ย้อนกลไกจัดหาวัคซีน หมอศุภกิจ เผย ทุกฝ่ายทำงานเต็มที่ไร้ทุจริต หมอนคร ขอโทษประชาชนหาวัคซีนได้ไม่เพียงพอ

ย้อนกลไกจัดหาวัคซีน หมอศุภกิจ เผย ทุกฝ่ายทำงานเต็มที่ไร้ทุจริต หมอนคร ขอโทษประชาชนหาวัคซีนได้ไม่เพียงพอ

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงข่าวกลไกการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล การทำงานของกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเราเข้าใจความรู้สึกของประชาชนที่ยังรอคอยวัคซีนอยู่ แต่ข้อมูลบางอย่างที่มีการสื่อสารกัน อาจจะเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน เช่น เราไม่มีระบบกลไกที่ดีในการจัดหาวัคซีน ทำงานแบบไม่มีหลักการ หรืออยากจะนำวัคซีนใดมาก็ไปหยิบมา หรือว่าวัคซีนที่เอามาไม่มีคุณภาพ หรือผู้ที่มีอิทธิพลในสื่อโซเซียล (influencer) สื่อสารออกไปก็ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งหลายเรื่อง ก็ไม่ค่อยเป็นธรรมกับผู้ทำงาน

“เมื่อสิ่งที่เราดำเนินการ ไม่เป็นไปตามสิ่งที่ท่านคาดหมายหรือประสงค์จะให้เป็น ท่านจะโยนข้อหาเรื่องการทุจริต เรื่องการเงินทอน เรื่องอะไรทั้งหลายมา ซึ่งไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง เราขอยืนยันว่าภายใต้การกำกับดูแลของ รมว.สาธารณสุข ขณะนี้ สธ. ทั้งกระทรวงฯ ตรวจสอบได้ เราไม่มีเรื่องของการทุจริตโดยเด็ดขาด” นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า

Advertisement

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ตามที่หลายฝ่ายบอกว่าเมื่อมีการเจรจาวัคซีน ทำไมจึงไม่มีการเปิดเผยข้อมูลผลการเจรจาในทุกนัดให้ประชาชนทราบจะได้โปร่งใส ให้เข้าใจกันทั่วถึง แต่ต้องเรียนว่า ก่อนการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนใดก็ตามจะต้องมีการทำสัญญาไม่เปิดเผยข้อมูล หรือข้อความการเจรจาร่วมกัน ที่มีผลเรื่องของราคา คุณสมบัติ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องถามไถ่ซึ่งกันและกัน ฉะนั้น หากเอาข้อมูลการเจรจาเปิดเผยในทุกนัด ก็จะเกิดผลเสีย และเขาจะเลิกเจรจากับเราได้ ทั้งนี้ ยกตัวอย่างผลร้ายในการเปิดเผยผลการเจรจา เช่น ตอนที่เรามีการระบาด แล้วเราขอให้บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า จัดหาวัคซีนจากแหล่งผลิตอื่นมาให้เราก่อน จากเดิมที่สัญญาจะเริ่มส่งในเดือนมิ.ย. ซึ่งเขาได้ไปตัดล็อตวัคซีนจากทวีปยุโรป เพราะเมื่อมีข่าวออกไป ทางยุโรปก็สั่งห้ามไม่ให้มีการส่งวัคซีนออกมาทันที เราก็ไม่ได้วัคซีนในล็อตนั้นมา

“สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างที่เป็นรูปประธรรมว่าเราต้องรักษาประโยชน์ประเทศชาติให้ได้สูงสุด” นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า กลไกที่กระทรวงฯ ใช้ดำเนินการมี 2 ส่วนคือ 1.กลไกทั่วไปตามกฎหมาย ที่เรามีพระราชบัญญัติ(พรบ.) ความมั่นคงด้านวัคซีน ที่มีคณะกรรมการวัคซีน พรบ.โรคติดต่อ ซึ่งมีกลไกคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ดังนั้น ภายใต้กลไกนี้จะเกี่ยวข้องกับการจัดหาวัคซีนทั้งทางตรงและทางอ้อม มีการพิจารณาในคณะกรรมการที่มีหลายฝ่ายทำงานร่วมกัน  ดั้งนั้น การจัดดำเนินการอะไร ซื้ออะไรเท่าไหร่ จะต้องมีการนำมาชี้แจงพูดคุย เพื่อให้คณะกรรมการฯ เห็นชอบ และกลไกอีกส่วนคือ 2.กลไกทางการบริหารราชการแผ่นดิน โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เมื่อเดือนส.ค.63 โดยมี นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อดีตปลัดสธ. เป็นประธาน ซึ่งมีคณะทำงานภายใต้มติของคณะกรรมการฯ คือ กรมควบคุมโรค และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ

