สธ.ชี้แนวโน้มโควิดในกรุงเริ่มชะลอตัว เชื่อแนวโน้มผู้เสียชีวิตสัปดาห์ต่อมาไม่น่าสูงกว่า 100 ย้ำวัคซีนเลี่ยงตายได้

สธ.ชี้แนวโน้มโควิดในกรุงเริ่มชะลอตัว ย้ำ! วัคซีนเลี่ยงเสียชีวิตได้

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค แถลงรายงานสถานการณ์วัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกนับตั้งแต่มีการระบาดเมื่อปีที่แล้วถึงปัจจุบัน เห็นชัดเจนว่าผู้ติดเชื้อรายวันก็เพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด ดูเหมือนกำลังจะสามารถควบคุมได้แต่ก็เพิ่มขึ้นใหม่ โดยกลับมาเกิดการระบาดทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง แม้แต่ประเทศที่ฉีดวัคซีนไปแล้วร้อยละ 50-60 อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อใหม่เฉลี่ยวันละ 5 แสนราย แนวโน้มผู้เสียชีวิตยังอยู่ในระดับคงที่ทั่วโลกที่ประมาณ 8,000-10,000 ราย ปัจจุบันกลายเป็นโรคประจำถิ่นของทั่วโลก

นพ.ทวีทรัพย์กล่าวว่า ที่น่าสนใจคือประเทศต่างๆ ที่เคยควบคุมโรคได้สำเร็จก็เกิดการระบาดโรคใหม่ ซึ่งจำนวนการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น เช่น สหรัฐอเมริกาฉีดวัคซีนได้ร้อยละ 50 ของประชากร การติดเชื้อรายใหม่ก็ทยอยสูงขึ้นในหลายๆ รัฐ โดยเฉพาะรัฐที่มีการฉีดวัคซีนไม่ครอบคลุม รัฐที่ฉีดวัคซีนครอบคลุมแล้วก็เกิดการติดเชื้อในประชากรบางกลุ่มที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ส่วนประเทศอังกฤษ เมื่อประมาณ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขการติดเชื้อน้อยกว่าพันรายต่อวัน ล่าสุดกลับมาติดเชื้อนับ 4 หมื่นราย แต่ที่น่าสนใจคือ ถึงจะติดเชื้อมากแต่อัตราการเสียชีวิตไม่ได้สูง ดังนั้น สะท้อนว่าการติดโควิด-19 ไม่ได้เสียชีวิตทุกราย การเสียชีวิตขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งเราจะต้องหาวิธีการต่อสู้กับโควิด-19 ต่อไป

“สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ในประเทศไทยสัปดาห์นี้ จะพบว่ามีรายงานผู้ติดเชื้อรายวันเป็นหลักหมื่นรายตลอดทั้งสัปดาห์ ล่าสุดวันนี้ติดเชื้อ 14,575 ราย เสียชีวิตรายใหม่ 114 ราย เป็นการระบาดในวงกว้าง แต่ถ้าดูแนวโน้มการติดเชื้อระดับประเทศ จะเห็นได้ว่ารายงานติดเชื้อรายใหม่อยู่ในลักษณะขาขึ้นสูงมากเพิ่มเป็น 2-3 เท่าในทุกสัปดาห์

Advertisement

“แต่หากแยกเป็นรายพื้นที่ พบว่าการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นตอนนี้พบมากที่ต่างจังหวัด ส่วนกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล แนวโน้มติดเชื้อรายใหม่ ไม่ได้เพิ่มสูงเหมือนสัปดาห์ที่ผ่านมา มีแนวโน้มสูงแต่เริ่มชะลอตัว เป็นผลจากมาตรการที่เราพยายามช่วยกันก็จะช่วยชะลอการติดเชื้อต่างๆ ลงมาได้มากขึ้น” นพ.ทวีทรัพย์กล่าว

