หมอธีระวัฒน์ ยกเคสเชียงราย บุคลากรการแพทย์ฉีดวัคซีนแล้ว ติดเชื้อ-แพร่เชื้อ-ปอดอักเสบได้

หมอธีระวัฒน์ ยกเคสเชียงราย บุคลากรการแพทย์ฉีดวัคซีนแล้ว ติดเชื้อ-แพร่เชื้อ-ปอดอักเสบได้

จากกรณีพบบุคลากรทางการแพทย์​ใน จ.เชียงราย ติดเชื้อโควิด-19 ถึง 42 ราย โดยมีทั้งส่วนที่ดูแลใกล้ชิดผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ซึ่งพบว่าคนกลุ่มนี้ได้ฉีดวัคซีนแล้ว ทำให้มีการตั้งคำถามถึงประเด็นการฉีดวัคซีนซิโนแวค ไปก่อนหน้านี้ว่า มีประสิทธิภาพแค่ไหน และควรมีการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงให้บุคลากรทางการแพทย์​

ล่าสุด ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าวว่า “​ฉีดแล้ว 2 เข็ม ติดได้ แพร่ต่อได้ และมีปอดอักเสบได้ ติดเชื้อบุคลากร สาธารณสุข ที่ รพ.เชียงราย 40 ราย ใน 40 ราย มีปอดอักเสบ 7 ราย 25/40 2 เข็ม sinovac 2/25 ปอดอักเสบ ​3/40 1 เข็ม sinovac 1/3 ปอดอักเสบ 2/40. 1 เข็ม astra 4 รายไม่ได้วัคซีน”

นอกจากนี้นายแพทย์ธีระวัฒน์ยังโพสต์ด้วยว่า ข้อมูลจากน้องๆ หมอ “เพจ infectious ง่ายนิดเดียว” มีบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน sinovac ครบ 2 เข็ม และติดเชื้อรายที่ 761-802

ประเด็นก็คือ ถึงแม้อาการไม่หนักหรือไม่มีอาการเลย แต่จะไม่รู้ตัวและแพร่ให้ผู้อื่นโดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องดูแลอยู่ตลอดได้ และหลังจากที่ทราบว่าตนเองติดก็ต้องหยุดดูแลผู้ป่วย หยุดปฏิบัติหน้าที่และในที่สุดระบบสาธารณสุขก็จะหยุดชะงักไป
สรุปสถานการณ์การระบาดโควิด-19 โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ วันที่ 22 มิถุนายน 2564 เนื่องจากโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ได้พบเจ้าหน้าที่เข้ารับการตรวจที่ ARI clinic มีอาการไข้ ปวดศีรษะ พบว่ามีการติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1 ราย จึงได้ทำการสอบสวนหาผู้สัมผัสในหอผู้ป่วย ที่เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติงาน พบว่ามีเจ้าหน้าที่ติดเชื้อโควิด-19 จานวน 14 ราย มีผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างการรักษา หรือมีประวัติเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยดังกล่าวติดเชื้อจำนวน 6 ราย มีญาติที่มาเฝ้าไข้ติดเชื้อจำนวน 9 ราย
จากการค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมพบว่ามีเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลในแผนกอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อดังกล่าวติดเชื้อจำนวน 25 ราย รวมมีเจ้าหน้าที่ติดเชื้อรวมทั้งสิ้น 40 ราย เจ้าหน้าที่ที่ติดเชื้อประกอบด้วย แพทย์ 3 ราย นักศึกษาแพทย์ 4 ราย พยาบาล 19 ราย ผู้ช่วยเหลือคนไข้ 8 ราย พนักงานทำความสะอาด 3 ราย นักเวชกิจฉุกเฉิน 1 ราย นักรังสีการแพทย์ 1 ราย พนักงานเปล 1 ราย เจ้าหน้าที่ทุกรายได้เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยแยกโรค โดยเป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ 21 ราย มีอาการเล็กน้อย 12 ราย มีภาวะปอดอักเสบ 7 ราย ได้รับยา Favipiravir จำนวน 10 ราย
ผลการสอบสวนพบว่า การติดเชื้อในเจ้าหน้าที่ ผู้ป่วยและญาติ สัมพันธ์กับการที่เจ้าหน้าที่ร่วมดูแลผู้ป่วยที่ได้ผ่านการคัดกรองแล้ว แต่ตรวจพบการติดเชื้อโควิด-19 ในภายหลัง
ประวัติการได้รับวัคซีนเจ้าหน้าที่ ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็ม จำนวน 25 ราย รายที่ได้รับล่าสุด วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ได้รับวัคซีน Sinovac 1 เข็ม จำนวน 3 ราย รายที่ได้รับล่าสุด วันที่ 17 มิถุนายน 2564 ได้รับวัคซีน AstraZeneca 1 เข็ม จำนวน 2 ราย รายที่ได้รับล่าสุด วันที่ 11 มิถุนายน 2564 ไม่ได้รับวัคซีน จำนวน 10 ราย เจ้าหน้าที่ที่มีภาวะปอดอักเสบได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็ม จำนวน 2 ราย ได้รับวัคซีน Sinovac 1 เข็ม จำนวน 1 ราย ไม่ได้รับวัคซีนจำนวน 4 ราย รายงานโดย EOC โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ 22 มิถุนายน 2564 เวลา 19.00 น.

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image