Advertisement

“ขณะนั้นผมเป็นรองปลัดฯ และก็เป็นรองประธานฯ และมีผู้แทนส่วนต่างๆ ที่เป็นคีย์แมนสำคัญ เช่น อย. กรมควบคุมโรค ผอ.สถาบันวัคซีน เลขาสปสช. องค์การเภสัชกรรม และมีคณะทำงาน 2 คณะภายใต้คณะกรรมการชุดดังกล่าวฯ โดยคณะแรกเจรจากับบริษัทแอสตร้าฯ อีกคณะเจรจาโคแว๊กซ์(COVAX) ซึ่งขณะนั้นเราคิดว่าเป็นช่องทางหนึ่งในการที่จะเป็นแหล่งของวัคซีนที่จะสนับสนุนให้กับประเทศไทย และขณะนี้เรายังไม่ได้ทิ้งโคแว๊กซ์ ยังมีการเจรจากันต่อมา” นพ.ศุภกิจ กล่าวและว่า จากนั้นท่านนายกรัฐมนตรีฯ ได้ตั้งคณะกรรมการจัดหาวัคซีนทางเลือก โดยมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธานฯ

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ประชุมกันตั้งแต่เดือน ส.ค.63 มากกว่า 10 ครั้ง โดยมีที่ปรึกษา อาทิ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ , นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร และ นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ต่างนำหลักกทา ข้อมูลมาหารือกันบนผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ยังต้องย้ำว่า วัคซีนโควิด-19 ไม่ใช่ของทั่วไปที่จะหาได้โดยง่าย ตลาดยังเป็นของผู้ขายซึ่งมีสิทธิกำหนดเรื่องราวต่างๆ การผลิตยังไม่เพียงพอ แม้กระทั่งโคแว๊กซ์ ก็ยังจัดหาวัคซีนให้ได้ไม่มากเท่าที่วางแผนไว้ พลาดเป้าไปค่อนข้างเยอะ ฉะนั้น สถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการกลายพันธุ์ จะทำให้แผนที่เราวางไว้ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง และต้องมีการเจรจากับหลายฝ่ายอยู่ตลอดเวลา

“กลไกที่มี มีความเข้มแข็งมากพอที่จะดำเนินการเพื่อให้ได้วัคซีนมาถึงคนไทยได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งผมคิดว่าการฉีดวัคซีนในประเทศเราขณะนี้ก็ไม่ได้น้อยหน้าในหลายประเทศ เราทำงานกันหนักตลอดเวลา ขอให้เชื่อมั่นในทีมที่ทำงาน เราทำงานบนหลักฐานข้อมูลวิชาการ ข้อแนะนำใดๆก็ตาม ที่ท่านมีให้ในทางที่เป็นประโยชน์เราน้อมรับ แต่ข้อแนะนำบางอย่างที่แบบเปิดถ้วยแทง คือ เห็นแล้วว่าเกิดอะไรแล้วมาวิจารณ์ อาจไม่เป็นธรรม จึงต้องนึกถึงวันที่ตัดสินใจล่วงหน้า หลายเรื่องไม่อาจคาดการณ์ได้ในบางเรื่อง ยกตัวอย่าง เช่น การโจมตีวัคซีนซิโนแวค หากเดือน ก.พ. มี.ค.ไม่มีวัคซีนฉีดให้ประชาชนจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งวันนี้พิสูจน์แล้วว่า ซิโนแวค 2 เข็มลดการรุนแรง ไม่เสียชีวิต จึงขอให้ทุกท่านพิจารณาอย่างถ้วนถี่ พวกเราพร้อมทำงานหนักเพื่อให้ได้วัคซีนเข้ามาเท่าที่เป็นไปได้” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ด้าน นพ.โสภณ กล่าวว่า การดำเนินงานในระดับกรมควบคุมโรค จะมีทีมเจรจากับบริษัทวัคซีนในเรื่องของข้อมูลผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของวัคซีน พิจารณาราคา ความเหมาะสมในประเทศไทย อย่างเช่น การขนส่งและจัดเก็บ โดยเมื่อเริ่มมีการใช้ในต่างประเทศแล้วก็จะมีการพิจารณาผลข้างเคียงของวัคซีนด้วย โดยทำงานร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ คณะผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้เรื่องของวัคซีน ทั้งนี้ ในส่วนการลงนามไม่เปิดเผยข้อมูลในเอกสาร เราต้องมีการพิจารณาเอกสารอย่างรอบคอบ โดยส่งไปให้ทางสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบร่วมด้วยก่อนลงนาม

