หมอยงชี้ถ้ายังมีผู้ป่วยโควิดหลักพันคน เปิดปท.ใน 120 วัน ก็ไม่มีใครมา แนะเร่งฉีดวัคซีนคุมโรค

หมอยงชี้ถ้ายังมีผู้ป่วยโควิดหลักพันคน เปิดปท.ใน 120 วัน ก็ไม่มีใครมา แนะเร่งฉีดวัคซีนคุมโรค

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์สถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 และสายพันธุ์ที่มีแนวโน้มระบาดในประเทศไทย ผ่านระบบการประชุมทางไกล ว่า ไวรัสทุกตัวมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์เป็นเรื่องปกติ

“ไวรัสก่อโรคโควิด-19 เดิมเป็นสายพันธุ์อู่ฮั่น พอแพร่มาที่ประเทศไทยยังเป็นสายพันธุ์ฮู่ฮั่น พอแพร่ไปที่ยุโรปเมื่อราวๆ เดือนเมษายน – พฤษภาคม 2563 ก็กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ G ซึ่งแพร่ได้ง่าย แล้วกลบสายพันธุ์ดั้งเดิม หลังจากนั้นประมาณ 5 เดือน หรือประมาณเดือนตุลาคม 2563 ก็เป็นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) และระบาดเต็มที่หลังปีใหม่ รวมถึงทำให้เกิดการระบาดระลอก 3 ในประเทศไทย กว่าร้อยละ 96-98 ของเชื้อที่ระบาดในไทยเป็นสายพันธุ์อัลฟา” ศ.นพ.ยง กล่าว

อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ตามวัฏจักรเชื้อโควิด-19 อยู่ 5 เดือน ขณะนี้ จึงเริ่มพบสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ครั้งแรกในแคมป์คนงานหลักสี่ ซึ่งสายพันธุ์นี้แพร่ง่ายกว่าสายพันธุ์อัลฟาประมาณ 1.4 เท่า ดังนั้นต้องช่วยกันควบคุมสายพันธุ์เดลต้านี้ให้ได้มากที่สุด เพราะตามวัฏจักรจริงๆ พยากรณ์ว่าใน 4-5 เดือนข้างหน้าสายพันธุ์เดลต้าจะระบาดในไทยกลบพันธุ์อัลฟา และตามวัฏจักรอีกเช่นกัน 4-5 เดือน ก็จะมีสายพันธุ์ใหม่ออกมาอีก

Advertisement

“ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์อัลฟา หรือเดลต้า ไม่ได้ทำให้โรครุนแรงขึ้น แต่ประสิทธิภาพของวัคซีนทุกบริษัทในโลกนั้น พัฒนามาจากสายพันธุ์ดั้งเดิมของจีน หรือสายพันธุ์อู่ฮั่น พอมาเจอสายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลง ก็เป็นไปได้ที่วัคซีนจะลดประสิทธิภาพลงทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะมีการพัฒนาวัคซีนในเจเนอเรชั่นที่ 2 ขึ้นมา ส่วนสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) ที่หลบหลีกวัคซีนได้มากกว่า แต่ทั่วโลกไม่กลัวเท่าไร เพราะอำนาจในการแพร่กระจายโรคต่ำกว่าสายพันธุ์อื่นๆ จึงมีโอกาสแพร่ระบาดได้น้อย” ศ.นพ.ยง กล่าว

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า แต่สิ่งสำคัญคือ สายพันธุ์เดลต้า มีการศึกษาในสก๊อตแลนด์ ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ และแอส ตร้าเซนเนก้า ครบ 2 เข็ม พบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนทั้ง 2 ตัวลดลง โดยไฟเซอร์จากเดิมป้องกันได้ ร้อยละ 90 เหลือ ร้อยละ 79 ส่วนแอสตร้าฯ ลดจากเดิม ร้อยละ 80-90 เหลือ ร้อยละ 60 ดังนั้น การป้องกันเชื้อ   เดลต้าต้องใช้ภูมิต้านทานที่สูงพอสมควร ที่เห็นได้ชัดคือ ไม่ว่าจะเป็นไฟเซอร์ หรือแอสตร้าฯ เข็มเดียวภูมิขึ้นร้อยละ 20-30 ดังนั้น ในประเทศไทยจะต้องชะลอการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าให้มากที่สุด

