หมอชี้โควิดไทยเห็นหลักหมื่นอีก 6 สัปดาห์ ยันยังไม่ถึงขั้น ‘อู่ฮั่นโมเดล’

หมอชี้โควิดไทยเห็นหลักหมื่นอีก 6 สัปดาห์ ยันยังไม่ถึงขั้นอู่ฮั่น โมเดล วอน ปชช.เวิร์ก ฟรอม โฮม

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ของไทยว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-24 ก.ค.64 ในกลุ่มต่างๆ จะพบว่าในผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ตั้งเป้าหมาย 12.5 ล้านคน ต้องฉีดให้ได้ภายในปีนี้ ปรากฏว่าเราฉีดได้แค่ 2.5 ล้านคน ในเข็มที่ 1 คิดเป็น 20% ส่วนเข็มที่ 2 ฉีดได้ 1.3% หรือ 1.6 แสนคน จึงต้องขอให้ลูกหลานพาท่านไปฉีดวัคซีน รวมถึงกลุ่ม 7 โรคเรื้อรังก็ยังฉีดไม่มากในส่วนเข็มที่ 1 เช่นเดียวกัน

นพ.จักรรัฐกล่าวว่า สรุปคือ สถานการณ์วันนี้ยังติดเชื้อมาก โดยเฉพาะพื้นที่ระบาดหนัก และมีการกระจายของผู้ติดเชื้อไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั้งโครงการกลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนา หรือกลับไปโดยไม่ทราบ ดังนั้น พื้นที่ระบาดเป็นปัจจัยสำคัญมาก เพราะเราไม่ทราบว่าใครติดเชื้อไปบ้างแล้ว เพราะ 80% ไม่มีอาการ หากไม่ได้ตรวจ หรือตรวจแล้ววันนี้เป็นลบ พรุ่งนี้อาจติดก็ได้จากการสัมผัสคนอื่น จึงไม่ทราบอยู่ดี ดังนั้น ต้องเข้มมาตรการในการป้องกันโรคที่ยังต้องทำต่อเนื่อง ทำเสมือนคนรอบข้างติดเชื้อแล้ว เพื่อป้องกันเชื้อมาสู่ตัวเอง รวมทั้งเป็นการป้องกันหากตัวเองมีเชื้อ ดังนั้น คนที่เรารู้จัก หรือไม่รู้จักมีความเสี่ยงหมด ทั้งการออกไปซื้อของ การเดินทาง มีปัจจัยเสี่ยงหมด

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อของไทยหลักหมื่นต่อเนื่อง หากควบคุมไม่ได้จะมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการอู่ฮั่นโมเดลหรือไม่ โดยคาดว่าไทยจะอยู่กับตัวเลขรายวันกว่าหมื่นรายอีกนานเท่าไร นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ขณะนี้มีการประกาศมาตรการตามสถานการณ์ เราพบผู้ป่วยหมื่นรายต่อวัน มาตรการสำคัญคือ งดเดินทางข้ามจังหวัด งดออกจากบ้านหากไม่จำเป็น และทำงานจากบ้านขั้นสูงสุด ซึ่งใกล้เคียงกับอู่ฮั่น โมเดล แล้ว โดยหลักการตอนนี้ คาดว่าคงจะพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในต่างจังหวัด ทั้งในครอบครัว และที่เดินทางจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พื้นที่ระบาดหนักเพื่อกลับไปรักษา

