กทม.จับมือ ปตท. ฉีดวัคซีนโควิดกลุ่มคลัสเตอร์สำคัญ จ่อเพิ่มฮอสปิเทลรองรับผู้ป่วย

กทม.จับมือ ปตท. ฉีดวัคซีนโควิดกลุ่มคลัสเตอร์สำคัญ จ่อเพิ่มฮอสปิเทลรองรับผู้ป่วย

วันนี้ (22 มิถุนายน 2564) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นำคณะเดินทางไปตรวจเยี่ยมหน่วยบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 เชิงรุก ความร่วมมือระหว่าง กทม. และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่โรงเรียนบางเขน (ไว้สาลีอนุสรณ์) เขตหลักสี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรค โควิด-19 เคลื่อนที่ (Mobile Vaccine Unit) เพื่อแก้ไขปัญหาการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อน หรือ คลัสเตอร์ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมี นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ กทม. นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัด กทม. นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผู้บริหาร กทม. ผู้บริหารสำนักอนามัย สำนักการแพทย์ ผู้บริหาร ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเขตหลักสี่ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

พล.ต.อ.อัศวิน เปิดเผยว่า กทม.ดำเนินงานตามมาตรการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการสอบสวนโรคและค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรักษา รวมทั้งนำมาตรการการให้วัคซีนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity)

“จากสถานการณ์ที่เกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในหลายพื้นที่เขตของกรุงเทพฯ สำนักอนามัยจึงได้กำหนดแผนการจัดหน่วยบริการวัคซีนป้องกันโควิด-19 เชิงรุกเพื่อให้บริการแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในที่ที่มีการแพร่ระบาด เป็นการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ให้ขยายวงกว้าง ที่ผ่านมา สำนักอนามัยได้มีการดำเนินการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในหลายพื้นที่เขต ได้แก่ เขตปทุมวัน เขตดุสิต เขตหลักสี่ เขตบางแค และเขตคลองเตย โดยเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด ได้เข้ามามีส่วนร่วมในภารกิจ ของหน่วยบริการวัคซีนป้องกันโควิด-19 เชิงรุก จำนวน 10 หน่วยบริการ ใน 5 พื้นที่เขตที่มีการระบาด” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

Advertisement

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า หน่วยบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 เชิงรุกนี้ มีภารกิจสำคัญในการมุ่งฉีดวัคซีนแบบกลุ่มก้อนแก่ชุมชนพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระดับสูง และมีลักษณะเป็นคลัสเตอร์ในชุมชนที่มีผู้คนอาศัยหนาแน่น โดยเฉพาะผู้ป่วยในชุมชน ผู้พิการ หรือแรงงานที่อยู่ในแคมป์คนงานต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งแคมป์คนงานในพื้นที่เขตหลักสี่ถือว่า เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ที่ต้องได้รับวัคซีนเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดโดยเร่งด่วน

“หน่วยฉีดวัคซีนในลักษณะนี้จะเคลื่อนย้ายจุดไปทั่วพื้นที่เสี่ยงในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยกำหนดแผนในการสนับสนุนการจัดหน่วยบริการฯ เพื่อฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 5 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 21 – 23 มิถุนายน ณ โรงเรียนบางเขน (ไว้สาลีอนุสรณ์) เขตหลักสี่ ครั้งที่ 2 วันที่ 25 – 26 มิถุนายยน ณ วัดสุนทรธรรมทาน เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ครั้งที่ 3 วันที่ 29 มิถุนายน – วันที่ 13 กรกฎาคม ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง ครั้งที่ 4 วันที่ 14 – 18 กรกฎาคม ณ โกดังสเตเดียม การท่าเรือแห่งประเทศไทย เขตคลองเตย และ ครั้งที่ 5 วันที่ 21 – 22 กรกฎาคม ณ วัดสุนทรธรรมทาน เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ทั้งนี้ ขอบคุณ ปตท.ที่เป็นหน่วยงานเอกชนรายแรกในการเข้ามาช่วยสนับสนุนจุดบริการฉีดวัคซีนเชิงรุกแบบครบวงจร รวมถึงราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ร่วมเป็นหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่เชิงรุกในครั้งนี้” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

Advertisement

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวยว่า สำหรับจำนวนเตียงสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใน ฮอสปิเทล (Hospitel) และโรงพยาบาล (รพ.) สนาม กทม.ปัจจุบันมีจำนวน 2,000 กว่าเตียง ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขณะนี้ผู้ป่วยครองเตียงเกือบเต็มแล้ว เพื่อเป็นการรองรับผู้ป่วยที่อาจมีจำนวนมากขึ้น กทม. ได้เตรียมจัดตั้งฮอสปิเทลเพิ่มเติม เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดต่อกับโรงแรมที่จะเข้ามาเป็นเครือข่ายกับโรงพยาบาลสังกัด กทม.

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.สนับสนุนการเร่งปูพรมกระจายฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด และเข้าถึงทุกคน ทุกพื้นที่ ครอบคลุมทั่วประเทศตามนโยบายของภาครัฐ ทั้งนี้ พร้อมช่วยแบ่งเบาภาระภาครัฐในการจัดตั้งหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ ที่ต้องอาศัยทรัพยากรจำนวนมาก ทั้งด้านบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อีกทั้งได้ระดมพนักงานจิตอาสา ปตท. สนับสนุน กทม.ในการจัดตั้งหน่วยฉีดวัคซีนเชิงรุกในชุมชนพื้นที่เสี่ยง ทั้งในเขตหลักสี่ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตดินแดง และเขตคลองเตย รวมทั้งผนึกความร่วมมือและความเชี่ยวชาญของบริษัทในกลุ่ม ปตท. อาทิ บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด บริษัท บิซิเนส เซอร์วิสเซส อัลไลแอนซ์ จำกัด เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้มีประสิทธิภาพ มุ่งหวังฟื้นลมหายใจเศรษฐกิจของประเทศ ตามเจตนารมณ์ของ “โครงการลมหายใจเดียวกัน” กลุ่ม ปตท.

“ที่ผ่านมา กลุ่ม ปตท. ได้สนับสนุนทุกภาคส่วนในการรับมือภาวะวิกฤตโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มการระบาดในปี 2562 จนถึงปัจจุบัน รวมมูลค่ากว่า 1,100 ล้านบาท” นายอรรถพล กล่าว

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image