รพ.บุษราคัมเปิดไอซียูอีก 17 เตียง เผยสัปดาห์นี้ผู้ป่วยโควิดใช้เครื่องออกซิเจนลดลง

รพ.บุษราคัมเปิดไอซียูอีก 17 เตียง เผยสัปดาห์นี้ผู้ป่วยโควิดใช้เครื่องออกซิเจนลดลง

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) บุษราคัม แถลงสถานการณ์รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ว่า จนถึงขณะนี้ รพ.บุษราคัม ได้เปิดให้บริการมา 82 วัน มีผู้ป่วยสะสม 14 ,213 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 11,000 ราย โดยประมาณ ปัจจุบันยังนอนรักษาอยู่ 3,333 ราย มีผู้ต้องใช้ออกซิเจนประมาณ 450 ราย โดยเป็นใช้ออกซิเจนไฮโฟล์ 169 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 2 ราย เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา มีผู้ป่วยหายกลับบ้าน 287 ราย แต่ก็รับเข้ามาใหม่ 378 ราย

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ข้อสังเกตในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยใช้เครื่องออกซิเจนลดลงปกติใช้ 750 ราย เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ช่วงค่ำเหลือ 450 ราย แต่ยังคงมีผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจไฮโฟล์อยู่ประมาณ 160 ราย ต้องใช้ประมาณ 8-10 รายต่อวัน

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ในทุกๆ วัน จะมีผู้ป่วยในระดับวิกฤติต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ใส่ท่อช่วยหายใจอยู่โดยตลอด การส่งต่อไปยัง รพ.ที่มีศักยภาพสูงกว่าต้องรอคอยนาน เพราะไอซียูใน รพ.ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ก็มีข้อจำกัด ทำให้รพ.บุษราคัม ต้องดูแลผู้ป่วยหนักตลอด ดังนั้นที่ประชุมศูนย์ EOC สธ.จึงอนุมัติให้ตั้งไอซียูที่ รพ.บุษราคัม ซึ่งขณะนี้ตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยจะใช้พื้นที่บริเวณลานจอดรถด้านหลัง มีทั้งหมด 17 เตียง เป็น Co hort ward ICU 13 เตียง อีก 4 เตียงเป็นห้องแยกผู้ป่วยความดันลบโดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำหรับผู้ป่วยหนักที่ต้องดูแลใกล้ชิด ภายในเป็นโครงสร้างกึ่งถาวรมีอุปกรณ์เทียบเท่ามาตรฐานไอซียู ครบ มีทีมแพทย์เฉพาะทางที่พยาบาลไอซียู ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดเข้ามาปฏิบัติหน้าที่

“โดยวันนี้ (4 ส.ค.) จะมีการรับผู้ป่วยอาการหนักภายใน รพ.บุษราคัม มาที่ไอซียูเปิดใหม่ 3-5 ราย เพื่อเป็นดูแลก่อน และประเมินผล หากทุกอย่างเป็นไปด้วยดีก็จะทยอยรับผู้ป่วยอาการหนักเข้ามาเต็มศักยภาพคือ 17 เตียง เราไม่ปฏิเสธ รับทุกคน กรณีมีเกณฑ์ต้องห้ามเข้ารพ.บุษราคัม ก็จะมีการประสานให้ได้รับการดูแลในระบบต่อไป” นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว

Advertisement

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมาได้มีการทำความสะอาด บริเวณพื้นที่บริเวณแรกรับผู้ป่วยโดยเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเองร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารที่มาช่วยทำความสะอาดพื้นที่ซึ่งต้องยอมรับว่าตั้งแต่ให้บริการมายังไม่เคยได้รับการทำความสะอาดเลย จากนี้จะมีการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอบริเวณสถานที่แรกรับ นอกจากนี้ยังมีการจัดพื้นที่แยกส่วนเป็นพื้นที่ผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางและผู้ป่วยที่แข็งแรงกว่าผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางเป็นส่วนส่วนเพื่อเข้ารับบริการเป็นช่องทางด่วน ส่วนห้องน้ำ ห้องส้วมประสานไปยัง รพ.พระนั่งเกล้า ในการจ้างพนักงานทำความสะอาดเพิ่มขึ้น และเพิ่มรอบการทำความสะอาดถี่ขึ้น

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า รวมถึงได้มีการปรับระบบการทำงานเพื่อลดภาระงาน และลดการสัมผัสผู้ติดเชื้อของพยาบาลที่เข้าปฏิบัติงานในหอผู้ป่วย โดยเมื่อผู้ป่วยเข้ามาที่จุดแรกรับถ้าพิจารณาแล้วจำเป็นต้องเจาะเลือดก็ให้เจาะที่จุดแรกรับเลย ไม่ต้องย้ายไปเจาะในหอผู้ป่วยและให้รับยาที่จำเป็นเช่นฟาวิพิราเวียร์ หรือยาอื่นๆ ตั้งแต่จุดแรกรับ ส่วนที่เพิ่มเข้ามาคือการย้ายผู้ป่วยซึ่งเป็นงานหนักสำหนักพยาบาลก็ได้เพิ่มกำลังพลเข้าไปเสริม มีการเพิ่มเตียงลมสำหรับดูแลผู้ป่วยที่ขยับตัวลำบาก เพื่อป้องกันแผลกดทับ และมีการ ปรับปรุงเตียงที่ชำรุดจากการใช้งานมาระยะเวลาหนึ่งด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image