ติดไมโครชิพก่อน ส่งคืนทะเลสำเร็จ เต่าตนุเกยตื้น หลังพักฟื้นอยู่ 3 เดือน(ชมคลิป)

ติดไมโครชิพก่อน ส่งคืนทะเลสำเร็จ เต่าตนุเกยตื้น หลังพักฟื้นอยู่ 3 เดือน

วันที่ 20 กรกฎาคม เฟชบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รายงานว่า ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ได้นำเต่าตนุเกยตื้นแบบมีชีวิต ซึ่งได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติไปปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ โดยเต่าตนุตัวดังกล่าวเกยตื้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 พบบริเวณหาดยาว ต.เกาะศรีบอยา อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ เป็นเต่าตนุ เพศเมีย ช่วงวัยรุ่น ขนาดความยาวของกระดอง 54 ซม. กว้าง 51 ซม. น้ำหนักแรกพบ 16 กก. สภาพอ่อนแรง มีเพรียงและตะไคร่น้ำเกาะอยู่บริเวณกระดองหลังและท้องเล็กน้อย ว่ายน้ำวนด้านซ้าย ไม่ค่อยขยับครีบขาด้านซ้าย

สัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ได้ขนย้ายมาตรวจสุขภาพอย่างละเอียด รักษาและอนุบาลไว้ ณ สถาบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง โดยมีการตรวจร่างกาย เก็บตัวอย่างเลือด ถ่ายภาพรังสี (X-ray) เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ซึ่งพบภาวะการติดเชื้อภายในร่างกาย การอักเสบของกล้ามเนื้อและการสะสมของแก๊สส่วนเกินภายในทางเดินอาหาร เป็นผลให้เต่าตนุอ่อนแรงและไม่สามารถใช้ขาได้ปกติ จึงได้รักษาโดยการให้สารน้ำ ยาปฏิชีวนะ ยาถ่ายพยาธิ วิตามินและป้อนอาหาร เพื่อรักษาภาวะการติดเชื้อ ลดการอักเสบ บำรุงร่างกาย และปรับสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย

ต่อมาในวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 เต่าตนุมีการตอบสนองต่อการรักษา และมีสภาวะร่างกายที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สามารถกินอาหารได้เอง ว่ายน้ำดำน้ำได้ปกติ จึงพิจารณานำไปปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ แต่ไม่สำเร็จ ไม่สามารถว่ายน้ำลงทะเลได้ จึงนำกลับมาพักฟื้นและอนุบาลต่อไป ใช้เวลาในการรักษาและอนุบาลทั้งสิ้น 3 เดือน 19 วัน

จนกระทั่งวันนี้ จึงได้นำปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติได้สำเร็จ บริเวณหาดวิวาห์ ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง สภาพของเต่าตนุที่ปล่อยมีสภาพแข็งแรงและตอบสนองดีขึ้น โดยการวัดขนาดและชั่งน้ำหนักล่าสุด มีความยาวกระดอง 54 ซม. กว้าง 51.5 ซม. น้ำหนัก 18 กก. มีการฝังหมายเลขไมโครชิพเพื่อระบุตัวตนที่บริเวณขาหน้าข้างซ้าย ทั้งนี้ ได้เฝ้าระวังในพื้นที่ป้องกันการกลับมาเกยตื้นซ้ำต่อไป

Advertisement

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image