ผลวิจัยทีมแพทย์ฮ่องกง ไฟเซอร์เข็มเดียว ระดับ antibody เท่ากับหรือสูงกว่า ซิโนแวก2เข็ม

หมอมานพ เผยผลวิจัย ทีมแพทย์ฮ่องกง เปิดเอกสารสรุปผลวิจัย ชี้ วัคซีน Pfizer กระตุ้นการสร้าง antibody ได้เหนือกว่า Sinovac vaccine

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์​แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัว เผยแพร่ผลวิจัยของทีมแพทย์จากฮ่องกง ที่ได้ข้อสรุปว่า  Pfizer vaccine กระตุ้นการสร้าง antibody ได้เหนือกว่า Sinovac vaccine  โดยระบุว่า

สัปดาห์ก่อนหลายคนได้เห็นข่าวทีมนักวิจัยจาก HKU นำเสนอข้อมูลที่สรุปได้ว่าคนที่ได้รับวัคซีนของ Pfizer x BioNTech มีภูมิคุ้มกันสูงกว่า Sinovac แต่ยังไม่เห็นข้อมูลผลการศึกษาจริง

สองวันก่อนมี early release ลงใน Hong Kong Medical Journal เปรียบเทียบระดับ anti-spike antibody และ surrogate neutralizing antibody ของบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีน Pfizer หรือ Sinovac หลังฉีดเข็มแรก และหลังฉีดครบสองเข็ม กลุ่มละราว 200 คน

Advertisement

ผลการตรวจพบว่าระดับ antibody ที่วัดโดย 3 เทคนิค (Roche, Genscript และ Abbott) ในพลาสม่าของผู้ที่ได้รับวัคซีน Pfizer สูงกว่า Sinovac อย่างชัดเจน โดยระดับ antibody ของผู้ที่ได้รับวัคซีน Pfizer เข็มแรก มีค่าสูงพอ ๆ กัน หรือสูงกว่าผู้ที่ได้ Sinovac ครบสองเข็มนิดหน่อย และผู้ที่ได้รับวัคซีน Pfizer ครบสองเข็ม และตรวจด้วยชุดตรวจ Roche และ Genscript น่าจะมีค่าสูงมากจนชนเพดานของการวัด ทำให้เปรียบเทียบระดับ antibody ของผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ได้ยาก แต่ถ้าดูระดับ antibody ที่วัดด้วยชุดตรวจของ Abbott จะพบว่าระดับ antibody ของผู้ที่ได้รับวัคซีน Pfizer ครบสองเข็ม สูงกว่า Sinovac ราว 11 เท่า

การศึกษาเปรียบเทียบระหว่างวัคซีน Sinovac และ Pfizer หาได้ยาก เพราะมีไม่กี่ประเทศในขณะนี้ที่มีการใช้วัคซีนทั้งสองยี่ห้อพร้อมกันเป็นจำนวนมาก ฮ่องกงเป็นที่ที่น่าจะทำการศึกษานี้ได้ดี เพราะสัดส่วนคนที่ฉีดวัคซีนทั้งสองชนิดพอ ๆ กัน ข้อมูลนี้แม้ไม่ใช่การวัด vaccine effectiveness (VE) ตรง ๆ แต่ก็เป็น surrogate ที่ดี การดู VE คงต้องอาศัยการเก็บข้อมูลผู้ติดเชื้อไปอีกระยะ

สนใจอ่านฉบับเต็มได้ที่นี่  https://www.hkmj.org/earlyrelease/hkmj219605.htm

Advertisement

หลังจากนั้นไม่นาน นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าไปโพสต์ข้อความถาม ระบุว่า

“อธิบายการตรวจ surrogate NA by Genscript ที่ได้ 94.4 กับ 100% อย่างไร แม้ค่าพี 0.0194 แต่มีความสำคัญทางคลินิกไหม/?”

ศ.นพ.มานพ เข้าไปตอบคำถามว่า   “แปลออกมาได้ยากครับอาจารย์ เพราะว่า Genscript ตั้งจุด cut off ให้ผลบวกไว้ต่ำทำให้แปลผลว่าเป็น positive ได้เป็นสัดส่วนที่สูงพอกัน (94.4% vs 100% ตรงนี้ว่ากันง่าย ๆ ก็เป็นแค่ seroconversion rate) แต่ปัญหาของการแปลผลแม้กระทั่ง surrogate NAb คือ จุดตัดนี้แปลว่าวัคซีนเอาอยู่จริงไหมด้วยครับ ใน original paper กำหนดจุดตัดไว้ที่ 30% inhibition แต่เป็นจุดตัดเอาไว้สำหรับ NAb dectection ไม่ได้บอกว่า 30% inhibition จะพอไม่ให้เราติดเชื้อได้ครับ พอเอามาประยุกต์ใช้กับการคาดการณ์ความสามารถของวัคซีนในการป้องกันโรคเลยยากมาก ปัจจุบันจึงดูแค่ว่า ยิ่งสูงยิ่งดีครับ ทั้ง level ที่หน่วยเป็น AU/mL หรือดูที่ % inhibition ครับ https://www.nature.com/articles/s41587-020-0631-z  ประมาณนั้นครับอาจารย์ เหมือนตัดเกรด A อาจจะมีคนที่ได้เกรด A สองคน จากคะแนนดิบ 80% กับ 99% ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image