หมอห่วงโควิดพันธุ์อินเดียลามแล้วหลาย จว. ขอพื้นที่คุมเข้มโรค

หมอห่วงโควิดพันธุ์อินเดียลามแล้วหลาย จว. ขอพื้นที่คุมเข้มโรค แนะ รง.ตรวจเชื้อด้วยอุปกรณ์มาตรฐาน

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทยว่า ขณะนี้พบว่าเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์อังกฤษ รองมาเป็น สายพันธุ์อินเดีย ซึ่งพบในแคมป์คนงานเพิ่มขึ้นทั้งแถว จ.นนทบุรี ส่วน สายพันธุ์แอฟริกาใต้ พบในภาคใต้ ซึ่งจำนวนหนึ่งพบนอก อ.ตากใบ จ.นราธิวาส โดยเป็นจังหวัดในภาคใต้ที่อยู่ใกล้เคียงกัน ส่วนตัวเลขต่างๆ อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ไม่ได้ปกปิดข้อมูลใดๆ

“สายพันธุ์แอฟริกาใต้นั้น ดื้อต่อวัคซีนพอสมควร แต่ความสามารถในการแพร่โรคไม่เร็วเท่าสายพันธุ์อังกฤษและสายพันธุ์อินเดีย” นพ.ศุภกิจกล่าว และว่า ดังนั้น ที่กังวลตอนนี้คือ สายพันธุ์อินเดียที่พบว่ามีการติดเชื้อในหลายจังหวัดแล้ว ซึ่งตามหลักการได้แจ้งพื้นที่ให้ควบคุมแล้ว หากคุมได้ ก็จะหยุดเร็วใน 14 วัน ไม่แพร่เชื้อในวง 2 วง 3 แต่อย่างที่ทราบว่า ปัจจัยที่จะควบคุมได้หรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นกับเราคนเดียว ต้องเคร่งครัดมาตรการต่างๆ จึงรายงานต่อฝ่ายความมั่นคงให้เข้มงวดแล้ว กิจกรรมใดหากให้งดทำ แต่ยังทำอยู่ ก็เป็นเรื่องยาก ที่จะลดการแพร่โรค รวมทั้งการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมาย อย่างเชื้อแอฟริกาใต้นั้น มีความชัดเจนว่ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีโรงงานหลายแห่งไปติดต่อกับห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ตรวจโควิด-19 เอกชน ซึ่งอาจจะไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ต้องมีการตรวจหาเชื้อใหม่ นพ.ศุภกิจกล่าวว่า มีโรงงานหลายแห่งอยากตรวจเชิงรุก ก็ขอให้ติดต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนั้นๆ ไม่อยากให้ทำโดยพลการ

“เพราะมีตัวอย่างหลายโรงงานไม่เข้าใจว่าวิธีตรวจนั้น ตรวจด้วยอะไร แปลผลอย่างไร เช่น นำแรบพิดแอนติเจนไปตรวจ แล้วสรุปว่ามีคนติดจำนวนเท่านั้น เท่านี้ ซึ่งเป็นการตรวจเบื้องต้นเพื่อสุ่มเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว ต้องมีการตรวจด้วยวิธีการที่เป็นมาตฐานคือ การแยงจมูกตรวจด้วย RT-PCR หรือการตรวจน้ำลาย เพราะฉะนั้น เราเป็นห่วงเรื่องการตรวจหาเชื้อนั้น ขอให้มีการปรึกษากัน เพราะสุดท้าย พอตรวจเจอก็ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร แบบนี้ยิ่งทำให้เรื่องยุ่งไปอีก เพราะไม่ได้จบแค่การตรวจเท่านั้น ปัญหาหนึ่งเวลาเจอคลัสเตอร์โรงงาน หรือแคมป์ เมื่อเกิดขึ้นมีการจัดการไม่เป็นระบบ ทำให้แรงงานจำนวนหนึ่งหนีออกนอกพื้นที่ ซีลไม่จริง เดินทางกลับบ้านภูมิลำเนา ทำให้เกิดการกระจายโรคไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้เยอะ นี่คือข้อสังเกตที่พบของการแพร่ระบาดในปัจจุบัน” นพ.ศุภกิจกล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ความรู้เปลี่ยนทุกวัน อย่างเช่น วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ช่วงหนึ่งบอกว่าฉีดเข็ม 2 ในระยะ 16 สัปดาห์ จะดีกว่า แต่พอช่วงนี้ก็บอกว่าให้ฉีดเร็วขึ้น จึงต้องยืดหยุ่น ใช้ความรู้หลายทางไม่ใช่อันใดอันหนึ่ง ส่วน วัคซีนซิโนแวค เป็นวัคซีนที่ได้มาตรฐาน ทั้งขององค์การอนามัยโลก และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประเทศไทยขึ้นทะเบียนรับรองก็เป็นวัคซีนที่ใช้ได้ ส่วนประสิทธิภาพก็มี 3 อย่าง ในเรื่องการป้องกัน คือ ป้องกันการติดเชื้อ ป้องกันอาการรุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิต ก็ต้องฟังข้อมูลจากหลายๆ ด้านประกอบกัน แล้วให้คณะกรรมการพิจารณา คงไม่ปรับแบบรายวัน

เมื่อถามว่า จำเป็นต้องมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 หรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ต้องรอข้อมูลทางวิชาการก่อน ตอนนี้เร็วไปที่จะพูด แต่ในทางวิชาการก็เป็นไปได้ ทั้งจำเป็นและไม่จำเป็น ซึ่งไม่ได้ฟังข้อมูลวิชาการอันใดอันหนึ่ง ไม่ได้ฟังความเห็นคนใดคนหนึ่ง เพราะมีคณะกรรมการที่พิจารณาอย่างรอบด้านเพื่อมาตัดสินใจประกอบกัน การเปลี่ยนอะไร ต้องเป็นการเปลี่ยนที่เกิดประโยชน์ สายพันธุ์ก็เปลี่ยนเรื่อยๆ พอไม่สั่งวัคซีนแล้ว พออีกสายพันธุ์หนึ่งมาแล้ว ได้ผลดี ก็ไม่ทัน ที่สำคัญคือ ต้องหาวัคซีนเก็บไว้ในมือ พร้อมรองรับสถานการณ์มากกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image