สธ.ยันไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส ถึงแขนบุคลากร หมอ-ด่านหน้าทุกคน กลัวตกหล่น ให้แจ้ง นพ.สสจ.ทุกจังหวัด

สธ.ยันวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส ถึงแขนบุคลากร หมอ-ด่านหน้าทุกคน กลัวตกหล่น ให้แจ้ง นพ.สสจ.ทุกจังหวัด

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธาน คณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กรณีวัคซีนโควิดไฟเซอร์ พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ในฐานะประธานคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค แถลงข่าวกรณีการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ ล็อตบริจาค 1.5 ล้านโดส

นพ.สุระกล่าวว่า ช่วง 2-3 วันมีกระแสสังคมเรื่องการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์สำหรับที่จะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไปค่อนข้างมาก เมื่อช่วงนี้ในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ของ สธ. (EOC) มีมติเห็นชอบในรายละเอียด ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 ก.ค.64 มีข้อกังวลเกี่ยวกับหนังสือการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ที่ สธ.ชี้แจงกับหน่วยฉีดวัคซีน ซึ่งมีสไลด์ที่ทางฝ่ายที่เกี่ยวข้องนำเสนอไป เลยกลายเป็นประเด็นว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นทั้งเจ้าหน้าที่ระดับตำบล เจ้าหน้าที่เชิงรุกในแผนกต่างๆ จะได้รับหรือไม่ จึงขอยืนยันว่า วัคซีนไฟเซอร์รอบนี้ครอบคลุมผู้ปฏิบัติงานที่เป็นแพทย์ทั้งด่านหน้า และผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยโดยตรง รวมถึงผู้ที่มีความเสี่ยงทุกคนได้แน่นอน หากอยู่ใน 2 กลุ่มนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของเรา

นพ.สุระกล่าวว่า การกระจายวัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐอเมริกาบริจาคให้ไทย ประมาณ 1.5 ล้านโดส จัดสรรเป็น 4 ก้อน ได้แก่ 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ดูแลผู้ป่วยทั่วประเทศ รวมถึงผู้ทำงานที่มีความเสี่ยง 7 แสนโดส 2.จังหวัดที่มีการระบาด พื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ณ วันที่จัดสรรคือ 13 จังหวัด รวม 645,000 โดส 3.กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) 150,000 โดส โดยให้ทำบัญชีรายชื่อชาวต่างชาติในประเทศไทย หรือคนไทยที่จำเป็นต้องรับวัคซีนไฟเซอร์ เพื่อเดินทางไปต่างประเทศ ส่งมาให้กับ สธ. เพื่อแจ้งหน่วยบริการฉีดวัคซีนสำหรับกลุ่มนี้ 4.การศึกษาวิจัย 5,000 โดส และ ส่วนสุดท้ายเก็บไว้อีก 3,450 โดส สำหรับกรณีควบคุมการระบาดของสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) ที่อาจใช้วัคซีนอื่นได้ยาก

“สธ.มีความเป็นห่วง และจัดลำดับของการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในระยะนี้ หากมีวัคซีนเพิ่มเติมมาอีกก็จะมีการจัดสรรเพิ่ม ทั้งนี้ กลุ่มอื่นๆ ที่คิดว่าตัวเองจะตกหล่น ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ หน่วยบริการทุกหน่วยสามารถเสนอชื่อผ่านมาทางนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และส่งข้อมูลมาที่กรมควบคุมโรคได้

Advertisement

“ส่วน 13 จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึงกรุงเทพมหานคร ให้ติดต่อสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ซึ่งเข้าใจว่าทาง สสจ.จะกระจายวัคซีนไปตามหน่วยฉีดที่สำคัญของจังหวัด เพื่อให้กลุ่มเสี่ยง กลุ่มเป้าหมายมาฉีด มีการนัดหมายล่วงหน้า แต่หากคิดว่าจะตกหล่น ขอให้ประสาน สสจ. ส่วนของ กทม.ให้ประสานสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร (กทม.)” นพ.สุระกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า วัคซีนไฟเซอร์ที่จะให้บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขที่ทำงานด่านหน้า 7 แสนโดส สำหรับเป็นเข็มกระตุ้น ซึ่งจะมีส่วนต่างๆ ที่เหลือทาง สธ. จะมีการจัดสรรอย่างไร นพ.สุระกล่าวว่า จำนวน 7 แสนโดส เป็นจำนวนที่พอดีกับจำนวนบุคลากร แต่หากมีส่วนขาดเหลืออย่างไร คณะทำงานด้านการบริหารจัดการวัคซีนจะคุยกันต่ออีกครั้ง ว่าจะมีการเกลี่ยอย่างไร ให้กลุ่มใด แต่ต้องดูความจำเป็นและเพื่อลดการติดเชื้อให้มากที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image