“ส่วนหลักฐานเอกสารการจอง จะมีข้อความที่สะท้อนถึงข้อผูกมัด ที่ต้องดำเนินการร่วมกัน จะต้องมีการตรวจสอบเอกสารก่อนลงนาม และครั้งสุดท้ายคือ สัญญาการสั่งซื้อ เช่นกรณีของวัคซีนบริษัทไฟเซอร์ ที่มีการลงนามไปเมื่อวานนี้(20 ก.ค)” นพ.โสภณ กล่าวและว่า เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยสูงสุด ทั้งเงื่อนไข การส่งมอบวัคซีน ราคาร และการตรวจสอบคุณภาพวัคซีน

นพ.โสภณ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการเจรจาเงื่อนไขของวัคซีน ก็จะไม่ล่าช้ากว่ากำหนดการส่งมอบ เพราะในการเจรจาเราจะรู้แล้วว่าวัคซีนที่มี จะส่งมอบได้เมื่อไหร่ เช่น บริษัทไฟเซอร์ ตั้งแต่เริ่มต้นพูดคุยกันก็ทราบว่ามีคนจองวัคซีนเข้ามาเยอะ ส่วนของประเทศไทยในวันที่เราตัดสินใจสั่งซื้อเป็นกำหนดการส่งมอบวัคซีนในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ซึ่งหากว่าเราอยากได้เร็วขึ้นก็ต้องมีการเจรจา ซึ่งบางครั้งไม่ได้เป็นไปตามที่เราต้องการทั้งหมด แปลว่าทางบริษัทฯ ให้คำตอบว่ามีความพยายามที่จะจัดส่งให้เร็วขึ้น

ด้าน นพ.นคร กล่าวว่า สถาบันวัคซีนฯ ทำหน้าที่เจรจาจะหาวัคซีน โดยการติดต่อผู้ผลิตวัคซีนทั้งที่มีวัคซีนแล้วและที่ยังอยู่ในระหว่างการวิจัย เราได้ดำเนินการตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค.63 เป็นต้นมา และพยายามหาช่องทางจองซื้อวัคซีนล่วงหน้า จนกระทั่ง สธ. ออกประกาศ ตาม พรบ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ มาตรา 18(4) ที่เปิดให้สถาบันวัคซีนฯ ทำการจองวัคซีนล่วงหน้าที่อยู่ในระหว่างการวิจัยได้ จึงเป็นที่มาในการจัดหาวัคซีนแอสตร้าฯ 61 ล้านโดส

“ก่อนการลงนามในส่วนใดจะมีการส่งปรึกษาหารือหน่วยงานด้านกฎหมายของประเทศ ทุกอย่างในการดำเนินงานของภาครัฐจำเป็นต้องมีระบบระเบียบ จำเป็นต้องใช้เวลาในการดำเนินการ เป็นที่มาที่ทำให้เกิดความรับรู้ว่า การจัดหาวัคซีนของเราอาจจะไม่ทันตามจำนวนที่คิดว่าควรจะเป็นได้ ทั้งหมดเป็นเรื่องของข้อจำกัดที่มี ต้องกราบขออภัยพี่น้องประชาชน ที่ทางสถาบันวัคซีนฯ แม้ว่าจะได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วก็ยังจัดหาวัคซีนได้ในจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ที่เราไม่คาดคิด ในการระบาดโควิด-19 และ การกลายพันธุ์ที่เราไม่สามารถคาดหมายได้ล่วงหน้า รวดเร็วกว่าช่วงปีที่แล้ว ต้องขอกราบอภัยอีกครั้ง” นพ.นคร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image