สลด! ‘พิษสุนัขบ้า’ ตายพุ่ง ลุกลาม 7 จว. ย้ำไม่พบเชื้อกลายพันธ์ุ

ตามที่มีข่าวว่าโรคพิษสุนัขบ้ากลับมาระบาดอีก โดยพบเคสผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 1 ราย จากการถูกสุนัขจรจัดกัด และไม่ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรค ขณะเดียวกันยังพบเคสที่จ.ปทุมธานี มีข่าวว่าถูกกัดเพียง 1 วัน และเสียชีวิตจากพิษสุนัขบ้า จนมีกระแสลือว่า เป็นสายพันธุ์ใหม่ แต่ในทางกลับกันก็บอกว่า เป็นไข้สมองอักเสบเจอีนั้น

เมื่อวันที่ 8 กันยายน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า กรณีข่าวพบผู้เสียชีวิต และคาดว่าอาจมาจากโรคพิษสุนัขบ้าสายพันธุ์ใหม่นั้น ขอย้ำว่า ไม่เป็นความจริง เนื่องจากประเทศไทยยังไม่พบเชื้อพิษสุนัขบ้าสายพันธุ์ใหม่ หรือเกิดการกลายพันธุ์ใดๆทั้งสิ้น ปัจจุบันยังมีอยู่เพียง 2 กลุ่ม คือ เชื้อพิษสุนัขบ้าที่ทำให้เกิดการกลัวน้ำ คอหอยเกร็ง และกลุ่มอาการที่มีผลต่อไขสันหลังอักเสบ แขนขาอ่อนแรง นอกนั้นไม่มี โดยกรณีเคสจ.ปทุมธานี ได้ส่งทีมสอบสวนโรคลงไปติดตามตรวจสอบแล้วว่า เป็นเพราะสาเหตุใด

image

นพ.โอภาส กล่าวว่า ทั้งนี้ โรคพิษสุนัขบ้า เป็นหนึ่งในโรคตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยมุ่งกำจัดโรคนี้ออกจากประเทศไทยให้ได้ ซึ่งที่ผ่านมามีพ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ของกรมปศุสัตว์ ระบุให้ผู้เลี้ยงต้องนำสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งก็ทำให้มีคนนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนสูงขึ้นถึงร้อยละ 70 แต่จริงๆต้องให้ได้มากกว่านี้ถึงร้อยละ 80-90 ส่วนกรณีสุนัขจรจัดนั้น ที่ผ่านมาเทศบาลท้องถิ่นต่างๆ กรมปศุสัตว์ ร่วมกันในการจัดการสุนัขจรจัด โดยการทำหมัน ขณะเดียวกันในเรื่องการฉีดวัคซีน ท้องถิ่นก็มีการดำเนินการควบคู่ด้วย แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ประชาชนผู้เลี้ยงต่างๆ ก็ต้องตระหนัก มีความรับผิดชอบต่อการเลี้ยงสัตว์ด้วย เพราะหลายครั้งก็พบว่า มีการทิ้งขว้าง ปล่อยให้เป็นปัญหาต่อสังคม

Advertisement

“ผู้เลี้ยงบางคน ตอนแรกๆก็อยากเลี้ยงลูกหมา ลูกแมว แต่พอเลี้ยงไป ไม่อยากเลี้ยงก็ทิ้งขว้าง เอาไปปล่อยตามวัด ตามข้างถนน นอกจากทำร้ายสัตว์ ยังส่งผลให้สัตว์เหล่านี้ อย่างสุนัขมีโอกาสติดเชื้อพิษสุนัขบ้า หลายคนเห็นก็เลี้ยงให้ข้าวให้น้ำ แต่ไม่ได้ใส่ใจว่าต้องพาไปฉีดวัคซีน ก็ปล่อยให้มีการผสมพันธุ์กันอีก สุนัขจรจัดก็เพิ่มมากขึ้น โอกาสเกิดการติดเชื้อพิษสุนัขบ้าก็สูงตาม ดังนั้น ปัญหาของโรคพิษสุนัขบ้า ต้องดูภาพรวม ต้องร่วมกันทั้งหมด ไม่ใช่แค่หน่วยงานภาครัฐเท่านั้น” นพ.โอภาส กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัจจุบันผู้ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าจนเสียชีวิตมีกี่ราย นพ.โอภาส กล่าวว่า ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -7 สิงหาคม 2559 พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า 7 ราย แต่ยังไม่ได้รวมเคสล่าสุดที่รพ.จุฬาลงกรณ์ กรุงเทพฯ เนื่องจากเพิ่งเกิดขึ้น โดยในจำนวน 7 ราย พบจากจ.ฉะเชิงเทรา 2 ราย และจ.ตาก ระยอง สมุทรปราการ สงขลา ศรีสะเกษ จังหวัดละ 1 ราย ส่วนปี 2558 พบผู้เสียชีวิต 5 ราย และปี 2557 พบ 6 ราย อย่างไรก็ตาม หากพบผู้ป่วยต้องแจ้งให้สธ.ทราบ ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558

“โรคพิษสุนัขบ้า ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย ส่วนใหญ่เกิดจากสุนัขเลี้ยงเอง หรือสุนัขเพื่อนบ้านที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรค รวมไปถึงสุนัขและแมวจรจัดกัดหรือข่วน ขณะนี้ไทยมีสุนัขทั้งสิ้น 7.4 ล้านตัว ส่วนสุนัขที่มีเจ้าของอัตราการฉีดวัคซีนร้อยละ 70 สิ่งสำคัญแนวทางป้องกัน คือ ยึดหลัก 5 ย. ได้แก่ ” อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก พวกสุนัขที่กำลังกัดกัน อย่าหยิบ พวกชามสุนัข ตอนกินข้าว และอย่ายุ่ง พวกสุนัขที่อยู่นอกบ้าน หรือไม่ทราบประวัติ” และหากถูกกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ และรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรค รวมทั้งกักขังสัตว์สังเกตอาการอย่างน้อย 10 วัน หากพบสัตว์ตาย ให้รับแจ้งกรมปศุสัตว์หรือสถานเสาวภาเพื่อส่งตรวจหาเชื้อต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image