จะเด็จ-สุภาวดี เตรียมไขก๊อก กรรมการ คสป. สกัด รบ.ฉวยโอกาสออก กม.คุมเอ็นจีโอ

ร่างกฎหมายคุมเอ็นจีโอ (แฟ้มภาพ)

จะเด็จ-สุภาวดี เตรียมไขก๊อก กรรมการ คสป. สกัด รบ.ฉวยโอกาสออก กม.คุมเอ็นจีโอ ที่มองการรวมกลุ่มของ ปชช.เป็นอาชญากร  

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม นายจะเด็จ เชาวน์วิไล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (คสป.) เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่19 กรกฎาคมนี้ จะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการ คสป. ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อชี้แจงความคืบหน้า มติคณะรัฐมนตรีเรื่อง ร่างกฎหมายควบคุมองค์กรภาคประชาชน หรือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ….. ผู้เข้าร่วมประชุมจะมีทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคม

นายจะเด็จ กล่าวอีกว่า ซึ่งร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ถือว่าเป็นการทำลายเสรีภาพการรวมกลุ่มของประชาชนขั้นรุนแรง เพราะต้องจดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งการเข้ามาตรวจสอบการสื่อสารในสื่อออนไลน์ต่างๆ โดยไม่ต้องขออนุญาต นอกจากนี้ยังขาดหลักประกันของประชาชนที่แสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆที่ มีผลต่อการพัฒนาในระดับปัจเจก ระดับชุมชน ที่ต้องการให้เสียงประชาชน ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อการพัฒนาของรัฐ และกฎหมายนี้ยังมีโทษอาญา ที่รุนแรงถ้าไม่ปฏิบัติตาม เท่ากับว่าเห็นการรวมกลุ่มของประชาชนเป็นอาชญากร

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล

“ผมในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ มิอาจรับร่างกฎหมายนี้ได้ และกรรมการชุดนี้มีบทบาทในการส่งเสริม และสนับสนุนการรวมกลุ่มภาคประสังคมชนเป็นหลัก การทำแบบนี้ ถือเป็นการทำลายเสรีภาพการรวมกลุ่มประชาชน ผมจึงขอลาออกและจะยื่นจดหมายลาออกอย่างเป็นทางการจากกรรมการชุดนี้ และไม่ขอร่วมประชุมที่เกิดขึ้นและเห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ฉวยโอกาสใช้คณะกรรมการชุดนี้เป็นเครื่องมือ  เพื่อเอากฎหมายมาเป็นช่องทางควบคุมประชาชนมากกว่าสนับสนุน ซึ่งเป็นการทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทำให้ขาดอำนาจต่อรอง และส่งเสียงต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคม เกิดเป็นช่องว่างทางชนชั้น และการพัฒนามากขึ้นในอนาคต” นายจะเด็จ กล่าว

นางสาวสุภาวดี เพชรรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะ กรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (คสป.) กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มีความจริงใจ ในการสนับสนุนและพัฒนาความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม แต่ในทางกลับกันได้พยายามที่จะผลักร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรมาแบ่งปัน  ต้องการควบคุมสิทธิเสรีภาพการรวมกลุ่มของประชาชน

Advertisement

โดยให้ภาคประชาชนที่ต้องการรวมกลุ่มต้องจดแจ้งกับกรมการปกครอง ถ้าไม่จดแจ้งจะมีโทษทั้งจำ ทั้งปรับ รวมทั้งสามารถเข้าไปในสถานที่ทำงานและเรียกข้อมูลทางอิเล็กโทรนิกส์ต่างๆ ได้ และการดำเนินงานต้องอยู่ภายใต้การกำหนดของ รมต.กระทรวงมหาดไทย ซึ่งในปัจจุบันองค์กรภาคประชาสังคมที่ต้องการจดทะเบียนมีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว และต้องทำรายงานการเงิน รายงานการทำงานให้หน่วยงานรัฐทุกปี

นางสาวสุภาวดี เพชรรัตน์

นางสาวสุภาวดี กล่าวว่า ก่อนที่จะมีร่าง พรบ.ฉบับนี้รัฐบาลไม่ได้เชิญคณะกรรมการชุดนี้มาปรึกษาหารือแต่อย่างใด กรรมการ คสป.ในส่วนผู้แทนขององค์กรภาคประชาสังคม ไม่เคยมีใครรับทราบเรื่องนี้มาก่อน กรรมการที่เป็นผู้แทนจากภาคประชาสังคม ได้ทำหนังสือเพื่อขอให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ แต่ไม่ได้รับการตอบรับ และเดินหน้าเพื่อให้ ร่าง พ.ร.บ.นี้ผ่าน ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาภาคประชาสังคมได้พยายามผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม

โดยมีเจตนารมณ์ชัดเจนว่าภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ที่ไม่ใช่ภาครัฐและภาคเอกชนเท่านั้น ได้พยามผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับบนี้ก่อนมีรัฐประหารปี 2557  และหลังจากนั้นได้เข้าชื่อเสนอร่าง กฎหมายจากประชาชน  โดยเนื้อหาที่สำคัญคือให้มีความเป็นอิสระและมีกองทุนส่งเสริมพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม แต่ดูเหมือนว่าร่างที่ประชาชนเสนอไปหายเงียบ แต่กลับมีร่าง พรบ.ที่ต้องการควบคุมและจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน มาแทนที่

Advertisement

“สิ่งนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลต้องการควบคุมและจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน และไม่ได้ทำตามสิทธิที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และตามหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และอนุสัญญาที่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ไทยได้ไปลงนามไว้

ดังนั้นการประชุมวันที่19 นี้ เป็นการประชุมที่น่ากังวลว่ารัฐจะใช้เป็นข้ออ้างว่าได้ปรึกษา คณะกรรมการ คสป แล้ว เพื่อเดินหน้าผลักดัน ร่าง พรบ.ที่ต้องการควบคุมและจำกัดสิทธิเสรีภาพการรวมกลุ่มของประชาชน และไม่ฟังเสียงของประชาชน โดยวันจันทร์ที่ 19 ก.ค. นี้ เตรียมจะยื่นจดหมายลาออกจากตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมอย่างเป็นทางการ” นางสาวสุภาวดีกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image