ดังนั้น ก็ต้องบริหารให้พอ เพราะวันนี้วัคซีนก็ยังจำกัดอยู่ เพียงแต่แต่ละพื้นที่ต้องจัดลำดับความสำคัญ เช่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้รับการจัดสรรวัคซีนสำหรับวันที่ 7-18 มิถุนายน เป็นแอสตร้าฯ 3.5 แสนโดส รับไปแล้ว ซิโนแวค 1.5 แสนโดส รวมเป็น 5 แสนโดส สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้แอสตร้าฯ ทั้งหมดรวม 3 แสนโดส ฉีดเฉพาะผู้ประกันตนในพื้นที่กรุงเทพฯ เท่านั้น” รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว

นพ.โสภณกล่าวว่า ส่วนที่ประชุมอธิการบดี (ทปอ.) ได้รับ 1.5 แสนโดส ซึ่งเป็นวัคซีนของแอสตร้าฯ เป็นหลัก ที่เน้นฉีดบุคลากรในสถานศึกษา เพื่อรองรับการเปิดภาคเรียน ซึ่ง 2 กลุ่มหลังนี้ จะมีคนที่เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังด้วย ซึ่งจะได้รับไปโดยอ้อม

“สิ่งสำคัญคือจะบริหารจัดการอย่างไรถึงจะสามารถฉีดให้กับผู้สูงอายุและกลุ่มโรคเรื้อรังที่นัดไว้ตาม รพ.ได้รับการฉีดด้วย ในช่วงนี้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ แต่ สธ.จะไม่ได้ลงไปดูรายละเอียดระดับ รพ.เพราะย่อยเกินไป รัฐบาล ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) สั่งมา เราเห็นชอบ ก็ส่งไป แล้วทางจังหวัดก็เอาเข้าคณะกรรมการฯ ประชุมกันและส่งวัคซีนลงไปที่หน่วยบริการ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการ สธ.พูดก็ถูกว่าดูให้เป็นไปตามนโยบาย ข้อสั่งการ ส่วนรายละเอียดการปฏิบัติพื้นที่ย่อยๆ เป็นผู้พิจารณาดำเนินการ” นพ.โสภณกล่าว และว่า วันนี้ทุกพื้นที่ควรต้องมีการสื่อสารกันเป็นระยะๆ เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามถึงยอดการฉีดวัคซีนในพื้นที่กรุงเทพฯ เทียบกับจำนวนวัคซีนที่ได้รับนับตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายนเป็นต้นมา นพ.โสภณกล่าวว่า ล่าสุด สปส.ได้ 3 แสน ฉีดแล้ว 2.1 แสนโดส ทปอ.ได้ 1.5 แสนโดส ฉีดไปได้มากแล้ว

“ส่วนสำนักอนามัย กทม. 3.5 แสนโดส คาดว่าจะฉีดหมดแล้ว และยังมีซิโนแวคอีก 1.5 แสนโดส ที่คิดว่าน่าจะปิดเข็ม 2 เป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งหมดราวเกือบ 7 แสนโดส ในรอบ 5-6 วันที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม วัคซีนของแอสตร้าฯ ล็อตต่อไปจะมาในช่วงปลายสัปดาห์นี้อีกประมาณ 1.5 ล้านโดส และคาดว่าจะกระจายได้ประมาณวันเสาร์-อาทิตย์ ส่วนใหญ่จะส่งลงพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนตัวเลขที่ชัดเจนอยู่ที่ กทม. วันนี้ประชาชนมีความต้องการฉีดวัคซีนอย่างล้นหลาม ทำให้ตอนนี้วัคซีนที่อยู่ในมือของแต่ละหน่วยลดน้อยลง แต่เราต้องพยายามบริหารจัดการ เช่น ถ้าสถานพยาบาลใดที่ยังมีวัคซีนอยู่ในตู้เย็นรอฉีดเข็ม 2 ก็น่าจะพิจารณาให้กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้ฉีดก่อน ในช่วงจันทร์-พุธ ที่จะถึงนี้ หรืออย่าง สปส. ก็มีโควต้า รพ.ก็ให้เลือกผู้ประกันตนที่มีโรคเรื้อรังให้ได้ฉีดก่อน ก็จะช่วยให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงจริงๆ” รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image