ทส.รุกตรวจ-แนะนำสถานประกอบการทำน้ำจืดจากน้ำทะเล ปกป้องสิ่งแวดล้อม

ทส.รุกตรวจ-แนะนำสถานประกอบการทำน้ำจืดจากน้ำทะเล ปกป้องสิ่งแวดล้อม

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ตามที่ รัฐบาลเร่งรัดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อให้มีพื้นที่เก็บน้ำฝนให้มากที่สุดรองรับความต้องการภาคประชาชน เศรษฐกิจ เกษตร อุตสาหกรรม รวมถึงให้ภาคเอกชนใช้น้ำแบบ 3R เร่งดำเนินการเพิ่มน้ำต้นทุนโดยจัดทำระบบเปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืด นั้น นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีทส. ได้สั่งการให้ คพ.ติดตามตรวจสอบและให้แนะนำสถานประกอบการเกี่ยวกับการทำน้ำจืดจากน้ำทะเล เพื่อไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล ทั้งคุณภาพน้ำทะเล สัตว์ทะเล และระบบนิเวศ และอาจกระทบถึงการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่

 

นายอรรถพล กล่าวว่า ทส.ได้จัดทำประกาศกระทรวง เรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากสถานประกอบการเกี่ยวกับการทำน้ำจืดจากน้ำทะเล เพื่อให้เหมาะสมกับวัตถุดิบ กระบวนการผลิต มลพิษที่เกิดขึ้น และเทคโนโลยี การบำบัดน้ำเสีย ควบคุมให้การทำน้ำจืดจากน้ำทะเลไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำ ลดความขัดแย้งการใช้ทรัพยากรน้ำระหว่างภาคอุตสาหกรรม การเกษตรกรรม และชุมชน ซึ่งได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2560 มีผลบังคับใช้ไปแล้ว นั้น จากนโยบายของรัฐบาล คพ.จะเร่งติดตามตรวจสอบและให้คำแนะนำกับสถานประกอบการในทุกพื้นที่ เพื่อให้ปฏิบัติถูกต้องและเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย

Advertisement

สำหรับมาตรฐานตามประกาศกระทรวงที่กำหนดไว้คือ สถานประกอบการที่จัดหาน้ำ เพื่อทำน้ำให้บริสุทธิ์หรือจำหน่ายน้ำไปยังอาคารหรือโรงงานอุตสาหกรรม เฉพาะที่ใช้น้ำทะเลเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตและระบายน้ำทิ้งลงสู่ทะเล กำหนดความเร็วของน้ำในบริเวณที่สูบเพื่อผลิตจะต้องไม่เกิน 0.1 เมตรต่อวินาที ปริมาตรในการสูบน้ำต้องไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะทางกายภาพของบริเวณชายฝั่ง และกำหนดให้ตำแหน่งที่สูบน้ำจะต้องมีอุปกรณ์ป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่กว่า 9.5 มิลลิเมตร เข้าสู่ระบบ และกำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากสถานประกอบการเกี่ยวกับการทำน้ำจืดจากน้ำทะเล โดยจะมีวิธีการเจือจางน้ำทิ้ง

การจัดการน้ำทิ้งจากสถานประกอบการเกี่ยวกับการทำน้ำจืดจากน้ำทะเลให้ใช้วิธีการ อย่างหนึ่งอย่างใด ในกรณีการระบายน้ำทิ้งด้วยท่อลอดลงสู่ทะเล กำหนดให้มีพื้นที่ผสมน้ำ รอบจุดระบายน้ำทิ้งเป็นรัศมี 100 เมตร ในทุกทิศทาง ไม่เป็นจุดอับน้ำและไม่มีสิ่งกีดขวางการระบายน้ำ และไม่ให้นำกากตะกอนหรือน้ำล้างย้อนมาระบายร่วมด้วย เพื่อใช้เป็นพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำของแหล่งรองรับ โดยพื้นที่ผสมน้ำจะต้องมีคุณภาพน้ำโดยเฉลี่ย ค่าความเค็มบริเวณภายในของเขตของพื้นที่ผสมน้ำ จะต้องเปลี่ยนแปลงไม่เกินร้อยละ 5 ในหน่วยจากสภาพธรรมชาติ ค่าความเป็นกรดและด่าง เปลี่ยนแปลงไม่เกินร้อย 0.5 หน่วยจากสภาพธรรมชาติ และไม่ก่อให้เกิดสิ่งที่พึงรังเกียจ เช่น สิ่งแขวนลอย ฟองโฟม ความขุ่น สีคราบน้ำมัน เป็นต้น คุณภาพน้ำบริเวณขอบของพื้นที่ผสมน้ำจะต้องเป็นไปตามสภาพธรรมชาติ หรือเป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลที่กำหนดในบริเวณนั้น นายอรรถพล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image