คนกรุงเข้า ‘โฮม ไอโซเลชั่น’ แล้วกว่า 3 หมื่นคน

คนกรุงเข้า ‘โฮม ไอโซเลชั่น’ แล้วกว่า 3 หมื่นคน

ภายหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกประกาศให้ประชาชนสามารถซื้อชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 ชนิด แอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) ได้ที่ร้านขายยาที่มีเภสัชกรให้คำแนะนำ เพื่อตรวจหาเชื้อได้เองที่บ้าน แต่ประชาชนยังกังวลว่าเมื่อตรวจหาเชื้อแล้วรู้ผลว่าติดเชื้อจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งพบว่ามีการระบาดที่รุนแรง และมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากนั้น จะเป็นการทำงานร่วมกันในหลายภาคส่วน โดยมีศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) และผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. เป็นผู้รับผิดชอบในภาพหลัก เพื่อประสานไปยังศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ของสำนักอนามัยฯ ที่มีอยู่กว่า 60 แห่งทั่วกรุงเทพฯ และคลินิกเอกชนต่างๆ เพื่อให้มาดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่มีอาการน้อย หรือไม่มีอาการ ให้สามารถแยกกักตัวเองที่บ้าน (Home isolation : HI) ส่วนสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะเป็นผู้รับเรื่องการลงทะเบียน

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้รับรายงานล่าสุดพบว่า พื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้ป่วยสมัครใจเข้าระบบแยกกักที่บ้าน (HI) แล้วจำนวนทั้งสิ้น 30,036 ราย แบ่งเป็น จากระบบ สปสช. 28,785 ราย และส่วนของกรมการแพทย์อีก 2,436 ราย

Advertisement

“สำหรับผู้ป่วยที่มีการตรวจหาเชื้อแล้วผลเป็นบวก และไม่มีอาการ ขอให้สแกนคิวอาร์โค้ดของ สปสช.เพื่อลงทะเบียนเข้าระบบแยกกักที่บ้าน” นพ.สมศักดิ์กล่าว

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า จากข้อมูลของโรคโควิด-19 พบว่าผู้ป่วยร้อยละ 80 ติดเชื้อแบบไม่มีอาการ และสามารถรักษาได้เองที่บ้าน ซึ่งในการดูแลผู้ป่วยก็จะมีแพทย์โทรสอบถามอาการทุกวัน และทางคลินิกชุมชนอบอุ่นก็จะส่งชุดอุปกรณ์ดูแลตัวเองไปให้ผู้ป่วยที่ลงทะเบียนแยกกักที่บ้าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image