สธ.เปิดไทม์ไลน์แอสตร้าฯ แจงขั้นตอนเจรจาต่อรองวัคซีนโควิด-19

สธ.เปิดไทม์ไลน์แอสตร้าฯ แจงขั้นตอนเจรจาต่อรองวัคซีนโควิด-19

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวประเด็นการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19

นพ.โอภาส กล่าวว่า สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การจะอ้างอิงข้อมูล ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง จะต้องระบุว่าเป็นการพูดในช่วงไหนอย่างไร เพราะการเอาข้อมูลเก่ามาพูดในปัจจุบัน อาจจะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมถึงเรื่องของการผลิตวัคซีน 5-6 ปีก็ถือว่าเร็วมากแล้ว เพราะบางชนิดใช้เวลามากกว่า 30-50 ปีก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เช่น วัคซีนไข้เลือดออก หรือวัคซีนโรคเอดส์ แต่วัคซีนโควิด-19 ถือว่ามีการผลิตมาได้อย่างรวดเร็วใช้เวลาไม่ถึง 1 ปีก็สามารถเอามาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ เพราะ การระบาดเป็นไปอย่างกว้างขวาง การจะรอให้วัคซีนเสร็จสมบูรณ์ มีการรับรองคุณภาพ มีการวิจัยที่ครบถ้วนก็เป็นไปได้ยาก

VIDEO CONTENT AVERTISEMENT

โอภาส

นพ.โอภาส กล่าวว่า ประเด็นการจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าของประเทศไทย ภายหลังจากที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ไปเมื่อวันที่ 20 ม.ค.64 ได้จัดส่งวัคซีนมาแล้ว ดังนี้

ADVERTISMENT

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ล็อตแรก จำนวน 117,300 โดส , วันที่ 28 พ.ค. 242,100 โดส , วันที่ 4 มิ.ย. 1,787,100 โดส , วันที่ 16 มิ.ย. 610,000 โดส , วันที่ 18 มิ.ย. 970,000 โดส , วันที่ 23 มิ.ย. 593,300 โดส , วันที่ 25 มิ.ย. 323,600 โดส , วันที่ 30 มิ.ย. 846,000 โดส , วันที่ 3 ก.ค. 590,000 โดส , วันที่ 9 ก.ค. 555,400 โดส , วันที่ 12 ก.ค. 1,053,000 โดส และ วันที่ 16 ก.ค. อีก 505,700 โดส รวมกว่า 8,193,500 โดส

ADVERTISMENT

“จะเห็นว่าการส่ง เมื่อผลิตได้เสร็จรับรองคุณภาพเสร็จ ก็ทยอยส่ง เป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุข เคยกำหนดว่าการจัดส่งวัคซีนจะทยอยส่งให้กับพื้นที่ฉีดทั้งกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่างๆ เป็นรายสัปดาห์” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายแรก เป็นนักท่องเที่ยวจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ในเดือน ม.ค.62 จากนั้น วันที่ 25 มี.ค.63 การระบาดมีมากขึ้น จึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จากนั้น วันที่ 22 เม.ย.63 คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เห็นชอบแผนบลูปริ้นท์(blue print) เพื่อการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ของประชากรไทย วันที่ 24 ส.ค.63 กระทรวงสาธารณสุขลงนามสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัท แอสตร้าฯ ให้ผู้ผลิตในประเทศไทย เพื่อให้เรามีแหล่งผลิตในประเทศ วันที่ 23 ก.ย.63 คณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนเพื่อคนไทย เห็นชอบแผนวัคซีนโควิด-19 เบื้องต้น วันที่ 9 ต.ค.63 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ออกประกาศเรื่องการจัดหาวัคซีนในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน โดยกำหนดให้กรมควบคุมโรค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ดำเนินการหาวัคซีน โดยจองวัคซีนล่วงหน้า

“ประเด็นนี้คือในขณะนั้นยังไม่มีวัคซีนที่ผลิตออกมาได้ หรือผ่านการรับรองตรวจสอบ แต่เป็นสัญญาการจองล่วงหน้า วัคซีนจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ได้ หากไม่สำเร็จก็จะเป็นการวางแผนจัดหาล่วงหน้า แต่เป็นที่น่ายินดีว่าเราสามารถจัดหาวัคซีนที่ผลิตได้สำเร็จ” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า วันที่ 17 พ.ย.63 ครม.เห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า กับบริษัทแอสตร้าฯ 26 ล้านโดส ต่อมา วันที่ 27 พ.ย.63 ที่ ทำเนียบรัฐบาล ลงนามในสัญญา 3 ฝ่ายระหว่าง บริษัทแอสตร้าฯ ประเทศไทย สถาบันวัคซีนแห่งชาติและกรมควบคุมโรค จากนั้น วันที่ 5 ม.ค.64 ครม.เห็นชอบให้สั่งซื้อเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส จนวันที่ 20 ม.ค.64 ทาง อย.ขึ้นทะเบีบนวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าฯ สามารถใช้ได้ในภาวะฉุกเฉิน