“ถ้าเพิ่มแค่สัปดาห์ละร้อยละ 1-2 ก็คงจะรอได้ระดับหนึ่ง พอถึงตอนนั้นที่มีสายพันธุ์เดลต้ามากขึ้น คิดว่าผลการศึกษาหลายๆ ตัวของเราก็คงจะทำให้รู้ว่าการใช้ภูมิต้านทานที่สูงขึ้น และนำสู่การปรับแผนการฉีดวัคซีน เช่น ฉีดแอสตร้าฯ เข็ม 2 เร็วขึ้นเพื่อให้ภูมิฯ สูง หรือแม้กระทั่งซิโนแวค ที่ฉีด 2 เข็มแล้วภูมิฯ ยังต่ำ ถ้าเรากระตุ้นเข็มที่ 3 เข้าไปก็เชื่อว่าจะทำให้ภูมิต้านทานสูงเป็นน้องๆ ของไฟเซอร์ เพราะหลักการฉีดวัคซีนกระตุ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมจะมีการกระตุ้นภูมิได้สูงถึง 4-10 เท่า เพียงพอต่อการป้องกันสายพันธุ์เดลต้า” หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก กล่าว

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ขณะนี้กำลังศึกษาการให้เข็ม 3 ว่า จะให้ที่ 3 เดือน หรือ 6 เดือน รวมถึงการให้ชนิดเดิม หรือต่างชนิด หรือข้ามไปหาวัคซีนตัวใหม่ คือชนิด mRNA เลย แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือความปลอดภัย

“เราพยายามดิ้นรนให้มีวัคซีนทุกอย่างก็มาใช้ในประเทศไทย ระหว่างการรอเซ็น ไม่ว่าจะเป็นของไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ซึ่งเชื่อว่าจะได้มาในเดือนตุลาคมนี้ สิ่งที่ทำได้ขนาดนี้ไปใต้ทรัพยากรที่จำกัดคือ ชะลอการระบาดของไวรัสเดลต้าให้ได้มากที่สุด และพยายามระดมฉีดวัคซีนที่เรามีอยู่ปัจจุบันให้ได้มากที่สุด เพื่อควบคุมการระบาดให้ได้ โดยเฉพาะการระบาดในโรงงาน แคมป์คนงาน ชุมชน ถึงเวลาที่เราจะต้องยอมรับความจริงเกี่ยวกับวิวัฒนาการของไวรัสที่เราหลีกเลี่ยงไม่พ้น จนกว่าเราจะมีวัคซีนในเจเนอเรชั่นที่ 2 ที่จำเพาะต่อสายพันธุ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะนี้ ทั่วประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาเดียวกัน ก็ต้องมีวินัยและยกการ์ดให้สูง ลดการแพร่ระบาดให้ได้มากที่สุด” ศ.นพ.ยง กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การชะลอการระบาดสายพันธุ์เดลต้าต้องทำอย่างไร เนื่องจากพบว่าขณะนี้คนไทยที่เริ่มมีการฉีดวัคซีนมากแล้วอาจจะการ์ดตก ศ.นพ.ยง กล่าวว่า เราพูดเสมอว่า การฉีดวัคซีนมาก ช่วยลดการอาการรุนแรง การเข้าโรงพยาบาล และการเสียชีวิต แต่ยังไม่มีวัคซีนตัวไหนที่ป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อได้ เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญที่สุดแม้ว่าจะฉีดวัคซีนแล้วก็ยังจะต้องสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ

เมื่อถามถึงนโยบายเปิดประเทศใน 120 วัน สมควรหรือไม่ ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ตอบไม่ได้ขึ้นอยู่กับประชาชนทุกคน

ถ้าเราช่วยกันจริงๆ แล้วสมมติว่า เราช่วยกันควบคุมโรคนี้ให้ได้หลักหน่วยหรือหลักสิบ แล้วไม่มีการเสียชีวิตเกิดขึ้น หรือเสียชีวิตแค่วันละคน 2 คน 3 คน ถึงเวลานั้นก็คิดว่าเป็นไปได้ที่จะเปิดประเทศได้ แต่ถ้ายังมีผู้ป่วยหลักพันคน ถึงเปิดประเทศได้ ก็เชื่อว่าไม่มีใครมา เพราะฉะนั้น สิ่งนี้ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคนที่ช่วยกันควบคุมการระบาดของโรคนี้ให้ได้เร็วที่สุด” ศ.นพ.ยง กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image