นพ.ทวีทรัพย์กล่าวอีกว่า สำหรับการเสียชีวิต 114 ราย ครึ่งหนึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ อีกส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจังหวัดรอบๆ ปริมณฑลซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม ทั้งนี้ แนวโน้มจำนวนการเสียชีวิตในประเทศไทยในช่วง 1 เดือนย้อนหลัง มีการเสียชีวิตต่ำกว่า 50 รายต่อวัน แต่ขณะนี้ตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 100 รายต่อวัน เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้น เมื่อสัดส่วนผู้ติดเชื้อมากขึ้น จะมีบางส่วนมีอาการมาก อาการรุนแรง ก็จะทำให้จำนวนการเสียชีวิตในขณะนี้เป็นแนวโน้มขาขึ้นในแต่ละสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ข้อมูลในกรุงเทพฯ การติดเชื้อเริ่มชะลอตัว แนวโน้มผู้เสียชีวิตก็เชื่อว่าสัปดาห์ถัดมาไม่น่าจะสูงไปกว่า 100 ราย

นพ.ทวีทรัพย์กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนที่สามารถจัดหามาได้ สามารถฉีดได้ประมาณวันละ 300,000 โดส มีทั้งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค ปัจจุบันฉีดวัคซีนสะสม 15,388,939 โดส เมื่อจำแนกตามกลุ่มเป้าหมายว่าขณะนี้ เรามีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ 1.ลดป่วยรุนแรง ลดการติดเชื้อ 2.ปกป้องระบบสุขภาพ และ 3.กลับเข้าสู่การใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งที่ผ่านมายุทธศาสตร์การฉีดวัคซีนจะให้บุคลากรสาธารณสุขสามารถดำเนินการควบคุมโรคได้ รักษาพยาบาลได้ วันนี้ฉีดครอบคลุม 100% ของเป้าหมาย

Advertisement

นพ.ทวีทรัพย์กล่าวว่า เป้าหมายที่ 2 ที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อลดเสียชีวิต ในกลุ่มเสี่ยงอายุ 60 ปี ขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค ซึ่งจากข้อมูลมีผู้ป่วย 7 กลุ่มเสี่ยงที่เป็นเป้าหมายจำนวน 5,350,000 ราย ตอนนี้ฉีดวัคซีน เข็ม 1 แล้วจำนวน 1,252,063 ราย คิดเป็น ร้อยละ 23.4 ฉีดครบ 2 เข็ม 232,385 ราย คิดเป็น ร้อยละ 4.3 ส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 12,500,000 ราย ฉีดเข็มที่ 1 แล้ว 2,414,399 ราย คิดเป็น ร้อยละ 19.3 ฉีดครบ 2 เข็มแล้ว 156,999 คิดเป็น ร้อยละ 1.3

“ในสถานะที่เรามีวัคซีนจำกัด การจะฉีดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก็ต้องปกป้องคนที่หากติดเชื้อและมีโอกาสที่อาการจะรุนแรงและเสียชีวิต คือผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค ก็อยากจะสื่อสารให้พี่น้องประชาชนว่าในขณะนี้กระบวนการต่างๆ ในแง่การจัดลำดับความสำคัญของผู้ที่จะได้รับวัคซีน แน่นอนว่า พี่น้องประชาชนที่สมัครใจจะฉีดวัคซีนนั้นจะได้รับการฉีดทั้งหมด แต่กลุ่มที่อยากให้กลุ่มเป้าหมายเพื่อลดการเสียชีวิตได้ฉีดก่อน คือผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งคนกลุ่มนี้หากติดเชื้อจากสถิติบ้านเรา ติด 10 คน เสียชีวิต 1 คน

“แต่หากเป็นคนทั่วไป ที่ไม่มีโรคประจำตัว อายุ 20-59 ปี ติดเชื้อ 1 พันคน มีโอการเสียชีวิต 1 คน จะเห็นว่าโอกาสมากกว่ากัน 100 เท่า จึงขอความร่วมมือให้นำพาผู้สูงอายุ และผู้ป่วยมาฉีดวัคซีน เพื่อเป้าหมายที่ช่วยคุมโควิดระยะถัดไป เราคงสามารถจัดการได้อย่างราบรื่น โควิดไม่ได้น่ากลัวจนเราไม่สามารถควบคุมได้ แต่ยังมีสิ่งที่เราต้องเรียนรู้และดำเนินการต่อ” นพ.ทวีทรัพย์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image