ผลวิจัยใหม่ชี้บุหรี่ไฟฟ้าทำหลอดเลือดแดงแข็งตัว 34-58% เสี่ยงโรคหัวใจไม่ต่างแบบธรรมดา

ผลวิจัยใหม่ชี้บุหรี่ไฟฟ้าทำหลอดเลือดแดงแข็งตัว 34-58% เสี่ยงโรคหัวใจไม่ต่างแบบธรรมดา

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี เปิดเผยว่า มีงานวิจัยเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าชิ้นใหม่ โดยคณะวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เปรียบเทียบผลของไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าประเภท Pod (ยี่ห้อ JUUL) ชนิดที่บรรจุน้ำยาพร้อมใช้หมดแล้วทิ้ง ที่กำลังนิยมในกลุ่มวัยรุ่น บุหรี่ไฟฟ้าแบบ Tank (ที่ใช้วิธีเติมน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า) และควันของบุหรี่แบบธรรมดา ต่อการทำงานของเซลล์เยื่อบุหลอดเลือดแดงของหนูทดลอง พบว่า เซลล์เยื่อบุหลอดเลือดแดงของหนูทดลองที่ได้รับไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าทั้ง 2 แบบ และควันจากบุหรี่ธรรมดาถูกทำลายในระดับพอๆ กัน ที่ร้อยละ 34-58 และพบว่าระดับนิโคตินในเลือดของหนูที่ได้รับไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้าแบบ Pod สูงกว่าบุหรี่ประเภทอื่นๆ ประมาณ 5-8 เท่า

“ขณะที่ระดับนิโคตินในเลือดที่สูงมากของหนูที่ได้รับไอระเหยบุหรี่ไฟฟ้าชนิดที่บรรจุน้ำยาพร้อมใช้ ตามหลักวิชาการแล้วจะทำให้เกิดการเสพติดง่ายและเลิกยาก ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะเลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ จึงอยากจะเตือนวัยรุ่นว่าไม่ควรที่จะทดลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะเกิดการเสพติดขึ้น” พญ.เริงฤดีกล่าว และว่า คำกล่าวที่ว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่มีการเผาไหม้ ทำให้มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา และเป็นทางเลือกสำหรับการช่วยเลิกสูบบุหรี่ หรือที่บางคนบอกว่าคนสูบบุหรี่ต้องการสูบนิโคตินแต่ต้องเสียชีวิตด้วยทาร์ ดังนั้นบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีทาร์จึงปลอดภัยกว่า จึงเป็นเพียงคำโฆษณากล่าวอ้างของบริษัทที่ต้องการขายบุหรี่ไฟฟ้าเท่านั้น

พญ.เริงฤดีกล่าวว่า ข้อเท็จจริงคือ แม้บุหรี่ไฟฟ้าจะมีสารพิษบางตัวต่ำกว่าบุหรี่ธรรมดา แต่สารพิษที่พบในบุหรี่ไฟฟ้าหลายตัวเป็นสารก่อมะเร็ง มีสารประเภทโลหะหนัก และอนุภาคขนาดเล็ก ที่สามารถทำลายเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจ ภูมิคุ้มกันของร่างกาย และทำลายระบบหัวใจและหลอดเลือด การที่มีสารพิษน้อยกว่า จึงไม่ได้แปลว่าอันตรายน้อยกว่า หรือปลอดภัยกว่า

Advertisement

“การที่มีเครือข่ายสนับสนุนการใช้บุหรี่ไฟฟ้าและนักการเมืองบางคนออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า โดยมักจะกล่าวว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดานั้น เป็นคำกล่าวที่ไม่สอดคล้องกับหลักฐานที่มีเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ที่พบว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อร่างกายโดยเฉพาะระบบหัวใจและหลอดเลือด และระบบทางเดินหายใจ ไม่แตกต่างจากบุหรี่ธรรมดา” พญ.เริงฤดีกล่าว

ด้าน รศ.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตามที่มีฝ่ายที่สนับสนุนการใช้บุหรี่ ได้ออกข่าวมาอย่างต่อเนื่องว่า การที่รัฐบาลไทยห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า เป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในการที่จะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่อันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้มีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศไทยนั้น ขอชี้แจงว่า “สิทธิของผู้บริโภค” มีขึ้นเพื่อกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบการ โดยมีเป้าหมายคุ้มครองประชาชนผู้บริโภคเป็นหลัก เช่น รับรองการรวมตัวจัดตั้งองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค โดยรัฐให้การสนับสนุนทางงบประมาณ เสรีภาพในการประกอบอาชีพ แม้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการได้รับการรับรองภายใต้ระบบตลาดแข่งขันเสรี แต่รัฐสามารถจำกัดหรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เสรีภาพของผู้ประกอบการได้ หากเป็นไปเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคหรือเพื่อจัดระเบียบการประกอบอาชีพ

Advertisement

“สิทธิของผู้บริโภคและเสรีภาพในการประกอบอาชีพจึง ไม่ใช่สิทธิและเสรีภาพโดยเด็ดขาด ที่ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการจะสามารถ ทำอะไรก็ได้ อย่างไม่มีขอบเขต รัฐยังคงมีหน้าที่วางเงื่อนไขและกำหนดกรอบการใช้สิทธิของผู้บริโภคและเสรีภาพในการประกอบอาชีพเพื่อให้การใช้สิทธิและเสรีภาพของปัจเจกชนสมดุลกับประโยชน์สาธารณะ โดยรัฐต้องไม่เลือกปฏิบัติและมาตรการต้องได้สัดส่วน” รศ.เอื้ออารีย์กล่าว

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า แม้ฝ่ายที่พยายามจะผลักดันให้เลิกห้ามบุหรี่ไฟฟ้าอ้างว่า เพื่อผู้ที่สูบบุหรี่อยู่แล้วจะได้หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า หรือใช้บุหรี่ไฟฟ้าในการเลิกสูบบุหรี่ธรรมดา แต่นโยบายการห้ามนำเข้าหรือจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้านั้น มีขึ้นเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ที่ไม่สูบบุหรี่ เพื่อไม่ให้เข้ามาเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า และปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ

“รวมทั้งยังไม่มีการยืนยันจากองค์การอนามัยโลกว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกบุหรี่ธรรมดาในการใช้ตามปกติ นอกจากนี้ หากผู้ประสงค์จะเลิกบุหรี่ซิกาแรต แม้ไม่สามารถหาบุหรี่ไฟฟ้ามาทดแทนตามที่ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้ากล่าวอ้าง แต่สามารถเข้ารับการรักษาเพื่อเลิกบุหรี่จากมาตรการที่รัฐจัดให้ได้” ศ.นพ.ประกิตกล่าว และว่า
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้การห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกหนึ่งในการควบคุมผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า และประเทศไทยเป็น 1 ใน 40 ประเทศทั่วโลกที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าในขณะนี้ ซึ่งประเทศที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าคำนึงถึงผลกระทบต่อทั้งผู้ที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว และโดยเฉพาะในเด็กและเยาวชนที่ไม่สูบบุหรี่ด้วย ซึ่งเมื่อชั่งน้ำหนักภาพรวมแล้ว ผลเสียของบุหรี่ไฟฟ้ามีมากกว่าผลดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image