วันที่ 23 ก.พ.64 ครม.เห็นชอบแก้ไขสัญญาจองซื้อวัคซีนจากเดิม 26 เป็น 61 ล้านโดส โดยเพิ่มมา 35 ล้านโดส จากนั้น วันที่ 2 มี.ค.64 ครม.เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณซื้อวัคซีน 35 ล้านโดส ระหว่างนั้นกรมควบคุมโรค ได้เจรจาแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมจาก 26 เป็น 61 ล้านโดส โดยการประสานงานกับบริษัทแอสตร้าฯ ประเทศไทย

ต่อมาวันที่ 25 มี.ค.64 ส่งสัญญาที่ลงนามโดยกรมควบคุมโรค ให้บริษัทแอสตร้าฯ ประเทศไทย ซึ่งเป็นภายหลังจากการที่มีการเจรจาประเด็นต่างๆ ครบถ้วนแล้ว โดยวันที่ 4 พ.ค. กรมควบคุมโรคได้รับสัญญาที่ลงนามโดยผู้บริหารบริษัทแอสตร้าฯ ประเทศไทย และบริษัทแอสตร้าฯ ประเทศอังกฤษ(AstraZenaca UK Limited)

“เราดำเนินการเรื่องนี้มาปีกว่าแล้ว ตั้งแต่การระบาดในครั้งแรกๆ เมื่อเดือน เม.ย.63 โดยจะสังเกตได้ว่าตอนที่เราส่งสัญญาไป แล้วบริษัทแอสตร้าฯ จะลงนามในสัญญากลับมาจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ซึ่งที่เราเจรจากันแล้วถือว่าข้อผูกพันนี้จะไม่เป็นทางการ แต่ส่วนที่เป็นทางการจะอยู่วันที่ 4 พ.ค. ที่กรมควบคุมโรค ได้รับสัญญาจากผู้บริหารบริษัทแอสตร้าฯ จะเห็นได้ว่ามีการดำเนินงานต่อเนื่อง ต้องใช้เวลาพอสมควร เรามีการลงนามในสัญญา เราก็แจ้งเขาในข้อตกลงเบื้องต้นอย่างไม่เป็นทางการ และ วันที่ 1 มิ.ย. ทางครม. เห็นชอบให้ดำเนินการจัดหาวัคซีนแอสต้าฯ กรอบ 61 ล้านโดส ตั้งแต่ มิ.ย.-ธ.ค.64” นพ.โอภาส กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีการแลกเปลี่ยนวัคซีนระหว่างประเทศ โดยนำวัคซีนเก่ามาให้ก่อน และคืนด้วยวัคซีนใหม่ อย่างเช่นที่ประเทศอิสราเอลทำร่วมกับเกาหลีใต้ นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับการเจรจากับต่างประเทศเพื่อขอแลกเปลี่ยนวัคซีนมาใช้ในประเทศไทยก่อนนั้น ที่ผ่านมาก็มีการเจรจากับหลายประเทศ เช่น ที่ญี่ปุ่นบริจาควัคซีนแอสตร้าฯ ให้ไทย และปลายเดือนนี้มีอีก 1 ประเทศ ที่ก่อนหน้านี้เรามีการเจรจาเพื่อขอแลกวัคซีนแอสตร้าฯ ที่เขามีเหลือเนื่องจากจองไว้เยอะ และต่อมาเขามีการเปลี่ยนไปใช้วัคซีนชนิดอื่น ไทยจึงเจรจาขอแลกวัคซีนนั้นมาใช้ก่อน ล่าสุดเขาก็จะเปลี่ยนมาเป็นการบริจาคให้เราแทน ดังนั้นขอชี้แจงว่าเรามีการเจรจาอยู่ตลอด แต่กรณีที่ยังอยู่ระหว่างเจรจาไม่สำเร็จก็เลยยังไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ 

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ส่วนวัคซีนชนิดโปรตีน ซับยูนิต เป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจ ทั่วโลกมีอยู่ 3 ประเทศ ที่กำลังพัฒนา คือโนวาแวค สหรัฐอเมริกา บริษัทที่ประเทศจีน และที่ประเทศคิวบา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา ทั้งการจัดซื้อวัคซีนมาใช้ในประเทศ และปกติในการเจรจาตรงนี้จะมีการเจาต่อในเรื่องของการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image