“หากดูสถานการณ์กรุงเทพฯ จะต่างกับปริมณฑลบ้าง เช่น กรุงเทพฯ ตัวเลขเพิ่มไม่เยอะ รวมถึงเราฉีดวัคซีนมากพอสมควร 50% ดังนั้น โดยสรุป กรุงเทพฯจะเริ่มเห็นความคงตัวมากขึ้น และจะเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นใน 4-6 สัปดาห์ข้างหน้า ส่วนต่างจังหวัดจะยังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากต่อในระยะนี้ ฉะนั้น ต้องร่วมมือกันไม่ให้เราไปถึงอู่ฮั่นโมเดลที่ต้องปิดทุกอย่าง เราอยากให้ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตปกติอย่างเร็วที่สุด ต้องร่วมมือกันลดการกระจายเชื้อ ลดการแพร่เชื้อจากครอบครัวหนึ่งไปสู่ครอบครัวหนึ่ง จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนให้มากที่สุด อยู่บ้านให้ได้มากที่สุด เพื่อคนที่เรารัก ลดการเดินทาง และซื้ออาหารอย่างระมัดระวัง สร้างความปลอดภัยให้ตัวเองตลอดเวลา” นพ.จักรรัฐกล่าว

Advertisement

นพ.จักรรัฐกล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ ขอความร่วมมือโรงงาน สถานประกอบการ รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเร่งสื่อสาร โดยหากโรงงานไหนยังไม่พบผู้ติดเชื้อให้เร่งศึกษาการควบคุมโรคแบบบับเบิล แอนด์ ซีล (Bubble and seal) เตรียมความพร้อมทั้งหมด และหากโรงงานที่พบผู้ติดเชื้อแล้ว เราเน้นไม่ปิดโรงงาน และป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ชุมชน โดยต้องแยกกลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง เช่น มีโรคประจำตัว หรือหญิงตั้งครรภ์ หรือกลุ่มมีความเสี่ยงอื่นๆ โดยต้องแยกกลุ่มออกจากกัน จัดหาเตียงสนาม/ห้องแยกกัก เป็นต้น การไม่ปิดโรงงาน เพราะมีประสบการณ์ คือ เมื่อปิดโรงงาน หลังจากนั้นการแพร่ระบาดในชุมชนจะตามมาทันที แต่การไม่ปิดโรงงาน สิ่งสำคัญต้องแยกผู้ติดเชื้อให้ได้ จัดระบบควบคุมกำกับ อย่างการเดินทาง หากไปเช้าเย็นกลับต้องมีระบบมั่นใจว่า จะไม่สัมผัสผู้อื่น ที่สำคัญขอให้พักในโรงงานดีที่สุด และต้องไม่กินข้าวร่วมกันในโรงงาน เพราะตรงนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงมาก

เมื่อถามถึงปัญหาเรื่องเตียง นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา ขีดความสามารถในการแพทย์ของไทยมีค่อนข้างจำเป็น ไม่ได้สูงมากเหมือนประเทศฝั่งยุโรป หรืออเมริกาที่แม้จะมีเตียง บุคลากรค่อนข้างมาก แต่ช่วงการระบาดที่ผ่านมาก็รับมือยากมาก ฉะนั้น การเพิ่มเตียง แต่ไม่สามารถผลิตบุคลากรได้ทันในไม่กี่เดือน เมื่อเพิ่มเตียงก็จะต้องกระจายบุคลากรไปทำงานในที่ต่างๆ เป็นภาวะสำคัญที่ไม่สามารถเพิ่มจำนวนเตียงได้มากอย่างที่หลายท่านอยากให้เกิด

“การบริหารให้ผู้ป่วยอาการน้อย ไม่กลายเป็นอาการหนัก ต้องเข้า รพ.ในกลุ่มสีเหลืองหรือแดง ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อให้เหมาะสมกับขีดความสามารถที่เรามีอยู่ในตอนนี้ ซึ่ง กทม.และปริมณฑล เรามีข้อจำกัดส่วนนี้ เตียงเต็มมากแล้วจริงๆ ส่วนต่างจังหวัดก็ช่วยผ่อนเบากรุงเทพฯได้พอสมควร ตั้งแต่มีการรับผู้ป่วยกลับบ้าน ช่วยได้มาก เพียงแต่การระบาดที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด อาจเป็นภาระของบุคลากรทางการแพทย์ต่างจังหวัดต่อเนื่องหลังจากนี้” นพ.จักรรัฐกล่าว และว่า เราจึงต้องหยุดการแพร่กระจายเชื้อให้มากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องใช้เตียงและใช้เวลารักษานาน

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image