ผู้นำแรงงานชมแผนเยียวยากรณีปิดแคมป์ก่อสร้าง ชี้แก้ตรงจุดช่วยลูกจ้าง–นายจ้างอยู่ได้

ผู้นำแรงงานชมแผนเยียวยากรณีปิดแคมป์ก่อสร้าง ชี้แก้ตรงจุดช่วยลูกจ้าง–นายจ้างอยู่ได้

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย และคณะ ในโอกาสเข้าพบเพื่อมารับฟังแผนการจัดสรรวัคซีนและขอบคุณรัฐบาลที่ได้ฉีดวัคซีนให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ในโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยมี นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงานเข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย ณ ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน

โดยนายมานิตย์ กล่าวว่า ในวันนี้ผมได้มาเข้าพบท่าน รมว.แรงงาน เพื่อมารับฟังแผนการจัดสรรวัคซีนและขอบคุณรัฐบาลที่ได้ฉีดวัคซีนให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ในโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งเป็นนโยบายที่ดีช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้พี่น้องแรงงานในสถานประกอบการได้ โดยเฉพาะในส่วนภาคธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ ขณะนี้มีออเดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากหลายประเทศได้รับผลกระทบจากโควิด ไม่สามารถส่งออกได้ การฉีดวัคซีนให้แรงงาน จะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ช่วยลดและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อโควิดเป็นวงกว้างไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ในโรงงานอีก รวมทั้งยังมาทวงถามความคืบหน้าข้อเรียกร้องด้านแรงงานอื่นๆ ที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ เพื่อนำไปแจ้งให้สมาชิกของเรารับทราบต่อไป

Advertisement

นายมานิตย์ ยังกล่าวต่อว่า จากกรณีที่รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวอ้างว่ารัฐบาลลักลั่นไปล้วงเงินประกันสังคมมาจ่ายเยียวยาคนงานกรณี ศบค. มีคำสั่งปิดแคมป์คนงานในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ว่าเงินกู้ก็มีอยู่แล้วทำไมไม่นำมาใช้ ในเรื่องนี้ประกันสังคมมีข้อมูลคนที่อยู่ในระบบอยู่แล้ว ทำให้สามารถดำเนินการได้โดยทันที ส่วนสถานประกอบการและลูกจ้างนอกระบบประกันสังคมก็สามารถได้รับการเยียวยาเช่นเดียวกัน เพียงขึ้นทะเบียนในระบบประกันสังคม กรณีมีลูกจ้าง ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้างก็มาขึ้นทะเบียนในแอพพลิเคชั่นถุงเงิน เพื่อได้รับการเยียวยาในเดือนถัดไป ทั้งนี้ รัฐบาลภายใต้การนำของท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ห่วงใยคนไทยทุกคน ทุกนโยบายทั่วถึงไม่ลักลั่น ซึ่งได้เยียวยาสถานประกอบการจ่ายตามจำนวนผู้ประกันตน แต่ไม่เกิน 200 รายรายละ 3,000 บาท และเยียวยาผู้ประกันตนสัญชาติไทย รายละ 2,000 บาท

ด้าน นายมนัส โกศล ผู้นำแรงงาน กล่าวว่า เดิมที พ.ร.บ.ประกันสังคมปี 2533 ไม่มีคำว่า เหตุสุดวิสัยจากการว่างงาน จึงได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับ 4 ปี 2558 เพิ่มมาตรา 79/1 เป็นกฎกระทรวง ซึ่งสืบเนื่องจากการเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตามประกาศในปี 2560 ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปลายปี 2562 ได้จ่ายเงินทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย 62 เปอร์เซ็นต์ และในปี 2563ปรับลดจาก 62 มาเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง ซึ่งก็เป็นไปตามกฎหมายที่ได้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กรณีว่างงาน เมื่อเกิดเหตุสุดวิสัย กองทุนประกันสังคมก็เข้าไปช่วยเหลือเยียวยาอำนาจทางกฎหมายโดยคำนึงถึงเสถียรภาพทางการเงินของกองทุน ส่วนกรณีการลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเหลือ 2.5 เปอร์เซ็นต์ ให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และสหภาพแรงงาน ได้เรียกร้องเพื่อลดค่าครองชีพ ประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน นายจ้างสถานประกอบการเองก็ได้เดินหน้าเกี่ยวกับกระบวนการผลิตได้ ซึ่งในยามสถานการณ์โควิดแบบนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องสามัคคีและพึ่งพากันเพื่อให้ก้าวข้ามโควิดไปด้วยกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image